ภาวะถดถอยแบบรูปตัว K คืออะไร
มีแฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” อยากให้เขียนเรื่องการฟื้นตัวแบบตัวอักษร K คือเป็นการฟื้นตัวหรือเป็นภาวะถดถอย วันนี้เลยอยากจะเขียนเรื่องนี้
เศรษฐกิจรูปตัว K เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์เขียนถึงเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อกลางเดือนที่แล้ว คงจำได้ เรามักเปรียบรูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยใช้ตัวอักษรเพื่อให้เข้าใจง่าย คือ V หมายถึงลงเร็ว ขึ้นเร็ว ตัว U หมายถึงการฟื้นตัวจะใช้เวลาลากยาว ตัว W คือการฟื้นตัวที่จะสะดุดเป็นช่วงๆ มีขึ้นมีลง และล่าสุด แบงค์ชาติเราพูดถึงการฟื้นตัวแบบโลโก้ของ Nike คือ ลงและฟื้นตัวแบบลากยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เศรษฐกิจตัว K น่าจะหมายถึงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ ที่ขาลงค่อนข้างเร็วเหมือนแกนเส้นตรงของตัวอักษร K และขาขึ้น แบ่งเป็น 2 เส้น คือ เส้นที่ลากเฉียงขึ้นที่เปรียบเสมือนเศรษฐกิจของกลุ่มคนที่ “มี” ที่เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นกับอีกเส้นที่เป็นเส้นเฉียงลงทางขวา เปรียบเหมือนเศรษฐกิจของคนอีกกลุ่ม คือ พวกที่ “ไม่มี” ที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังถดถอยต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นผลกระทบต่อคน 2 กลุ่มในระบบเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากวิกฤติคราวนี้แตกต่างกัน
กลุ่ม “มี “ คงเป็นคนส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์จากวิกฤติคราวนี้ในหลายมิติ เช่น อยู่ในสาขาธุรกิจที่ได้ประโยชน์หรือขยายตัวในวิกฤติคราวนี้ เช่น เทคโนโลยี บริการด้านดิจิทัล ที่ธุรกิจกำลังบูม หรือเป็นกลุ่มคนในวิชาชีพที่มีงานทำ มีรายได้ มีการจ้างาน หรือเป็นกลุ่มคนที่มีสินทรัพย์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง หรือเป็นกลุ่มคนที่มีสายป่านยาว มีทรัพย์สิน ไม่มีหนี้ มีเงินออม และมีรายได้จากการลงทุน ทำให้ไม่ถูกกระทบมากจากวิกฤติ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กลุ่มคนที่ “มี” นี้ก็จะดีขึ้นก่อน เป็นเส้นเฉียงขึ้นทางขวาของตัวอักษร K
อีกกลุ่มคือกลุ่มที่ “ไม่มี” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่เคยทำงานหรือเคยมีธุรกิจอยู่ในสาขาเศรษฐกิจที่ถูกกระทบมากจากวิกฤติ ทำให้ธุรกิจต้องปิดหรือต้องตกงาน เช่น ธุรกิจร้านอาหาร บันเทิง การบิน บริการบุคคล ท่องเที่ยว หรือเป็นคนที่เคยมีงานทำแต่กำลังตกงานจากผลของวิกฤติ หรือเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสินทรัพย์ ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้น ไม่มีเงินออม ทำให้ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐ นี่คือกลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่ยังเป็นขาลงในวิกฤติคราวนี้ แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว เป็นเส้นเฉียงลงล่างของตัวอักษร K
นี่คือ เศรษฐกิจรูปตัว K ที่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีสำหรับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศขณะนี้ โดยเฉพาะสหรัฐ ที่นายโจ ไบเด็น (Joe Biden) ก็พูดถึงเรื่องนี้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มองว่าเป็นความผิดพลาดของภาวะผู้นำในสหรัฐที่ทำให้ภาวะถดถอยในความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่เกิดขึ้น
สำหรับประเทศไทยเอง เศรษฐกิจแบบตัว K ก็เป็นสิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้เพราะแม้วิกฤติคราวนี้จะกระทบทุกคนทุกฝ่าย แต่ผลกระทบต่อแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน คือ กลุ่มคนในระดับล่างจะถูกกระทบมากกว่าคนในระดับบน เรื่องนี้ ผมได้เขียนไว้เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนในบทความ “เมื่อพรุ่งนี้จะไม่เหมือนเมื่อวาน” ในคอลัมน์นี้ โดยชี้ว่า จากผลของวิกฤติโควิด-19 สังคมไทยขณะนี้เป็นเหมือนสังคมซ้อนสังคม กล่าวคือ
มีสังคมส่วนบนที่มีสายป่านยาว มีเงินออม มีรายได้จากการทำงาน หรือเป็นเจ้าของกิจการที่ยังทำธุรกิจอยู่ กลุ่มคนเหล่านี้ สำหรับพวกเขาวิกฤติโควิดได้จบลงแล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิต มาใช้จ่ายได้อย่างปรกติ จากที่ไม่มีการระบาดในประเทศ แต่เศรษฐกิจของประเทศที่หดตัวรุนแรงมีผลต่อธุรกิจและการหารายได้ของพวกเขา และเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ ไม่มีกำลังซื้อ ในสายตาคนกลุ่มนี้ รัฐบาลควรแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมากขึ้น สร้างหนี้มากขึ้น และนำเงินกู้มาเยียวยา หรือแจกจ่ายให้กับกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและให้ธุรกิจของพวกเขาได้ประโยชน์
ส่วนอีกกลุ่มซึ่งเป็นสังคมส่วนล่าง และเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลงจากผลของวิกฤติ ทั้งจากธุรกิจของตนที่ต้องปิด หรือตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินออม ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่มีระบบประกันสังคมเข้ารองรับ คนกลุ่มนี้ต้องการให้รัฐช่วยเหลือด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อให้มีรายได้ ต้องการให้รัฐดูแลในเรื่องหลักประกันพื้นฐานเพื่อให้มีความมั่นคงในชีวิต และไม่ลำบากเกินไป สำหรับคนกลุ่มนี้วิกฤติคราวนี้รุนแรงมาก และยังไม่จบ ยังต้องต่อสู้อีกมาก พวกเขาต้องการโอกาสของการมีงานทำ มีรายได้ เพื่อดูแลครอบครัว ให้การศึกษาแก่บุตรหลานเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น
นี่คือ คนกลุ่มล่างที่ภาวะความเป็นอยู่ถดถอยและลำบาก แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มฟื้นตัว เป็นเส้นเฉียงลงทางขวาของตัวอักษร K
แต่ประเด็นสำคัญที่เศรษฐกิจรูปตัว K สะท้อนให้เห็นคือ ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เศรษฐกิจมีและผลกระทบจากโควิดที่จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำนี้มีมากขึ้น ในตัวอักษร K เราจะเห็นว่า เส้นเฉียงขึ้นข้างบนไปทางขวา ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มคนที่ “มี” นานเข้าๆ จะยิ่งทิ้งห่างเส้นล่างที่สะท้อนภาวะถดถอยของคนกลุ่มล่างที่ “ไม่มี” ระยะห่างของ 2 เส้นนี้ ที่จะกว้างขึ้น คือความแตกต่างของความเป็นอยู่ของคน 2 กลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ที่จะมีมากขึ้นตามมา ถ้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงขึ้น จากผลของโควิด-19
คำถามที่ผมได้ฝากทิ้งไว้ในบทความ 2 อาทิตย์ก่อน คือ ภาครัฐจะให้น้ำหนักอย่างไรในการแก้ปัญหา จะกู้มากขึ้น แจกมากขึ้น เพื่อให้เกิดกำลังซื้อและให้ธุรกิจของคนกลุ่มบนได้ประโยชน์ หรือ จะให้น้ำหนักกับการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ธุรกิจของคนกลุ่มล่างไม่ล้มละลาย ให้มีรายได้ มีงานทำ และมีโอกาสมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่กำลังรอคำตอบ