เมื่อการจัดอันดับประเทศน่าทำธุรกิจถูกท้าทาย
อาทิตย์ที่แล้ว นิตยสาร เดอะ อิโคโนมิส(The Economist) ฉบับวันที่ 5 – 11 ก.ย. จัดหนักงานวิจัยจัดอันดับประเทศที่น่าทำธุรกิจ
หรือดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ(Ease of Doing Businese Index) ของธนาคารโลกจากที่มีข่าวว่าการประกาศการจัดอันดับล่าสุดอาจมีการเลื่อน พร้อมให้ข้อสังเกตุหลายอย่างเกี่ยวกับ “ความน่าเชื่อถือ” ของข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดอันดับ รวมถึงปัญหาธรรมาภิบาลของเจ้าหน้าที่ที่จัดทำดัชนีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้ที่สนใจควรรู้ไว้
เรื่องนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคงมีเฉพาะคนส่วนน้อยที่เกี่ยวข้องที่จะทราบ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของธนาคารโลกที่ต้องมาให้ความกระจ่างเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่องค์กรระหว่างประเทศส่วนใหญ่ประสบ คือการพยายามทำหน้าที่สร้างผลงานที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความรู้สึกของประเทศสมาชิกที่ผลการจัดอันดับอาจออกมาไม่ดี เพราะผลที่ออกมาสื่อถึงความสามารถในการทำหน้าที่ของรัฐบาลเจ้าของประเทศโดยตรง ซึ่งในกรณีของดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ เป็นดัชนีที่นักลงทุนให้ความสำคัญและสะท้อนชัดเจนถึงความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ปรัชญาของดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ คือ ธุรกิจจะเติบโตง่ายขึ้น ถ้ากฎเกณฑ์การกำกับดูแล(Regulations) ไม่เป็นข้อจำกัด ทำให้นักธุรกิจมีเสรีภาพในการทำธุรกิจ ซึ่งหมายถึงเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมและเอื้อต่อการทำธุรกิจ ภายใต้แนวคิดนี้ ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจจึงมุ่งไปที่ประสิทธิภาพของกระบวนการกำกับดูแลธุรกิจใน 12 ประเด็น ตั้งแต่การเริ่มต้นจัดตั้งบริษัท เลือกสถานที่ทำการ การเข้าถึงสินเชื่อ ปัญหาในการทำธุรกิจประจำวันที่เกี่ยวกับระเบียบของภาครัฐ และความปลอดภัยในการทำธุรกิจ ประเมินกระบวนการดังกล่าว โดยใช้ตัววัด 12 ตัว ทำใน 190 ประเทศ สรุปเป็นคะแนน และจัดอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจตามคะแนนที่แต่ละประเทศได้จากดีสุดถึงแย่สุด
การเปรียบเทียบและจัดอันดับดังกล่าวทำให้รัฐบาลบางประเทศจะหมกหมุ่นมากกับผลการจัดอันดับ เพราะสื่อให้เห็นถึงข้อจำกัดที่ประเทศมีในการทำธุรกิจ มีบางประเทศใช้องค์ประกอบ 12 ตัวของดัชนีเป็นพิมพ์เขียวในการปฏิรูปกระบวนการทำธุรกิจของประเทศเพื่อให้ได้คะแนนดีขึ้น จนนำไปสู่การลดกฎเกณฑ์ควบคุมธุรกิจที่เกินพอดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจชอบ คือ ถูกควบคุมน้อยและจะทำอะไรก็ง่าย แต่การผ่อนปรนก็สร้างต้นทุนให้กับสังคมเมื่อธุรกิจขาดการควบคุมอย่างเพียงพอ
ข้อสงวนสำคัญที่นิตยสาร เดอะ อิโคโนมิส พูดถึงในกรณีดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจคือ
หนึ่ง เกณฑ์และข้อมูลดิบที่นำมาใช้ในการให้คะแนนอาจถูกท้าทายโดยประเทศที่คะแนนการประเมินออกมาไม่ดี ทำให้ผลการประเมินที่ออกมาในที่สุด อาจมีคำถามตามมามากมายเมื่อตัวเลขและเกณฑ์มีการทบทวนตามการร้องขอของประเทศที่ถูกประเมิน โดยบทความให้ตัวอย่างประเทศที่เรื่องทำนองนี้อาจเกิดขึ้น สะท้อนการบริหารความรู้สึกของประเทศสมาชิกที่ได้พูดถึง ในเรื่องนี้น่ายินดีว่า ธนาคารโลกไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังมีการสอบทาน (audit) ระบบการประเมินทั้งหมดอยู่
สอง คือ ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือธรรมาภิบาลของเจ้าหน้าที่ในการทำหน้าที่ ทั้งประเมินและให้คำแนะนำประเทศที่ถูกประเมินไปพร้อมกัน แนะนำวิธีการที่ประเทศที่ถูกประเมินสามารถปรับปรุงกฎเกณฑ์หรือกระบวนการที่ปฏิบัติอยู่เพื่อให้ได้คะแนนดีขึ้น ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างชัดเจน กล่าวคือ งานด้านการประเมิน และงานด้านการให้คำแนะนำ ควรแยกจากกัน คือ ควรทำโดยบุคคลสองกลุ่มอย่างอิสระ มีกำแพงปิดกั้นชัดเจนเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกิดขึ้น ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยในธุรกิจจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่บริษัทจะทำงานด้านวิจัย ให้คำแนะนำ และประเมินไปพร้อมกัน อันนี้เป็นอีกประเด็นที่สามารถแก้ไขได้
สาม ผลการศึกษาในปี 2015 ชี้ว่า ไม่มีความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างอันดับดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจที่ประเทศได้ กับ สิ่งที่นักธุรกิจในประเทศพูดถึงเมื่อถูกถามเรื่องการทำธุรกิจ กล่าวคือ อันดับที่ดัชนีการจัดอันดับแสดง หมายถึงความสะดวกในการทำธุรกิจบนกระดาษหรือตามข้อมูลที่ระบุไว้ในระเบียบของทางการ เช่น จำนวนวันที่ใช้ในการเปิดบริษัท ซึ่งข้อมูลตามระเบียบอาจบอกว่าน้อยกว่า 24 ชม. ขณะที่ในโลกธุรกิจจริง จำนวนวันที่ใช้จริงและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอาจต่างจากที่ระบุไว้ในระเบียบ เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถจับต้องได้ด้วยดัชนี ความแตกต่างนี้ชี้ให้เห็นถึง โลกบนกระดาษของระบบราชการกับโลกในภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่นักการเมืองให้ความสำคัญกับอันดับของประเทศในดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจมาก และทุกครั้งที่ผลการประเมินออกมาดีก็จะมีการแถลงข่าวใหญ่โต ล่าสุดในรายงาน Doing Business 2020 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 ในดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ ประเมินจาก 190 ประเทศทั่วโลก เฉพาะในเอเชีย ประเทศที่อยู่อันดับสูงกว่าไทยได้แก่ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และออสเตสเลีย เห็นตัวเลขแล้วน่าภูมิใจ
แต่นักธุรกิจที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยจริง ทั้งนักธุรกิจไทยและต่างประเทศ คงมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับอันดับดังกล่าว เพราะถ้าเราดูดัชนีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในประเทศไทย ผลที่ออกมาจะต่างกันมาก เช่น การสำรวจปัญหาที่นักธุรกิจพบในการทำธุรกิจในประเทศไทย หรือ Most problematic factors for doing business จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum) ชี้ว่าปัญหาความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ ความไม่เสถียรของนโยบาย การขาดสมรรถนะด้านนวัตกรรม และการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นห้าปัญหาหลักที่ภาคธุรกิจประสบในการทำธุรกิจในบ้านเรา เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้และไปไม่ได้เลยกับอันดับที่สูงของไทยในดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ
อีกตัวอย่าง คือ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยที่ล่าสุดแย่ลงอีกในปี 2019 คือ คะแนนที่ประเทศไทยได้เรื่องภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นลดลงเหลือ 36 คะแนนในปี 2019 จาก 37 คะแนนปีก่อนหน้าจากคะแนนเต็มร้อย ขณะที่อันดับของประเทศไทยเพิ่มเป็น 101 จาก 96 ในปี 2018 คือ ยิ่งสูงยิ่งไม่ดี นี่คือความรู้สึกของนักธุรกิจเกี่ยวกับการทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งไปไม่ได้เช่นกันกับอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจที่ประเมินออกมา
ทั้งหมดนี้ ชี้ว่า ไม่ควรมองอะไรง่ายเกินไป เพราะทุกเรื่องมีสองด้านเสมอ การจัดอันดับที่ดีขึ้นของประเทศอาจเป็น “วินวิน” สำหรับองค์กรที่จัดทำดัชนีกับนักการเมืองที่เป็นรัฐบาล แต่อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศ