จาก CSR สู่ CSV แชร์และแบ่งปัน ก้าวไปอย่างยั่งยืน
หากพูดถึงเรื่องราวของการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสังคมแล้ว มักจะมีคำหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ
นั่นก็คือ Corporate Social Responsibility หรือ CSR ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางสังคมที่สร้างขึ้นเพื่อคืนผลกำไรบางส่วนให้กับสังคม ซึ่งมีทั้งการเป็นอาสาสมัคร การบริจาค และการปรับเปลี่ยนกระบวนการการการทำงานขององค์กรให้ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่กิจกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งหากมองในระยะยาวแล้ว นี่อาจเป็นการสร้างประโยชน์ต่อสังคมที่ไม่ต่อเนื่อง แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน
โดยในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญกับพิษเศรษฐกิจและโรคระบาด COVID-19 เช่นนี้ หนึ่งในหนทางที่สามารถสร้างประโยชน์กับสังคมได้อย่างยั่งยืนและอาจตอบโจทย์กับธุรกิจมากกว่า CSR คือการทำ Creating Shared Value หรือ CSV ซึ่งก็คือการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างองค์กรและชุมชนโดยรอบ จากการร่วมมือ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความสามารถซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การให้คนท้องถิ่นมาทำงานในองค์กร สร้างงานสร้างอาชีพให้ หรือการนำสิ่งของท้องถิ่นมาใช้ในธุรกิจ อย่างการนำถุงผ้าหรือกระเป๋าสานมาเป็นถุงยาให้ผู้ป่วยนำกลับบ้าน เป็นต้น การที่ธุรกิจมี Value ร่วมกันกับสังคมเช่นนี้ ส่งผลให้เมื่อสังคมโต ธุรกิจก็โต หรือหากธุรกิจโต สังคมก็ย่อมเติบโตตามไปด้วย ถือเป็นการสร้าง Sustainable Business และ Social Development ไปพร้อม ๆ กันนั่นเอง
แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น เราต้องมาดูกันก่อนว่าเราจะสร้าง Shared Value นี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นคือเราต้องสำรวจปัจจัยรอบด้าน ตั้งแต่การจัดการ และแก้ไขปัญหาของชุมชนโดยรอบ (Social Needs) ร่วมแก้ไข และจัดการปัญหานั้น ๆ ด้วยความรู้ความสามารถ และทรัพยากรที่องค์กรมี (Corporate Asset and Expertise) รวมถึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ (Business Opportunities) นั่นเอง
ผมขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ชุมชนมีส่วนร่วมกับธุรกิจอย่างแท้จริง เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างจังหวัดนั้นมักจะสร้างแบรนด์ของท้องถิ่นเอง ทั้งเจ้าของและพนักงานก็เป็นคนในชุมชน และเน้นการขายสินค้าของชุมชนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดธุรกิจโดยการนำรถไปขายสินค้าตามบ้านเรือน เพื่อให้สะดวกต่อกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโอกาสได้เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้สามารถนำสิ่งของมาขายได้ตรงตามความต้องการ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเพิ่มยอดขายให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตได้อย่างมากเลยทีเดียว
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเมื่อธุรกิจมีการดำเนินงานตามหลักของ CSV แล้ว ทั้งธุรกิจและชุมชนก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และสามารถเติบโตร่วมกันได้อย่างมีความสุขและ ดังนั้นในอนาคตผมอยากเห็นธุรกิจในประเทศไทยมีการทำ CSV กันมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจ สังคม และชุมชนเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่องสืบไปครับ
พบกันใหม่คราวหน้า และหากท่านใดที่สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายในองค์กร สามารถส่ง E-mail เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้นะครับ