ด่านอรหันต์ MBA

ด่านอรหันต์ MBA

เข้าสู่เดือน ก.พ.กันแล้ว เสมือนฤดูแห่งการสอบแข่งขันเรียนต่อ เพื่อหวังจะเติบโตก้าวหน้าในการเรียน อาชีพการงาน ได้ทำงานบริษัทดีๆ เงินดีๆ

*ผู้เขียน รศ.ดร.เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อีเมล [email protected]


เข้าสู่เดือน ก.พ.กันแล้ว เสมือนฤดูแห่งการสอบแข่งขันเรียนต่อ ไม่ว่าเด็กเล็ก (สอบเข้าโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม) เด็กโต (สอบแอดมิชชันเข้ามหาวิทยาลัย) หรือคนทำงานรุ่นใหม่ (สอบเข้าหลักสูตรปริญญาโท) เพื่อหวังจะเติบโตก้าวหน้าในการเรียน อาชีพการงาน ได้ทำงานบริษัทดีๆ งานดีๆ เงินดีๆ

สังคมไทยเป็นสังคมที่แข่งขันเรื่องประวัติการศึกษา (qualification-competitive society) ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่เป็นประเทศพัฒนาทีหลัง (latecomer) จึงขวนขวายกันสอบเข้าสถาบันการศึกษาชื่อดัง เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียวที่ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโซลที่เกาหลีใต้ มหาวิทยาลัย NUS ที่สิงคโปร์ มหาวิทยาลัย UP ที่ฟิลิปปินส์ (ผู้เขียนเคยได้ยินคนฟิลิปปินส์บอกว่าใครเข้ามหาวิทยาลัยยูพีได้ ถือเป็นคนละ species (สายพันธุ์) กับคนอื่นเลยทีเดียว)

ยิ่งช่วงโควิดมีการล็อกดาวน์ การเรียนเปลี่ยนจากห้องเรียนเป็นออนไลน์ กดดันอย่างหนักทั้งนักเรียนผู้สอบ ผู้ปกครอง ครู ติวเตอร์ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่ง MBA หรือโครงการปริญญาโททางการบริหารธุรกิจก็เป็นอีกหลักสูตรหนึ่งที่เป็นเสมือนใบเบิกทางสู่ตำแหน่งผู้บริหารของไทย

มีข่าวออกมาว่าคุณอีลอน มัสก์ ผู้บริหารของบริษัท Tesla บอกว่า ผู้บริหารในอเมริกาที่จบ MBA Ivy League (มหาวิทยาลัยชั้นนำ) ส่วนใหญ่มีความคิดล้าสมัยไม่ทันยุคแล้ว กระทบต่อการตัดสินใจเรียนต่อ MBA ไม่มากก็น้อย หรือเริ่มได้ยินคนบอกว่ายุคนี้เรียนรู้จากโลกออนไลน์ได้ง่าย ใบปริญญาบัตรไม่มีความหมายแล้ว

แต่ถ้าเป็นหลักสูตรที่ “เข้ายากจบยาก” อย่างที่ MBA ธรรมศาสตร์คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องฝ่าด่านอรหันต์สารพัดด่านราวกับสำนักบู๊ลิ้ม ตอนสอบเข้ามีเกณฑ์คะแนน SMARTII และ TUGET ที่สูง ถ้าสอบแล้วคะแนนไม่ถึงก็ไม่มีสิทธิเข้าเรียน เป็นหลักสูตรที่คนเก่งเท่านั้นที่จะเข้าได้ คนเข้าไม่ได้ก็ต้องขอให้พัฒนาตัวเองมาสอบกันใหม่ เพราะต้องมีวิทยายุทธพื้นฐานสูงพอที่จะเรียนเนื้อหาเข้มข้นได้

พอเข้ามาแล้วอย่าเพิ่งนอนใจ ต้องฝ่าด่านอรหันต์ทางวิชาบัญชี วิชาการเงิน วิชาการตลาด สถิติวิเคราะห์ และอื่นๆ ที่รออยู่ วิชาบังคับไหนสอบไม่ผ่านก็ต้องเรียนซ้ำจนกว่าจะผ่าน ปัจจุบันหลักสูตรใช้เวลาเรียน 2 ปีๆ ละ 3 เทอม เรียนกันแน่นคุ้มค่าเทอม อาจารย์รุ่นพี่บอกว่าในอดีตสมัยศาสตราจารย์ สังเวียน อินทรวิชัย ผู้ก่อตั้ง MBA ธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นตำนานแห่งแรกของไทย ต้องเรียนกัน 3 ปีกว่าจะจบ (ต้องขอคารวะอาจารย์และผู้เรียนในยุคนั้น)

ก่อนเรียนจบเป็นมนุษย์ทองคำ จะต้องสอบ Simulation Game และยังต้องส่ง IS หรืองานค้นคว้าอิสระ (งานเดี่ยว ทำคนเดียว อยู่ในห้องสมุดออนไลน์ของมหาวิทยาลัยไปตลอดกาล) ด้วยความที่ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ให้กับสังคมไทย กว่านักศึกษาจะสอบผ่าน IS คงจำกันได้ไม่ลืม บางคนโชคดีเทอมเดียวผ่าน บางคน 2 เทอมบ้าง หรือไม่ผ่าน (ไม่จบ) ก็มีทุกปี

นายจ้างที่ต้องการคนเก่งทำงานมารอที่ MBA หลักสูตรเข้ายากจบยากคงไม่ผิดหวัง เพราะอาจารย์กว่า 20-30 ท่านช่วยกันบ่มเพาะ ประเมินให้คะแนนกันโดยมิได้นัดหมาย แต่อาจจะต้องรอคิว เพราะปีนึงๆ ผลิตได้ไม่มากนัก สร้างคนต้องใช้พลังกายใจ (อาจารย์จอมยุทธผมหงอกขึ้นกันถ้วนหน้า)

บทบาทของสถาบันการศึกษานอกจากจะเสริมสร้างทักษะทั่วไป (general skills) ทักษะด้านอาชีพ (occupational skills) ให้กับนักศึกษาตามทฤษฎีทุนมนุษย์ (human capital) ของศาสตราจารย์แกรี่ เบคเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังมีอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ (ซึ่งเป็นอีกเหตุผลของการดำรงอยู่ของสถาบันการศึกษา) คือ การคัดกรองคนเก่งแยกออกจากคนไม่เก่ง (screening) และการส่งสัญญาณ (signaling) บอกนายจ้างว่าคนไหนเก่งมีคุณภาพมากกว่า

นายจ้างไม่ได้มีเวลาที่จะคัดคนได้ถี่ถ้วน โดยสอบข้อเขียนหรือสอบสัมภาษณ์เพียง 1-2 ชั่วโมง ตามทฤษฎีความไม่เท่ากันของข้อมูล (asymmetric information) นายจ้างไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครที่เพียงพอ ผู้สมัครต่างหากที่มีข้อมูลจริงว่าทำอะไรได้บ้างมากกว่านายจ้าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรับคนที่ไม่ใช่ (เข้าไปทำงานแล้วทำไม่ได้อย่างที่คุยตอนสัมภาษณ์ จะไล่ออกก็ไม่ได้) สถาบันการศึกษาจึงเป็นกลไกช่วยนายจ้างคัดเลือกคน อันนี้ก็เป็นทฤษฎีที่ได้รับรางวัลโนเบลเหมือนกัน ของศาสตราจารย์ไมเคิล สเปนซ์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และโจเซฟ สติกลิตส์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โต้เถียงกับทฤษฎีทุนมนุษย์อยู่ยุคหนึ่ง

ในกรณีของหลักสูตร MBA ออนไลน์ต้องดูว่าทำบทบาทนี้ได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็เพียงตอบสนองการสร้างทุนมนุษย์ (ทักษะทั่วไป) ไม่ได้ตอบสนองการส่งสัญญาณให้แก่นายจ้าง แต่หลักสูตร MBA ที่เปิดสอนในห้องเรียนจริงของมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย ไม่ว่าจะเส้าหลิน บู๊ตึ๊ง ง้อไบ๊ หรือหัวซาน ทำหน้าที่ตรงนี้กันอย่างเต็มที่

ขอให้กำลังใจทุกคน ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กโต และคนทำงานรุ่นใหม่ ที่กำลังจะสอบเข้าสถาบันการศึกษาที่หมายปอง เพราะเป็นวิธีพิสูจน์ความเก่ง ที่กว่าจะสำเร็จได้นั้นเหนื่อยก็จริง แต่เป็นวิธีการที่เหนื่อยน้อยที่สุด เพราะถ้าเราจะพิสูจน์ด้วยวิธีอื่น จะต้องมีผลงานให้คนเห็นประจักษ์ ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างนานกว่า ยากกว่ายิ่งนัก

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่ได้รับรางวัลโนเบลมา 2 สมัยล่าสุด โดยศาสตราจารย์เดเนียล คาเนห์แมน และริชาร์ด ธาเลอร์ ก็บอกเช่นกันว่า ถ้าคิดเร็วๆ แบบ System 1 การศึกษาบ่งบอกคุณภาพมนุษย์ แต่หากนั่งวิเคราะห์ Analytics หรือคิดช้าๆ แบบ System 2 คุณภาพมนุษย์เกิดจากการศึกษาและปัจจัยอื่นๆ เช่น ประสบการณ์ แต่มนุษย์มักคิดไว ใช้อารมณ์หรือประสบการณ์ก่อนหน้าตัดสินใจ พวกเราจึงถูกสะกิด (Nudge) ให้เลือกเดินมาตามทางเดินที่ถูกจัดให้ (default choice) หรือขวนขวายสอบแข่งขันกันเข้าสถาบันการศึกษาชื่อดังเช่นนี้

สังคมสูงวัยระดับสุดยอดกำลังจะมาเยือนในไม่ช้า จำนวนนักศึกษาที่ลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อการสอบแข่งขันในอนาคต แต่บทบาทของมหาวิทยาลัยในการคัดกรองคนเก่งให้แก่นายจ้างยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน “การบริหารดาวเด่นและเส้นทางสู่ผู้บริหารระดับสูง ในมิติทางเศรษฐศาสตร์” ของผู้เขียนค่ะ ขอให้สมหวังกันทุกคนนะคะ