การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ศาลมีคำพิพากษาถือว่าเป็นการกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้า ไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ยแม้จะเรียกว่าดอกเบี้ย
ดอกเบี้ย
คำว่าดอกเบี้ย ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา148 หมายถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการได้ใช้ทรัพย์นั้น สำหรับอัตราดอกเบี้ย ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา7ให้ใช้อัตรา7.5%ต่อปี ถ้าเป็นการกู้ยืมเงินมาตรา654 ห้ามเรียกเกิน 15% ต่อปี
ถึงแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิน15%ต่อปี แต่เนื่องจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีบทบังคับ ในปี พ.ศ.2475 จึงมีการตราพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ออกใช้บังคับ เพื่อป้องกันราษฎรมิให้ต้องเสียดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดโทษทางอาญาผู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จำคุกไม่เกินหนึ่งปีปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาในปี2560มีการปรับปรุงโดยตราพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2560 ออกใช้แทน โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือกำหนดข้อความเป็นเท็จในสัญญากู้ยืมเงินหรือเรียกประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ยเกินสมควรด้วย
ในปี 2523 มีการตราพระราชบัญญัติอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ออกใช้บังคับ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงิน คิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืม สูงกว่า 15 % ต่อปีได้ซึ่งจะทำให้ไม่อยู่ในบังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา654 ในกรณีเช่นนี้ สถาบันการเงิน(ตามความหมายที่กำหนดในมาตรา3)จึงอาจคิดดอกเบี้ย เกินกว่า 15% ต่อปีได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด ถ้าเกินก็เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
การเรียก ดอกเบี้ยผิดนัด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา224วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นให้เรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้7.5% ต่อปี แต่ถ้าเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินอัตราดอกเบี้ยผิดนัดย่อมเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีอัตราสูงกว่าตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาการเรียกดอกเบี้ยผิดนัด
ในสัญญากู้ยืมเงิน ที่มีการกำหนดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดชำระหนี้ไว้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถือว่าเป็นการกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้า ไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ยแม้จะเรียกว่าดอกเบี้ยก็ตาม
เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่2356/2545 ที่วินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินระบุว่าในกรณีผู้กู้ไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามสัญญา ยินยอมชำระเบี้ยปรับในอัตรา21 %ของต้นเงินที่ผิดนัด เริ่มคิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันผิดนัด ถึงแม้จะเรียกว่าดอกเบี้ย แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา379
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6236/2551วินิจฉัยว่าตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้ และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาล เห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้
เนื่องจากที่ผ่านมาการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดหนี้ของผู้ประกอบการการให้บริการทางการเงิน ทั้งที่เป็นสถาบันทางการเงินและไม่ใช่สถาบันทางการเงิน ยังไม่มีหลักเกณฑ์และแนวทางในการปฏิบัติที่แน่นอนโดยเฉพาะสินเชื่อที่มีลักษณะการผ่อนเป็นงวดฯ
บัดนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อาศัยกฎหมายหลายฉบับ ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส2.9/2563 เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่3ตุลาคม 2563 กำหนดแนวทางการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และลำดับการตัดชำระหนี้ ตลอดจน ขยายขอบเขตเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และขยายขอบเขตผู้ให้บริการทางการเงินให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้กำกับ ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีซซิ่ง ผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อ (ไม่รวมการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีการควบคุมสัญญาตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค) บริษัทบริหารสินทรัพย์ ออกใช้บังคับโดยให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564เป็นต้นไป ทั้งนี้มีบทเฉพาะกาลขยายเวลาหลักเกณฑ์การปฏิบัติบางหลักเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบการบางประเภทให้เริ่ม วันที่1 กรกฎาคม 2564
สาระสำคัญ
ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงินที่อยู่ในบังคับของประกาศฉบับนี้ คือสถาบันการเงินตามกฎหมายธุรกิจสถาบันทางการเงินทุกแห่ง บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยฯ ธุรกิจให้เช่าแบบลีซซิ่ง เช่าซื้อ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล(ภายใต้กำกับ) ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบธุรกิจ(ภายใต้กำกับ)
“ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” หมายความว่าดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากลูกหนี้ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งมีการคิดค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจาก ดอกเบี้ยในกรณีปกติ ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรเช่นดอกเบี้ย ค่าปรับ เบี้ยปรับ ค่าปรับจากการชำระหนี้ล่าช้าเป็นต้น
การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ใช้กับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียน สำหรับลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (1) สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียน ให้คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เก็บจริงตามสัญญา ได้ไม่เกิน 3%ต่อปี โดยให้คำนึงถึงปัจจัยอื่นฯประกอบด้วย
ฐานการคิดดอกเบี้ย
สินเชื่อที่มีการผ่อนเป็นงวด ให้คิดบนฐานต้นเงินค่างวดที่ค้างชำระในแต่ละงวด สินเชื่อหมุนเวียนให้คิดดอกเบี้ยบนฐานต้นเงินที่ค้างชำระทั้งจำนวน
ทั้งนี้ผู้ให้บริการอาจกำหนดระยะเวลาผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก็ได้
ลำดับการตัดชำระหนี้
สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด ให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยและเงินต้นของยอดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน แล้วตัดยอดหนี้ค้างชำระรองลงมาตามลำดับ สินเชื่อหมุนเวียน ให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยและเงินต้นที่ค้างชำระทั้งหมดได้