ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (3)
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่ม CARE ให้รัฐบาลร่วมลงทุนกับ SME ของไทยในการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยรัฐบาลจะลงทุนไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท
โดยให้เจ้าของบริษัทลงทุน 20 ล้านบาท และธนาคารพร้อมปล่อยกู้ระยะยาว (3 ปี) อีก 30 ล้านบาท ทำให้มีสัดส่วนทุนเท่ากับ 70 (รัฐ 50 เจ้าของ 20) และหนี้สินเท่ากับ 30 โดยจะเป็นบริษัทที่รัฐบาลไม่เข้าไปบริหาร แต่จะเป็นบริษัทที่มีระบบบัญชีโปร่งใสและจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอย่างครบถ้วน
การเสนอดังกล่าวอาจดูว่าเป็นการเอารัฐบาลเข้าไปเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินภาษีอากรของประชาชนอย่างมากในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นปัจจุบัน แต่ผมมองว่าหากไม่ทำอะไรก็จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นในปีหน้า โดยธนาคารพาณิชย์จะต่างคนต่างทำ โดยความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทต่างๆ และลูกค้ารายย่อยที่มีถึง 12.5 ล้านบัญชี สินเชื่อรวม 7.2 ล้านล้านบาท (มากกว่า 1/3 ของสินเชื่อทั้งระบบ) ที่กำลังได้รับการผ่อนปรนดอกเบี้ยและไม่ต้องคืนเงินต้นอยู่ในขณะนี้
ผมมีข้อสังเกตว่าหากปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ทำการปรับโครงสร้าง เราก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางใด และจะตอบสนองความต้องการของประเทศในส่วนรวมมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างเช่นหากธนาคารพาณิชย์มองว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้มาเก็บเอาไว้รอขายในอนาคต เพราะต้นทุนในการเก็บรักษาไม่สูง (warehouse with low carrying cost) ก็อาจทำให้มีทรัพยากรถูกเก็บเอาไว้เฉยๆ ไม่เอาไปทำประโยชน์เป็นจำนวนมากในระยะสั้น ซึ่งจะทำให้จีดีพีตกต่ำลงไปอีก (เพราะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลงตามไปด้วย อันจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะว่ารัฐบาลก่อหนี้มากขึ้นแต่เพราะว่าจีดีพีลดลง ประเด็นคือการที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลยก็สามารถทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
แต่หากต้องลงทุนที่เสี่ยงสูงดังที่กลุ่ม CARE เสนอแล้วจะปกป้องผลประโยชน์ของผู้เสียภาษีได้อย่างไร? ซึ่งคำตอบคือการเสนอให้รัฐบาลขายพันธบัตร 100 ปีให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยมูลค่า 2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี (เท่ากับที่คิดดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ที่กำลังกู้เงิน soft loan ให้กับ SMEs ในขณะนี้) ในส่วนนี้จะหมายความว่ารัฐบาลจะมีภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับ ธปท.เพียง 200 ล้านบาทต่อปี
และหากรัฐบาลลงทุนได้มากถึง 2 ล้านล้านบาทจริง ก็จะทำให้ภาคเอกชน (เจ้าของ+ธนาคารพาณิชย์) ต้องใส่เงินเข้ามาอีก 2 ล้านล้านบาท รวมเป็น 4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นจีดีพีได้มากเพราะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 23% ของจีดีพีและเนื่องจากรัฐบาลเก็บภาษีได้ประมาณ 17% ของจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลก็น่าจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้เท่ากับ 6.8 แสนล้านบาท โดยยังไม่ได้คำนวณตัวคูณ (multiplier) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมากรลงทุนใหม่ซึ่งกระตุ้นการใช้จ่ายและการจ้างงานในระบบ
การกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถตะกายตัวออกจากหลุมขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 นั้น ผมเชื่อมั่นว่าจะช่วยลดสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงไปได้อย่างรวดเร็ว เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังที่เห็นได้จากตารางข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ปรากฏในรูป
หากดูตัวเลขมูลค่าหนี้สาธารณะในช่วง 24 ปี จาก 1996-2020 (ถึงเดือน ก.ค.) จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยแทบจะไม่เคยลดมูลค่าหนี้สาธารณะลงเลย และหากลดลงก็จะทำได้เมื่อเศรษฐกิจดีมากๆ ทำให้รัฐบาลต้องลดนโยบายการคลังเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและไม่จำเป็นต้องเคลียร์หนี้สิน และในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่นั้นรัฐบาลยิ่งต้องใช้เงินกอบกู้เศรษฐกิจโดยการกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นในปี 1996-1999
แต่การรักษาวินัยทางการคลังที่วัดจากสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น จะเห็นได้ว่าจะสามารถลดลงได้เพราะคุณภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติว่าฟื้นจีดีพีได้มากและยาวนานต่อเนื่องเพียงใด เช่น หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงจาก 60% ในปี 2000 เหลือเพียง 35% ในปี 2008 เพราะจีดีพีไทยขยายตัวเร็วกว่าหนี้สาธารณะ (หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเพราะเกิด Hamburger Crisis)
ดังนั้น การรักษาวินัยทางการคลังคือการเพิ่มตัวหารที่ได้มาจากการที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ