การสร้างชาติ ภายใต้ภาวะปกติใหม่
ดร.แดนนำเสนอ 4 แนวคิด ที่เป็นยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อขับเคลื่อนการสร้างชาติ ภายใต้การคาดการณ์ว่า โลกมีความเสี่ยงจะเกิดโรคระบาดถี่ขึ้น
สถาบันการสร้างชาติ (NBI) ได้จัดการประชุมนานาชาติเพื่อการสร้างชาติ ครั้งที่ 4 (The 4th International Conference on Nation-Building (ICNB) เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “Nation-Building and the Pandemic New-Normal” โดยผนึกกำลังจากผู้นำกว่า 50 ประเทศทั่วโลก พร้อมผู้เข้าร่วมงานกว่าสองพันคน (ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์)
การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้แทนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รวมทั้งได้รับเกียรติจากจอมพล สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และ ฯพณฯ ฆาเซิม-โฌมาร์ต โตกาเยฟ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคาซัคสถาน มอบรางวัลการสร้างชาติ โดยมี ฯพณฯ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ผมในฐานะประธานจัดประชุม ได้กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อเดียวกับการประชุม โดยผมได้คาดการณ์ว่า โลกมีความเสี่ยงจะเกิดโรคระบาดถี่ขึ้น หรือที่ผมเรียกว่า “Pandemic New-Normal” ทำให้ต้องการยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อขับเคลื่อนการสร้างชาติ โดยผมได้นำเสนอ 4 แนวคิด ดังนี้
1 ปรัชญาสังคมแบบใหม่
เสรีภาพที่พึงประสงค์
การระบาดรุนแรงส่วนใหญ่เกิดในประเทศที่คนให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพส่วนตัวสูง แต่ประเทศที่จัดการกับการระบาดได้ดี เพราะประชาชนยอมสละสิทธิและเสรีภาพ และรับผิดชอบหน้าที่ส่วนตนอย่างเคร่งครัด การสร้างชาติในยุคปกติใหม่จึงควรอยู่บนหลัก “เสรีภาพที่พึงประสงค์” หรือ เสรีภาพในโอกาสปลดปล่อยศักยภาพเชิงบวก และตระหนักว่า หากบุคคลทำหน้าที่ส่วนตัวอย่างรับผิดชอบอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ยิ่งใหญ่ต่อส่วนรวม
เสมอภาคที่พึงประสงค์
ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดข้อเสนอสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่น Universal Basic Income แต่ปัญหาคือ รัฐบาลทั่วโลกมีหนี้เพิ่มขึ้นมากแล้ว จากการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ผมจึงขอเสนอ หลักเสมอภาคที่พึงประสงค์ คือ ความเสมอภาคในเชิงโอกาส แต่ไม่ใช่ได้รับเท่ากัน เช่น Universal Basic Competency และระบบสวัสดิการแบบเจาะจงเป้าหมาย (Targeted Welfare) โดยช่วยคนที่ยากลำบากจริง ๆ และช่วยเหลือตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข (Conditional Welfare) เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้
ภราดรภาพที่พึงประสงค์
ในภาวะวิกฤติ ผู้คนจะพยายามเอาตัวรอด เช่น ธุรกิจพยายามลดต้นทุนและปลดคนงาน รัฐบาลใช้นโยบายชาตินิยมและการปกป้องทางการค้า ส่วนในระดับโลก ขาดความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา เป็นต้น การสร้างชาติในยุคปกติใหม่จึงควรอยู่บนหลักภารดรภาพที่พึงประสงค์ กล่าวคือ การมีวิถีปฏิบัติต่อกันแบบเป็นญาติพี่น้อง เอื้ออาทรต่อกัน และการจัดระบบของประเทศไม่ให้มีใครถูกทอดทิ้ง ส่งเสริมให้ประชาชนช่วยเหลือกัน และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกันและกัน
- คุณสมบัติผู้นำแบบใหม่
ภาวะการนำ
ในสถานการณ์วิกฤติที่สับสนและคลุมเครือ ผู้นำต้องสามารถจับสัญญาณล่วงหน้าของวิกฤติ และคิดตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว แต่บทเรียนจากโควิด ผู้นำประเทศส่วนหนึ่งล่าช้าในการรับมือกับวิฤต เพราะนำด้วยความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้ประเมินความรุนแรงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และขาดการชั่งน้ำหนักที่รอบคอบในเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง
ภาวะการบริหาร
การจัดการในยามวิกฤติมีลักษณะเป็นการบริหารในห้องบัญชาการรบ ซึ่งรวมศูนย์การนำและการบริหารในที่เดียว เพื่อทำให้สายการบังคับบัญชาสั้น มีการรวมรวม วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่ครบถ้วน ชัดเจนและรวดเร็ว ทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องและทันสถานการณ์ สามารถระดมทรัพยากรอย่างรวดเร็ว และกระจายอำนาจในการปฏิบัติ
ภาวะคุณธรรม
ภาวะคุณธรรมมีความสำคัญ เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และความร่วมแรงร่วมใจในการฝ่าวิกฤติ ผู้นำต้องมีการตัดสินใจและสื่อสารด้วยความรับผิดชอบ เพราะจะส่งผลต่อความเป็นความตายของผู้คน นอกจากนี้ผู้นำยังเผชิญความท้าทายด้านคุณธรรมมากขึ้นในยามวิกฤติ โดยเฉพาะการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นและขาดแคลน ให้แก่ผู้ที่มีความต้องการ ซึ่งมีจำนวนมาก
- สัญญาประชาคมใหม่
บทเรียนจากโควิด ทำให้ผู้คนเห็นถึงพลังของการร่วมมือ และความจำเป็นของการจัดโครงสร้างสังคม เพื่อให้สามารถจัดการวิกฤติและดูแลผู้คนได้ทั่วถึง ดังตัวอย่าง โครงสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขในประเทศไทย ที่ทำให้เราควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ
ผลกระทบจากโควิดยังทำให้ภาครัฐกิจและภาคธุรกิจอ่อนแอ ภาครัฐกิจมีหนี้เพิ่มขึ้น และโครงสร้างและกฎระเบียบที่เทอะทะและไม่ยืดหยุ่น ทำให้ไม่อาจรับมือกับสถานการณ์ที่ พลวัตรได้ ส่วนภาคธุรกิจมีปัญหารายได้ตกต่ำและล้มละลาย เนื่องจากเศรษฐกิจที่ถดถอยลึกและยาวนาน
ผมจึงเสนอทางเลือกที่ 3 คือ “Big Civil Society” เพราะภาคประชากิจมีจุดแข็งที่เสริมจุดอ่อนของภาครัฐกิจและธุรกิจได้ อาทิ การเข้าถึงปัญหาและความต้องการของสังคม ความปรารถนาในการแก้ปัญหาสังคม ความสามารถระดมอาสาสมัคร ความสามารถพัฒนานวัตกรรมทางสังคม ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการสร้างชาติในภาวะที่มีผันผวนสูง
- ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและความมั่นคงแบบใหม่
การฟื้นฟูประเทศให้พ้นวิกฤติอย่างมั่นคงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากโรคระบาดที่จะเกิดถี่ขึ้น และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ผมจึงเสนอยุทธศาสตร์การฟื้นตัวและความมั่นคงแบบใหม่ ดังนี้
(1) เศรษฐกิจที่ยั่งยืนในตัวเอง (Self-sustained economy) คือ การจัดโครงสร้างความร่วมมือให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้และช่วยเหลือกันและกัน ในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่การพึ่งตนเองก่อน (Self-reliance First) การรวมมากกว่า 1 ครอบครัวเป็นหน่วยภราดรภาพ (Fraternity unit) การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนในตัวเอง (Self-sustained community) ไปจนถึง การเชื่อมโยงชุมชนที่ยั่งยืนในตัวเอง (Linked self-sustained community)
(2) เศรษฐกิจกระแสกลาง (Mid-stream economy) คือ การจัดระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถสร้างความมั่งคั่งในยามปกติ และมีนโยบายปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว เพื่อพึ่งพาตนเองได้ในปัจจัยสี่และปัจจัยอยู่รอดในยามวิกฤติ
(3) เศรษฐกิจโรคระบาด (Pandemic economy) คือ ยุทธศาสตร์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรคระบาด และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่สะอาด
(4) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) คือ การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เพื่อให้ภาคกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยที่โรคระบาดไม่เป็นอุปสรรค
(5) เศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับเศรษฐกิจสีเขียวที่มีแนวโน้มขยายตัวทั่วโลก
ผมเชื่อว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นแรงกระทบที่เข้ามากระชากเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ไปอย่างไม่หวนกลับ ทุกคนและทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องแสวงหายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อความอยู่รอดในโลกยุคใหม่ที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้น