จะสร้างงานและแก้เศรษฐกิจตกต่ำได้อย่างไร
ญหาโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การลงทุนการค้า การเดินทางระหว่างประเทศหดตัวอย่างรุนแรงอย่างน้อย 1-2 ปี
ปัการคิดแก้ปัญหาโดยใช้กรอบความคิดทุนนิยมอุตสาหกรรมข้ามชาติแบบรัฐบาลมุ่งใช้เงินอุดหนุนธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวกับต่างชาติอื่นๆ และการแจกเงินประชาชนเพื่อการบริโภค ไม่มีทางจะสร้างงานและแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของไทยอย่างได้ผล
เราต้องกล้าคิดนอกกรอบ-กล้าปฏิรูประบบเศรษฐกิจแนวใหม่ ลดการพึ่งพาทุนนิยมข้ามชาติ หันมาพึ่งพาแรงงาน ทรัพยากร ตลาดภายในประเทศมากขึ้น กระจายทรัพย์สิน/รายได้ให้เป็นธรรม และพัฒนาแนวฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม จะสร้างงานใหม่และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริงได้มากกว่าการหวังพึ่งการลงทุน การค้า การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
แนวทางแก้ไขปัญหาแนวปฏิรูประบบเศรษฐกิจทางเลือกแนวใหม่ คือ
1. พัฒนาตามแนวทางเศรษฐศาสตร์เชิงระบบนิเวศ (Ecological Economics) ,พรรคกรีน และพรรคสังคมประชาธิปไตย เน้นการกระจายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และความเจริญงอกงามของคุณภาพชีวิตและสังคม (fair and green)
ปฏิรูปที่ดิน เกษตร ป่าไม้ นำที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ราชพัสดุ (กรมธนารักษ์, ทหาร) และที่ดินสาธารณะ (กรมที่ดิน, อปท.) ที่มีถึงราว 20 ล้านไร่ มาจัดสรรเป็นแปลงละ 1 ไร่ ให้ประชาชน 10 ล้านครอบครัวไปทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร ไร่นาสวนผสม รัฐสนับสนุนในเรื่องการระบบเก็บกักและจ่ายน้ำ และการลงทุนพื้นฐาน แบบทำให้ฟรีและหรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาเครื่องทุนแรงเพื่อการเกษตรขนาดเล็กที่เหมาะ ฝึกอบรมความรู้ทักษะฯลฯ เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้มี ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าในระยะยาวควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสานเพื่อการกินอยู่ และหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองในระยะสั้นได้ รัฐบาลอาจออกพันธบัตรเพื่อการปลูกป่า และเอาเงินส่วนนี้ไปให้กู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าไม้ทางเศรษฐกิจในหลายรูปแบบได้
2. ปฏิรูประบบการคลัง งบประมาณ เก็บภาษีทรัพย์สิน รายได้จากทรัพย์สินของคนรวยในอัตราก้าวหน้า กระจายทรัพย์สิน ทรัพยากร รายได้ การศึกษา การสาธารณสุข การมีงานทำ ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนทั้งประเทศมีผลิตภาพ รายได้ อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ตลาดภายในประเทศที่มีประชากร ๖๗ล้านคน(พอๆกับฝรั่งเศส อังกฤษ)จะใหญ่ขึ้น
3. ลดขนาดเมืองใหญ่และการผลิตแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่ กระจายอำนาจ ทรัพยากร งบประมาณ ความรู้ สู่ท้องถิ่น ทำให้ชุมชนขนาดเล็กพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจสังคมได้มากขึ้น ชุมชนสามารถผลิต/บริโภคอาหารและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้เอง หรือค้าขายแลกเปลี่ยนในระยะใกล้ๆ เพิ่มการจ้างงานและผลผลิต ลดการขนส่งเส้นทางไกลเพื่อ ลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลภาวะและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน
4. สร้างเศรษฐกิจภาคเพื่อส่วนรวม สำหรับทรัพยากรและกิจการที่จำเป็นสำคัญต่อส่วนรวมในหลายรูปแบบ เช่น รัฐวิสาหกิจที่บริหารอย่างมีประสิทธิภาพแบบเอกชน (ตัวอย่างในสิงคโปร์ ยุโรปเหนือ) ระบบโรงงานธุรกิจที่คนงานถือหุ้น ร่วมบริหาร (เยอรมัน และ ฯลฯ) ระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค (สเปน ญี่ปุ่น ฯลฯ) องค์กรแบบร่วมลงทุนร่วมบริหารจัดการเช่นนี้จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมมากกว่าธุรกิจเอกชนที่เน้นให้กำไรอยู่ที่นายทุนเอกชนฝ่ายเดียว
5. ส่งเสริมการแข่งขัน การสร้างแรงจูงใจ ความมีประสิทธิภาพของธุรกิจเอกชน โดยเน้นการแข่งขันที่เป็นธรรม การคิดค้นใหม่ของธุรกิจขนาดย่อม ควบคุม/จำกัดการผูกขาด/กึ่งผูกขาดของธุรกิจใหญ่ กิจการบางอย่างที่ต้องลงทุนสูง หรือทำเป็นขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพได้ ต้องทำเป็นระบบสหกรณ์ บริษัทมหาชนที่ประชาชนถือหุ้นใหญ่ หรือรัฐวิสาหกิจที่เน้นการบริหารแบบเอกชน ป้องกันการเอาเปรียบแรงงาน ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และธุรกิจใหญ่ที่กำไรสูงกว่าธุรกิจขนาดย่อมต้องเสียภาษีในอัตราสูงกว่า
6. สร้างระบบสังคมสวัสดิการที่ดี ลงทุนด้านการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ ที่มีคุณภาพ ประชาชนทั้งประเทศเข้าถึงได้ เพราะถ้าปล่อยตามกลไกตลาดทุนนิยม คนจนส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึง
7. นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ (Universal basic Income) รัฐบาลคืนภาษีให้ประชาชนทุกคนมีรายได้ขั้นต่ำพอยังชีพอยู่ได้ หรือ Negative Income Tax รัฐจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ ให้เฉพาะคนจน คนด้อยโอกาส คนเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก คนสูงวัย คนพิการ ที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ นี่คือวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญทางหนึ่งในยุคเศรษฐกิจโลกหดตัว รัฐบาลสามารถระดมทรัพยากร สามารถหารายได้และกู้เงินหรืออกพันธบัตรระยะยาวได้มากกว่าประชาชน
ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจนำหุ่นยนต์มาใช้งานแทนแรงงานคนได้มากขึ้น คนจะยิ่งตกงาน ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ แบบทำให้หุ่นยนต์เป็นของส่วนรวมหรือเก็บภาษีจากเจ้าของหุ่นยนต์ที่ทำกำไร เพื่อจะได้มีงบประมาณมาจ่ายเลี้ยงดูประชาชนที่ไม่มีงานทำหรือมีงานลดลง มีรายได้ไม่พอยังชีพ
8. พัฒนาการศึกษา สื่อสารมวลชน สื่อทางสังคม การเมือง การบริหาร ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ให้เป็นประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ประชาชนมีจิตสำนึกความรับผิดชอบเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้น มีจิตใจประชาธิปไตยแบบใจกว้าง เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ รักสันติ ความเป็นธรรม ความโปร่งใส ไม่คิดฉ้อโกงเอาเปรียบคนอื่น มีความไว้วางใจกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันและกัน
9. วิจัยและพัฒนาการออกแบบและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ใช้ทรัพยากรและพลังงานลดลง เน้นการใช้พลังงานทางเลือก ออกแบบการผลิตใหม่ทําให้สินค้าคงทนมีอายุใช้งานนานขึ้น มีขยะเหลือน้อย ซ่อมแซมปรับปรุงนำของเก่ามาใช้ การแยกขยะและการแปรรูปใช้ใหม่
10. ส่งเสริมการบริโภครวมหมู่ เช่น การขนส่งสาธารณะ การใช้รถร่วมกัน (Car pool) แทนการที่ต่างคนต่างใช้รถส่วนตัว การมีห้องสมุด ศูนย์พักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ ร่วมกันในชุมชน การใช้จักรยานแทนรถยนต์เพิ่มขึ้น ทําทางจักรยาน ปลูกต้นไม้ช่วยบังแดด มีสัญญาณไฟเพื่อความปลอดภัย ฯลฯ ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีเวลาทํากิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวและชุมชน การอยู่ในธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่ดี พัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ
11. ปฏิรูปด้านการบริการทางสังคมพื้นฐานที่จําเป็น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การสาธารณสุข การศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมากในอัตราสูงขึ้น และใช้งบนี้ไปช่วยพัฒนาคนจนและฟื้นฟูระบบนิเวศ
12. ออกแบบกระบวนการผลิตใหม่หมด (Redesign) ปกป้องคนงานจากอุบัติเหตุ หรือผลกระทบทางสุขภาพจากการทํางาน ส่งเสริมให้คนงานมีอํานาจในการควบคุมกระบวนการทํางานของตน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจเรื่องเป้าหมายในการผลิตและการบริโภค สินค้าบริการที่จำเป็น/เป็นประโยชน์ ร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น ให้พนักงานได้เป็นผู้ถือหุ้นและมิสิทธิมีเสียงในโรงงานและธุรกิจต่างๆมากขึ้น มีอํานาจในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดขึ้น และยั่งยืนเพิ่มขึ้น ได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมและพอใจภูมิใจในการทำงานของตน