จากภาวะรายได้เดือนละกว่าแสนบาทยังจน
เดือนนี้ ชาวเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มได้รับค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 23 ฟรังก์ หรือราวเดือนละกว่า 1.3 แสนบาท
การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำมิได้ทำโดยรัฐบาล หากเป็นผลของการลงประชามติของชาวเจนีวาโดยตรง สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการบริหารประเทศ เป็นประชาธิปไตยที่ใช้การออกเสียงโดยตรงของประชาชนในหลากหลายกรณีเมื่อมีผู้เสนอประเด็นสำคัญ ในกรณีนี้ ชาวเจนีวาตระหนักดีว่า ท่ามกลางภาพความร่ำรวยที่ฉายออกมาให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกนั้น มีชาวเจนีวาจำนวนมากตกอยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลังอย่างต่อเนื่องแม้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละแสนบาทก็ตาม เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานร้านอาหารและแรงงานบางประเภท
ปัจจัยที่ทำให้ชาวเจนีวากลุ่มต่าง ๆ ชักหน้าไม่ถึงหลังได้แก่ ค่าครองชีพที่สูงลิ่ว เช่น ข้อมูลบ่งว่าค่าเช่าที่อยู่อาศัยแคบ ๆ แบบแมวดิ้นตายเพียงห้องเดียวตกเดือนละราว 3.5 หมื่นบาท สำหรับผู้ที่มีภูมิหลังทางด้านเศรษฐกิจอยู่บ้าง เรื่องดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปซึ่งอาจมองต่อไปได้อีกหลายแง่มุม เช่น ประเทศยิ่งร่ำรวย หรือยิ่งก้าวหน้า ค่าครองชีพยิ่งสูง และไม่ว่าจะก้าวหน้า หรือร่ำรวยเพียงไร คนจนจะมิหมดไปจากประเทศ
ข้อมูลบ่งว่า ชาวสวิสมีรายได้เฉลี่ยราว 11 เท่าของชาวไทย แต่เนื่องจากค่าครองชีพในสวิตเซอร์แลนด์สูงกว่าในเมืองไทยหลายเท่า เมื่อนำเอาค่าครองชีพมาคิดตามหลักเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ชาวสวิสจะมีรายได้ราว 3.3 เท่าของคนไทยเท่านั้น ข้อมูลยืนยันด้วยว่า ชาวสวิสที่มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพเบื้องต้น หรือที่จัดว่าตกอยู่ในภาวะยากจนมีอยู่ราว 7% ของประชากรทั้งหมด
ภาวะค่าครองชีพที่สูงเป็นเงาตามตัวของรายได้ในประเทศก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ชาวไทยจำนวนมากไม่ตระหนัก ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศก้าวหน้าจึงมักเป็นตัวบ่งชี้หลักที่จูงใจให้แรงงานไทยกระเสือกกระสนไปหางานในต่างประเทศถึงขนาดยอมเป็นหนี้ก้อนใหญ่เพื่อจ่ายให้แก่นายหน้า ความไม่ตระหนักนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานไทยจำนวนหนึ่งถูกหลอก และบางส่วนไม่สามารถใช้หนี้คืนได้หลังไปทำงานในต่างประเทศ ภาครัฐพยายามสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ต้องการไปขายแรงงานมานาน แต่ยังมีรายงานว่ารัฐไม่สามารถช่วยป้องกันเรื่องเหล่านั้นมิให้เกิดขึ้นได้ทั้งหมด
สำหรับด้านการมีคนจนไม่ว่าประเทศจะก้าวหน้า หรือมีรายได้สูงเพียงไร ชาวสวิสตระหนักดีและพยายามหาทางแก้มาตลอด ย้อนไป 4 ปี มีผู้เสนอให้นำแนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้แก่ทุกคนมาใช้ ในตอนนั้น แก่นของข้อเสนอได้แก่การให้รัฐบาลประกันว่าชาวสวิสทุกคนจะต้องมีรายไม่ต่ำกว่า 8.5 หมื่นบาทต่อเดือนไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา คนว่างงาน หรือคนพิการ เมื่อนำข้อเสนอนี้ไปให้ชาวสวิสทั้งหมดลงประชามติ ปรากฏว่า 77% ไม่เห็นด้วย ชาวเจนีวาจึงหาทางออกสำหรับมณฑลของตนด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งนายจ้างจะต้องจ่าย
อนึ่ง แนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จ่ายนี้เกิดขึ้นราว 400 ปีแล้ว แต่ก็ยังทีหลังเรื่องการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำซึ่งนายจ้างต้องจ่าย ในปัจจุบัน การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศก้าวหน้ามากและก้าวหน้าไม่มากนัก เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มันไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ หลายประเทศจึงได้นำการประกันรายได้ขั้นต่ำมาทดลองทำนำร่องอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษกว่า ๆ มานี้ ส่วนใหญ่ทำกันในวงจำกัด หรือในระดับท้องถิ่นยกเว้นในอิหร่านและมองโกเลียซึ่งทดลองทำทั่วประเทศ ณ วันนี้ยังไม่มีประเทศใดสรุปผลการทำนำร่องด้วยความมั่นใจว่ามันจะสามารถแก้ปัญหาได้ จนนำมาใช้แก้ปัญหาความยากจนของตนแบบถาวร
ด้วยเหตุดังกล่าว ชาวเจนีวาส่วนหนึ่งจึงต้องพึ่งอาหารที่องค์กรการกุศลนำมาแจกเป็นประจำ การระบาดของไวรัสโควิด-19ทำให้จำนวนผู้ที่อยู่ได้ด้วยการอาศัยอาหารแจกเพิ่มขึ้น แต่มิใช่ชาวเจนีวาเท่านั้นที่ต้องพึ่งอาหารแจก หากชาวอเมริกันในย่านกรุงวอชิงตันอันเป็นเมืองหลวงของอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็ต้องทำด้วยเช่นกัน