'สองเด้ง'ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

'สองเด้ง'ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

'...อย่าได้รอความหวังนักท่องเที่ยวจะเพิ่มในช่วงหกเดือนก่อนสิ้นปี เพราะสถานการณ์โควิด 19 ทั้งโลกยังไม่มีความเสถียรใดๆ...'

ไม่เพียงนักท่องเที่ยวไม่มา ชุมชนต่างชาติในไทยเริ่มอยากกลับบ้าน

ไทยเราโดน "สองเด้ง" แน่นอน

ฤาโลกไร้พรมแดนที่เราพูดๆกันมาสองสามทศวรรษอย่างปักใจเชื่อว่าเป็นอนาคตของโลกนั้น  เป็นได้เพียง "มายาคติ"ที่ต้องทบทวนเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด  19     

ทันทีทันใด  พรมแดนแต่ละประเทศยกสูงขึ้น   แน่นหนาขึ้น  ถึงขั้นปิดตายไม่ให้เข้าออก   การผ่อนปรนเป็นไปอย่างมีเงื่อนไขและขึ้นๆลงๆไม่เสถียร  

เศรษฐกิจร้อยพันล้านในการท่องเที่ยวล่มลงในเวลาไม่กี่เดือน  ซึ่งอย่าคิดว่าไม่เป็นไร   มีตัวเลขที่น่าสนใจของ World Travel and Tourism Council แสดงว่านักท่องเที่ยวเข้าไทยประมาณปีละประมาณ  ๖ ล้านกว่าคนนั้น  นำรายได้เข้าประเทศ  ๑๐๙.๕ พันล้านดอลล่าร์   มีคนคิดให้เห็นภาพง่ายๆว่าเงินทุกห้าบาทใช้จ่ายกันในปี ๒๐๑๘   หนึ่งบาทมาจากการท่องเที่ยว (แต่ยังไม่มีใครทำตัวเลขออกมาให้เห็นว่าในหนึ่งบาทนั้นตกเป็นของคนไทยกี่สตางค์ถ้าหักรายได้ของธุรกิจต่างชาติในการท่องเที่ยวในไทยออกไป) หรือหากจะคิดคำนวณให้เห็นภาพอีกวิธีหนึ่งคือในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น  ๒๒.๒% ของรายได้ประชาชาติ                  

ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ทำให้เงินสะพัดน้อยลงและการทำงบประมาณก็เกือบขาดใจตามกันไป   ไม่ใช่เราประเทศเดียว   ทุกประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักสำคัญต่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก   เปิดๆปิดๆผ่อนคลายกระชับพรมแดนกันเป็นรายเดือน   เมื่อสองเดือนก่อน คนไทยไปกรีซไม่ต้องกักตัว   เดือนนี้เปลี่ยนเป็นต้องกักตัวเสียแล้ว

ที่รัฐบาลไทยหวังว่าการแง้มๆเปิด"พรมแดน" เพื่อการท่องเที่ยวตั้งแต่ตุลาคม ปีที่แล้วโดยมีวีซ่าอยู่ยาวให้ด้วย  ก็คงเป็นเพียงความฝันลมๆแล้งๆ   การท่องเที่ยวยังสลบไม่ฟื้น   ซึ่งถ้าคลี่ข้อมูลตัวเลขดู  ก็ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวโดยต่างชาติและวีซ่าชุมชนชาวต่างชาติในไทยได้เริ่มซบเซามาก่อนหน้านี้แล้ว  โควิด 19  เป็นเพียงปัจจัยซ้ำเติมที่หนักหน่วง

 กล่าวคือ  ค่าเงินบาทไทยที่แข็งติดต่อกันอย่างเสถียรเกือบสองปีที่ผ่านมา  ทำให้กำลังซื้อของเงินตราต่างประเทศลดฮวบลง  โดยเฉพาะเงินปอนด์  อีกทั้งโดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวอยู่ไทย ๙  วันไม่ถึง ๑๐ วัน อยู่แล้ว  จึงไม่แปลกที่ถึงทำโพรโมชั่นเชิญชวนให้วีซ่าอยู่ยาวสักแค่ไหน   ก็มากันกะปริบกะปรอยทั้งจากกลุ่มเอเชียตะวันออก (จีน  ไต้หวัน ญี่ปุ่น)ที่ครองแชมป์จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  รองลงมาคือจากกลุ่มประเทศยุโรป    สหรัฐฯ  ตะวันออกกลาง  ในกลุ่มประเทศอาเซียนและแอฟริกา    นี่ขนาดว่าไทยมีมาตรการความปลอดภัยด้านโรคระบาดโควิด  19   ในระดับดีต้นๆของโลก

แม้แต่ชุมชนชาวต่างชาติที่ทำงานและพำนักในไทยมานาน  สุขสโมสรตลอดมา  บ้างซื้อห้องพักคอนโดไว้เมื่อกฎหมายอนุญาตและยังยอมอยู่เมืองไทยต่อมาหลังมาตรการวีซ่าเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่กุมภาพันธ์  ๒๐๑๙  เช่นเพิ่มเงินประกันอยู่ยาว   เพิ่มประกันสุขภาพ   ทำให้ชาวต่างชาติประเภทหลังเกษียณรวมแล้วต้องมีเงินสดอย่างต่ำ   ๘๐๐,๐๐๐ บาทสองเดือนล่วงหน้าในบัญชีธนาคารในไทยก่อนยื่นเรื่องขอวีซ่า   ไหนยังจะต้องมีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า ๖๕,๐๐๐ บาท

แต่ในเมื่อโควิด 19   ได้สร้าง"พรมแดน" อย่างไม่ทันตั้งตัวและหนักหน่วงทั้งระดับประเทศต่อประเทศ   บุคคลต่อบุคคล  ทันทีทันใด ก็เกิดกำแพง "พรมแดน"ที่ตัดขาดเขาออกจากผู้คนสิ่งแวดล้อมทุกอย่างในไทย    และครอบครัวญาติพี่น้องที่ประเทศบ้าน  สภาวะนี้ยาวไกลไปอีกเท่าไรไม่มีใครรู้   พวกเขาบอกตัวเองว่าถึงเวลาแล้วกระมังที่ต้องคิดใหม่เมื่อโลกไม่ได้ไร้พรมแดนอย่างที่เคยคิดและมีชีวิตอยู่มา  พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือที่เคยข้าม"พรมแดน"เดินทางเข้าออกกลับบ้านเมื่อไรก็ได้ ใครมาเยี่ยมก็มาได้

ก็อารมณ์แบบเดียวกันนั่นแหละ  สำหรับชุมชนคนไทยอยู่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราวไม่ใช่ในฐานะพลเมือง   ยิ่งถ้าประเทศนั้น ๆควบคุมดูแลโรคระบาดได้ไม่ดีเท่าไทย  ก็ยิ่งอยากและดิ้นรนจะกลับ "บ้าน"  ตลอดปีกว่าๆมานี้   คนไทยดิ้นรนกันสาหัสที่จะนำตัวลูกหลานศึกษาต่อในบางประเทศให้รีบกลับบ้าน   ณ วันนี้ที่กำลังจะส่งไปเรียนก็ยังรีๆรอๆ  แม้ได้เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ   

ท้ายที่สุด   คนเราก็ได้สติ  กลับมาหาของจริงที่มีความหมายกับชีวิต คือ ครอบครัว   ถ้าถึงขั้น"เสี่ยง" ถูกตัดขาดจากครอบครัวแบบไม่ทันตั้งตัว ต้องฝ่าด่านต่าง ๆ เพื่อออกจากที่พักของตัวเองไปที่ไหนสักแห่งได้โดยเฉพาะข้าม "พรมแดน" กลับประเทศบ้าน  อย่าว่าแต่คนวัยเกษียณเลย  คนวัยทำงานก็เริ่มคิดใหม่เพราะห่วงพ่อแม่ที่ประเทศบ้าน

ธุรกิจคมนาคมทางอากาศทางบกทางทะเล   ธุรกิจใหญ่น้อยระดับโรงแรมห้าดาวจนถึงที่พักขนาดเล็ก  คูหาร้านอาหารและแผงลอยต่าง ๆขายสินค้าขายของที่ระลึกต่างจึงต้องทยอยปิดไป   เป็นประจักษ์พยานที่ไม่ต้องพูดอะไรอีก

บทสรุปก็คือ เราต้องพูดความจริงกัน  สิ่งใดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของต่างชาติ (รวมทั้งของคนไทยเราเอง)และการบริการชุมชนชาวต่างชาติทั้งหลายทั้งปวงที่ทำไปแล้ว  กำลังทำอยู่  และกำลังสร้างโครงการต่าง ๆเพื่อการนี้  ไม่ว่าจะในด้านสิ่งปลูกสร้างหรือการศึกษาเตรียมแรงงานด้านบริการ   ได้โปรดคิดใหม่รับมือสถานการณ์ใหม่โดยเร็ว

อย่าได้รอความหวังนักท่องเที่ยวจะเพิ่มในช่วงหกเดือนก่อนสิ้นปี เพราะสถานการณ์โควิด 19 ทั้งโลกยังไม่มีความเสถียรใด ๆเลย.