การค้าไทย-เมียนมา โอกาสจากความเปลี่ยนแปลง
ทั่วโลกต่างจับจ้องที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเมียนมา หลังกองทัพเมียนมาเลือกที่จะเข้ามามีบทบาทการเมือง บริหารประเทศโดยตรงอีกครั้ง
ไทยในฐานะเพื่อนบ้านเรือนเคียงและคู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ จึงสมควรไตร่ตรองอย่างหนักถึงท่าทีการแสดงออกของไทย เพราะการยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนั้นเป็นหลักการที่ประชาชนไทยทุกคนล้วนยอมรับได้
ตัวเลขจากธนาคารโลกชี้ว่า ไทยนั้นเป็นคู่ค้าที่สำคัญยิ่งของเมียนมา ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 2 เป็นรองก็เฉพาะประเทศจีนเท่านั้น การค้าขายระหว่างกันของเราอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1 ใน 5 ของการค้ากับต่างประเทศทั้งหมดที่เมียนมาทำการค้าด้วย
การค้าของเมียนมานั้นมีอัตราส่วนพึ่งพาการค้าชายแดนอยู่มาก หากเทียบกับหลายประเทศเช่นไทยที่เรานำเข้าส่งออกทางเรือที่แหลมฉบังสู่โลก ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์เมียนมายืนยันว่าการค้าผ่านชายแดนนั้นคิดเป็น 40% ของการค้าต่างประเทศทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจว่าตัวเลขการค้าต่างประเทศรวมเฉพาะแต่ไทย จีน และอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่เมียนมามีพรมแดนติดแล้วนั้นก็คิดเป็นมูลค่าเกินกึ่งหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศที่เมียนมามีทั้งหมด
ในแง่ของดุลการค้าระหว่างไทยกับเมียนมานั้น หากยึดตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ไทยแล้วจะเห็นว่า ไทยและเมียนมานั้นมีการค้าต่อกันเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง ไทยนั้นมีดุลการค้าเหนือเมียนมาอย่างสม่ำเสมอ หรือพูดง่ายๆ ว่าเราขายของให้เมียนมาจากการส่งออก มากกว่าเราซื้อของจากเมียนมาจากการนำเข้า อย่างปีล่าสุด (พ.ศ.2563) เราได้ดุลเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงเล็กน้อยหากเทียบกับปีก่อนหน้า (พ.ศ. 2562) ภายใต้สถานการณ์โลกที่ไม่ปกติจากภัยโรคระบาดโควิด-19
พิจารณาในแง่ของกลุ่มสินค้าที่เมียนมามีการค้าขายระหว่างประเทศจะพบว่า เมียนมานั้นมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่ 43% ของสินค้านำเข้าทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก ขณะที่สินค้าส่งออกที่สำคัญก็อยู่ในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุต่างๆ เช่น ทองแดง และสินค้าเกษตร เช่น ข้าว เป็นต้น
ทั้งหมดที่ผมเล่ามานั้น เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการที่รวบรวมจากกระทรวงพาณิชย์ไทย กระทรวงพาณิชย์เมียนมา และธนาคารโลกเท่านั้น แต่เชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงเห็นตรงกันว่าตัวเลขเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์ ตัวเลขการค้าที่แท้จริงคงมากกว่านี้อย่างแน่นอน สังเกตความความเจริญของเมืองชายแดนไทยเมียนมาและตัวเลขพ่อค้ากองทัพมดที่เดินทางเข้าออกไทยเมียนมาในทุกๆ วัน
ยังมีมิติอื่นๆ ในความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่ไทยควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนแสดงท่าทีของเรา ในแง่ของการลงทุนจะเห็นได้ว่า บริษัทสัญชาติไทยจำนวนมากได้ใช้โอกาสข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์เข้าไปทำการค้ากับเมียนมา ทั้งในภาคการผลิต อุตสาหกรรมและการเงิน
การเคลื่อนที่ของแรงงานก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่ควรจับตามอง เพราะถึงแม้เราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ขอให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ไทยเรานั้นจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานเมียนมาอย่างมาก ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ แรงงานเมียนมาในไทยที่มีกว่า 2.5 ล้านคนนั้นเข้ามาเติมเต็มเป็นฟันเฟืองสร้างเศรษฐกิจไทย เข้ามาทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ เช่น งานก่อสร้าง งานในโรงงานบางประเภท เช่น โรงงานแปรรูปอาหาร หรือแม้กระทั่งแรงงานในภาคบริการอย่างในร้านอาหารหรือในครัวเรือนเอง
การแสดงออกของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมานั้นสมควรพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้เป็นพื้นฐาน คิดถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ในขณะเดียวกันก็สมควรหาจุดสมดุลในการแสดงออกถึงการสนับสนุนให้เมียนมาเคารพถึงสิทธิของประชาชนเมียนมาจากการเลือกตั้ง
ในทุกวิกฤติหรือการเปลี่ยนแปลงย่อมมีโอกาสเสมอ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาครั้งนี้ก็เช่นกัน