ยุคโควิด คิดแต่ไม่ถึง ความเหลื่อมล้ำทับซ้อนยุคดิจิทัล

ยุคโควิด คิดแต่ไม่ถึง ความเหลื่อมล้ำทับซ้อนยุคดิจิทัล

ความเหลื่อมล้ำในสังคมก่อนโควิดแพร่ระบาดซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ถูกทับซ้อนด้วยความเหลื่อมล้ำในโลกดิจิตอลอีกชั้นหนึ่ง

นับตั้งแต่โควิดแพร่ระบาด การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนความจำเป็นพื้นฐานปัจจัยที่ห้า ของทุกคน เพราะชีวิตยุคนิวนอร์มอลทำให้เราต้องรักษาระยะห่าง ทุกคนเก็บตัวอยู่กับบ้าน โลกออนไลน์จึงกลายเป็นโลกใบเดียวที่เชื่อมผู้คนเข้าหากัน รวมไปถึงการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านระบบการลงทะเบียนรับสิทธิออนไลน์ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หากใครยังเข้าไม่ถึงโลกออนไลน์พวกเขาก็จะขาดโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ตามไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งมีต้นทุนชีวิตต่ำกว่าคนทั่วไป โอกาสที่พวกเขาจะถูกความเหลื่อมล้ำทับซ้อนสูงขึ้นในสังคมยุคดิจิทัลจึงมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion นำเสนอบทความเรื่องโควิด-19 คิดแต่ไม่ถึง กับความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัล ในเวทีสัมมนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 14 ส่งท้ายปี 2020 จัดโดยภาคีโคแฟค สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เป็นต้น เมื่อวันที่  26 พฤศจิกายน ..2563 ได้สรุปความเหลื่อมล้ำดิจิตอลออกมา 4 มิติ ดังนี้

มิติที่หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

เนื่องจากข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันไป แต่เราก็สามารถประเมินการเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยว่ามีอย่างน้อย 10 ล้านคน โดยพิจารณาจากข้อมูลปี 2562 ของ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ระบุว่ามีคนใช้อินเทอร์เน็ต 50.1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน แสดงว่ามีคนหายไป 16 ล้านคน โดยทาง กสทช. ใส่หมายเหตุไว้เล็กๆ ในเว็บไซต์ว่ายังไม่รวมโครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐที่เข้าถึงคนอีก 20 ล้านคน ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 มีการสำรวจผู้ใช้เครื่องมือดิจิทัลที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป โดยสุ่มตัวอย่างให้เท่ากับประชากรทั้งประเทศได้ ได้คำตอบว่า 40% ของไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต

การเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตดังกล่าวทำให้ผู้นั้นต้องเสียสิทธิ์ในการเข้าถึงเงินเยียวยาจากภาครัฐไปโดยปริยาย ยกตัวอย่างเช่นโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนเม..-มิ..2563 ในช่วงดังกล่าวมีรายงานว่าคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการลงทะเบียนออนไลน์

161113644530

มิติที่สอง การเข้าไม่ถึงเท่ากับความเสี่ยงตาย

ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในการเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตมีความหมายเท่ากับการเสี่ยงตายเพราะขาดความรู้ในการป้องกันโรค หรือขาดข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับการแพร่ระบาดตามสถานที่ต่างๆ หรือเสี่ยงอดอยากขาดความช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ลำบาก

เพราะหากประชาชนเข้าไม่ถึงเว็บไซต์หรือเฟสบุ๊คของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ก็ต้องรอติดตามผ่านสื่อดั้งเดิม เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่อาจไม่ทันท่วงที

ผู้นำเสนอบทความให้รายละเอียดในประเด็นนี้ว่า

ช่วงนั้นมีความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ตั้งหลายเรื่อง ตั้งแต่ตกลงอาการโรคมีอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงต่อมาเรื่อยๆ เช่น ข้อมูลองค์การอนามัยโลกเรื่องข้อแนะนำว่าควรหรือไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย ช่วงแรกถ้าจำได้คือบอกไม่ต้องใส่ ไม่อันตราย ไม่แพร่กระจายง่ายขนาดนั้น แต่สุดท้ายบอกว่าต้องใส่เพราะข้อมูลเปลี่ยนไป

ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การเข้าไม่ถึงข้อมูลที่อัพเดทของประชาชนที่เข้าไปไม่ถึงอินเทอร์เน็ตจึงนำไปสู่ความเสียงต่อการติดเชื้อโรคง่ายขึ้น รวมทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือเงินเยียวยาหรือการบริจาคต่างๆ เพราะไม่รู้ว่ามีแหล่งความช่วยเหลือที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ยังมีโอกาสถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพได้ง่าย ดังเช่น กรณีลุงขายเฉาก๊วยที่ไม่ทราบว่าเงินเยียวยาได้รับคนละเท่าไหร่และถอนเงินเองไม่เป็นจึงถูกมิจฉาชีพยักยอกเงินไปบางส่วน เป็นต้น

มิติที่สาม ทักษะดิจิตอลกับการตรวจสอบข่าวปลอม

ผู้นำเสนอบทความได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การขาดทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลที่เห็นได้ชัดช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 คือ การส่งต่อข่าวปลอม แต่โชคดีที่ในประเทศไทยยังไม่มีใครเสียชีวิตจากการหลงเชื่อแล้วทำตามข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมเหล่านั้น รวมถึงการใช้เครื่องมือดิจิทัลอย่างไม่รู้เท่าทัน แม้ด้านหนึ่งจะมีการใช้อย่างสร้างสรรค์ เช่น เปิดเพจรวมหางานในท้องถิ่น หรือสอนเทคนิคขายของออนไลน์ แต่อีกด้านหนึ่ง การขายบริการทางเพศหลากหลายรูปแบบและการชักชวนให้เล่นการพนันออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

มิติที่สี่ พลเมืองดิจิตอลกับการลดความเหลื่อมล้ำ

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดอีกเรื่องหนึ่ง คือ รัฐยังไม่ค่อยอยากเปิดเผยข้อมูล เช่น มีความพยายามของนักเทคโนโลยีในประเทศไทย ในการทำแอพพลิเคชั่นที่ระบุที่ตั้งร้านขายหน้ากากอนามัย แต่เพราะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งต่างจาก ไต้หวัน ที่รัฐส่งเสริมอย่างเต็มที่ จนแอพฯ แบบเดียวกันสามารถระบุได้อย่างแม่นยำทั้งที่ตั้งร้านค้าและจำนวนหน้ากากที่แต่ละร้านมี ดังนั้น การสร้างพลเมืองดิจิตอลขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมในช่วงสถานการณ์วิกฤตร่วมกับภาครัฐจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความช่วยเหลือผ่านเครื่องมือต่างๆ ได้มากขึ้น

หนทางลดความเหลื่อมล้ำของภาครัฐไทย

ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นหนึ่งในผู้แสดงความคิดเห็นต่อบทความชิ้นนี้กล่าวว่าช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ที่นำไปสู่การขาดโอกาสทั้งการศึกษาและการหางานที่มั่นคง เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงกันมาก่อนหน้านี้แล้ว กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นเพียงตัวเร่งให้เห็นชัดขึ้น เช่น เมื่อการระบาดรุนแรงขึ้นจนรัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ คนจำนวนไม่น้อยต้องตกงานเพราะไม่สามารถเปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ได้

ที่ผ่านมาในส่วนของรัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้ความจริงจังกับการปฏิรูปสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำให้ไม่มีข้อมูลที่จะดำเนินนโยบายแบบเฉพาะเจาะจงได้ เช่น มาตรการช่วยเหลือคนจนไม่ตรงเป้าเพราะรัฐไม่รู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน แต่ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส เช่น เมื่อรัฐมีข้อจำกัดในการรับมือ ท้องถิ่นกลับได้แสดงบทบาทมากขึ้นผ่านกลไก อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) หรือภาคสังคมที่ตั้งตู้ปันสุข ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมช่วยเยียวยาในช่วงวิกฤติได้อีกทางหนึ่ง และวิกฤติครั้งนี้ยังทำให้รัฐสามารถเก็บข้อมูลคนจนได้อย่างเป็นระบบโดยหากรัฐมีธรรมาภิบาลและมีการเชื่อมฐานข้อมูลก็จะเป็นประโยชน์มากในอนาคต

เบื้องหลังปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยมีสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ 1.รัฐมีกฎระเบียบที่ขาดการปรับปรุงให้ทันสมัย 2.รัฐอยากลดความเหลื่อมล้ำแต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำเสียเอง เช่น นโยบายประเภทแบ่งอำนาจแต่ไม่ยอมกระจายอำนาจ 3.รัฐละเลยในการสร้างสวัสดิการสังคม (Safety Net) หรือเน้นการช่วยเหลือมากกว่าการสร้างระบบรัฐสวัสดิการ

ธรรมาภิบาลของรัฐบาลดิจิทัล

.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้ความเห็นอีกหนึ่งท่านกล่าวว่า ปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำ ทั้งธรรมาภิบาลของรัฐบาลดิจิทัล(Governance Digital Government) อาจรุนแรงขึ้นท่ามกลางความระแวงสงสัยว่าข้อมูลที่เก็บไปเพื่อรายใหญ่หรือรายเล็ก ขณะที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบจากความล้มเหลวได้ เช่น หน่วยงานต่างๆ พากันบอกว่ามีข้อจำกัดด้านงบประมาณ

นอกจากนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐยังมีลักษณะรวมศูนย์อย่างมาก และในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านหนึ่งภาครัฐยังสามารถรวมศูนย์ผ่านสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อีกด้านหนึ่งพลังในการปรับตัวกลับเกิดมาจากความแข็งแรงของภาคสังคม

ถ้าจะถกเถียง Digital Citizenship อาจจำเป็นต้องถกมากกว่าด้านบวกหรือด้านลบ หรือข้อมูลลวง หรือข้อมูลปลอม บทบาทของพลเมืองดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่นอกสายตาของรัฐ น่าทำการศึกษาต่อไปที่ไม่ใช่เพียงเรื่องการต่อต้าน แต่รวมถึงการสร้างบทบาทของสังคมเพื่อกำกับดูแลทิศทางของรัฐ เรื่องธรรมาภิบาล เรื่องการดูแลความทุกข์ยากของคนในสังคมที่ไปไกลกว่าการแถลงข่าวจากส่วนกลาง การปฏิรูปของหน่วยงานต่างๆ ทั้งด้วยตนเองและด้วยการปฏิรูปร่วมกันท่ามกลางสังคมที่ตื่นตัวมากขึ้น จะทำให้เป็นวาระของสังคมได้อย่างไร

เวทีเสวนาครั้งนี้สะท้อนให้เราเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัลที่ดูเหมือน ไร้พรมแดนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแท้จริงแล้ว ยังมีคนเปราะบางอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในสังคมก่อนโควิดแพร่ระบาดซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว จึงถูกทับซ้อนด้วยความเหลื่อมล้ำในโลกดิจิตอลอีกชั้นหนึ่ง หนทางในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยจึงต้องมองทะลุให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนกันอยู่ในโลกดิจิตอลเพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง.