การสร้างชาติยุคหลังโควิด : บทสรุปจากงาน ICNB 2020

การสร้างชาติยุคหลังโควิด : บทสรุปจากงาน ICNB 2020

การประชุมนานาชาติเพื่อการสร้างชาติ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Nation-Building in the Pandemic New Normal (การสร้างชาติในสภาวะปกติใหม่จากโรคระบาด)

สถาบันการสร้างชาตินานาชาติ (Nation-Building Institute International (NBII)) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันการสร้างชาติประเทศไทย สถาบันการสร้างชาติมาเลเซีย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และ Asia Future Institute (ประเทศเกาหลีใต้) จัดการประชุมนานาชาติเพื่อการสร้างชาติ ครั้งที่ 4 (The 4th International Conference on Nation-Building (ICNB) ประจำปี 2020 หัวข้อ Nation-Building in the Pandemic New Normal (การสร้างชาติในสภาวะปกติใหม่จากโรคระบาด) ระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2563 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ

การจัดการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีให้ผู้นำภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชากิจ นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ นิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งร่วมเสนอนโยบาย แนวคิด บทความวิชาการและผลการวิจัยในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับการจัดการสภาวะปกติใหม่จากโรคระบาดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ และเพื่อการสร้างชาติในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งการประชุมนานาชาติครั้งนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิด นโยบายในมิติต่าง ๆ เป็นการช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อพาประเทศให้เข้าถึงพรมแดนความรู้ใหม่ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ช่วยทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมและผู้กำหนดนโยบายของประเทศเกิดความตระหนักในเรื่องนี้และร่วมมือขับเคลื่อนไปด้วยกัน

การประชุมครั้งนี้พยายามตอบคำถามสำคัญที่ว่า ‘โลกและชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรในยุคหลังโควิด-19?’ และ 3 ภาคกิจควรร่วมมือและดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยให้ประเทศฟื้นตัวและขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์การสร้างชาติ?’

จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดจากนักคิด นักวิชาการ ผู้บริหารประเทศต่าง ๆและผู้บรรยายหลาย ๆ ท่าน ทำให้ได้ข้อสรุปของการประชุม ซึ่งผมขอแบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

 

ประเด็นที่ 1 โรคระบาดเป็นภัยคุกคาม แต่อาจเป็นโอกาสได้เช่นกัน

ในทุกสถานการณ์เลวร้าย ย่อมมีสิ่งดีซ่อนอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับวิดฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะมองด้วยมิติหรือมุมมองใด ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าการเกิดโรคระบาดก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น การเกิดโอกาสอันดีที่จะทำให้หลายประเทศทั่วโลกร่วมมือกัน เพราะในยามสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ทุกประเทศมีโควิด-19 เป็นศัตรูร่วมกัน โดยเฉพาะในประเทศอำนาจ การมีศัตรูร่วมกันนี้หากใช้ให้เป็นประโยชน์อาจช่วยให้ลดข้อขัดแย้งหรือการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลงได้

วิกฤตโควิดยังกระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องกระตือรือร้น ในการหาวิธีการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมต่อสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ โดยใช้ทั้งภาวะการนำและบริหารที่แตกต่างจากในยามปกติ หรือเมื่อพิจารณาในมิติภาคธุรกิจ ก็เกิดโอกาสในการปรับปรุงองค์กร วางแผนยุทธศาสตร์ใหม่ พัฒนาบุคลากร คิดค้นออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น สำหรับมิติการศึกษา ก็พบว่า โควิดทำให้อาจารย์จากต่างประเทศอยู่ยาวขึ้น เพราะกลับประเทศไม่ได้ หรือคิดว่าอยู่ประเทศไทยจะดีกว่า จึงเกิดโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มีเวลาสร้างสรรค์ประโยชน์และผลงานทางวิชาการต่อเนื่องมากขึ้น  

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการใช้งานและการผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางแพทย์ หรือที่เกี่ยวข้องกับสุขลักษณะในการใช้ชีวิตประจำวัน  เป็นต้นว่า การเรียนการสอนออนไลน์อย่างเป็นทางการ ทั้งในระบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและการให้บริการต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

 

ประเด็นที่ 2 ปัจจัยที่จะทำให้ภาครัฐกิจ ภาคธุรกิจ ประชากิจ ประสบความสำเร็จในยุค Pandemic New Normal

ปัจจัยที่ 1 ข้อมูลข่าวสาร (Information)

การมีข้อมูลที่ละเอียด ถูกต้อง แม่นยำ สำคัญต่อการพัฒนาองค์กร และการพัฒนาประเทศในยุค Pandemic New Normal โดยในปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ทำให้สามารถการเก็บข้อมูลรายบุคคลได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัญหาจากรากหญ้าและสามารถออกแบบนโยบายช่วยเหลือคนได้จริง ในขณะที่การทำธุรกิจในโลกปัจจุบัน การฟังเสียงของคนในองค์กรและสังคมเป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะเสียงของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ธุรกิจจะทำตามแผนธุรกิจเดิมไม่ได้ 

ปัจจัยที่ 2 เทคโนโลยีและดิจิทัล (Technologization and Digitalization)

โควิดเร่งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล โดยในช่วงที่มีการปิดเมือง (lockdown) เกิดการขยายตัวและเติบโตขึ้นของ e-commerce การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย big data การใช้หุ่นยนต์ และ ภาพเสมือนจริง หรือ ความเป็นจริงเสมือน (virtual reality)  แม้โลกมีแนวโน้มไปในทิศทางเทคโนโลยีและดิจิทัลอยู่แล้ว แต่โควิดเข้ามาเร่งให้แนวโน้มนี้เร็วขึ้น องค์กรและประเทศที่สามารถปรับตัวได้จะเอาตัวรอดผ่านวิกฤตและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้ได้

ปัจจัยที่ 3 ความร่วมมือ (Cooperation)

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างชาติและขับเคลื่อนองค์กรยุค Pandemic New Normal คือ ความร่วมมือ ซึ่งมี 2 ระดับ ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ กับ ความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำหรับความร่วมมือภายในประเทศ วิกฤตโควิดทำให้เราเห็นความสำคัญของความร่วมมือจากภาคประชาชน การสร้างชาติในยุคหลังโควิดที่มีความเสี่ยงสูง องค์กรภาคประชาชนจึงควรมีบทบาทในการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนความริเริ่มของภาครัฐกิจ รวมถึงชักชวนให้ทั้งสังคมและองค์กรธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมกันมากยิ่งขึ้น โดยเน้นสร้างสถานการณ์แบบชนะ-ชนะสำหรับทุกฝ่าย

ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ นานาประเทศควรมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารข้อความเดียวกันในประเด็นให้สหรัฐและจีนลดการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อเกิดความสมานฉันท์ระหว่างนานาชาติ ส่วนประเทศอาเซียนควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือในภูมิภาค โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงกัน

ปัจจัยที่ 4 พันธกิจ (mission)

องค์กรที่จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จในยุค Pandemic New Normal จะต้องมีพันธกิจเพื่อส่วนรวม มีขอบเขตกว้างขวาง และมุ่งเน้นระยะยาว กล่าวคือ ต้องไม่เพียงแต่คาดหวังผลกำไรหรือเอาตัวรอดในระยะสั้นเท่านั้น แต่ควรสร้างโอกาสให้คน รักษาการจ้างงาน เน้นคุณภาพชีวิตของคน และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม

            ผมเชื่อว่าทุกท่านจะได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์ ในการเตรียมพร้อมสำหรับยุค Pandemic New Normal จากการประชุมครั้งนี้ ผมหวังว่าแนวคิด ข้อมูล องค์ความรู้ต่าง ๆ จะช่วยยกระดับความปรารถนาในใจของท่านที่ต้องการเห็นประเทศไทยไปสู่ความอารยะ กระทั่งยินดีร่วมทำพันธกิจสร้างชาติด้วยองค์ความรู้ ศักยภาพ และทรัพยากรที่มี

ทั้งนี้ การประชุมนานาชาติเพื่อการสร้างชาติจัดเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2021 จะจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย วันที่ 9 – 10 กันยายน ภายใต้หัวข้อวิถีชีวิตเมืองกับการสร้างชาติ (Urban City Living and Nation-Building)\\\\\\\\\\\