หมากเกมนี้ของ Facebook
วันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ชาวออสเตรเลียจำนวนมากที่เข้าใช้ Facebook ต้องเกิดอาการประหลาดใจอย่างงงงวย ที่ไม่สามารถเปิดดูข่าวสารได้เหมือนทุกวัน
ทั้งนี้เพราะ Facebook ได้ตัดสินใจบล็อกไม่ให้ผู้ใช้ Facebook ที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียเข้าไปดูข่าวสารเหล่านั้นได้อีกเหมือนเคย เรื่องนี้เป็นผลมาจากข้อขัดแย้งระหว่าง Facebook กับรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเป็นภาครัฐที่มีอำนาจในการออกระเบียบข้อบังคับมาใช้กับแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ (News Media Bargaining Code) เพื่อบังคับให้แพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่อย่าง Facebook และ Google ต้องแบ่งรายได้ให้กับสำนักข่าวที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหารายงานข่าวสารที่มีการนำไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์อีกต่อหนึ่ง
ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มและบริษัท “Big Tech” ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจควบคุมเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่เชื่อมโยงผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งสามารถใช้มาตรการตอบโต้รัฐบาลของออสเตรเลียด้วยการปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้บริการในออสเตรเลียทั้งประเทศเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มาจากสำนักข่าวต่าง ๆ ได้เหมือนกับผู้ใช้บริการของ Facebook ในประเทศอื่นทั่วโลก
กรณีนี้กลายเป็นกรณีศึกษาจริงที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดเจน จากที่เคยเป็นเพียงปัญหาที่มีการคาดการณ์กันล่วงหน้าในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ภายใต้หัวข้อปัญหาเรื่อง “two-side platforms” ซึ่งมีรายละเอียดโดยย่อดังนี้ หากภาครัฐต้องการจะจัดเก็บภาษีรายได้จากผู้ให้บริการแบบ Over the top services หรือ OTT อย่างเช่น Facebook หรือบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่แล้ว (ซึ่งก็คล้ายกับกรณีที่รัฐบาลออสเตรเลียต้องการบังคับให้ Facebook แบ่งรายได้บางส่วนให้กับสำนักข่าวอื่นด้วย) โดยภาครัฐอาจทำได้ในทางอ้อมด้วยการตั้งราคาค่าใช้บริการของ Internet Service Providers (ISPs) ที่ภาครัฐเป็นเจ้าของให้สูงขึ้นในบางกลุ่มของผู้ให้บริการแบบ OTT (เช่น Facebook)
แต่ Facebook ก็อาจแก้เกมด้วยการปิดกั้นไม่ให้ผู้คนในประเทศนั้น ๆ เข้าถึงบริการข่าวสารของ Facebook ที่มีคุณภาพในระดับเดียวกับประเทศอื่น (คล้ายกับที่ Facebook กำลังตอบโต้มาตรการของรัฐบาลออสเตรเลียในขณะนี้) ซึ่งก็จะทำให้ผู้คนของประเทศนั้นไม่ได้รับประโยชน์จากบริการของ Facebook ที่เท่ากับประเทศอื่น ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเหล่านั้นลดการใช้บริการของระบบ ISPs ในประเทศที่ต่างจากแพลตฟอร์มแบบ OTT (ซึ่งในกรณีของ Facebook นี้ มีรายงานข่าวว่า เพียงในวันแรกนั้น จำนวนครั้งที่เว๊บไซต์ถูกเข้าชม (page views) ที่ส่งจาก Facebook ไปสำนักข่าวในออสเตรเลียนั้น ได้ปรับลดลงไปถึงร้อยละ 93)
อันที่จริงแล้ว ภาครัฐในหลาย ๆ ประเทศก็มีความต้องการจะเก็บภาษีกับแพลตฟอร์มอย่าง Facebook มานานแล้ว ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยที่มีบางฝ่ายเสนอให้รัฐบาลดำเนินการจัดเก็บภาษีกับบริการประเภท OTT ที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกับทีวีดิจิทัลไทย (ที่ต้องจ่ายภาษีให้กับภาครัฐ) ซึ่งมาตรการจัดเก็บภาษีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในประเทศได้ประโยชน์โดยตรง แต่จะทำให้ผู้บริโภคข่าวสารทั่วไปอาจต้องเสียประโยชน์ เพราะอาจถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงบริการของ Facebook ในระดับที่เคยได้มาก่อน
ประเด็นข้อโต้แย้งหลักของผู้บริหาร Facebook ต่อท่าทีของรัฐบาลออสเตรเลียก็คือว่า Facebook ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ขโมยเนื้อหาข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ เพื่อนำมาเสนอในแพลตฟอร์มของตน แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นฝ่ายสำนักข่าวต่าง ๆ เองที่มาอาศัยใช้แพลตฟอร์มของ Facebook เพื่อเผยแพร่โดยสมัครใจ
อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของ Facebook ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดการปิดกั้นการเข้าถึงข่าวสารของสำนักข่าวทั่วไปแล้ว ก็ยังมีผลลามต่อไปถึงการปิดกั้นการเข้าถึงบริการฉุกเฉิน (emergency services) บางประเภทโดยไม่ตั้งใจด้วย ซึ่งทาง Facebook ก็ได้แก้ปัญหาให้เมื่อได้รับการแจ้งเตือนแล้ว
ทางด้านของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Scott Morrison ก็ได้ออกมาตอบโต้การกระทำของ Facebook ในครั้งนี้ว่า ถือเป็นการบอกเลิกความเป็นเพื่อนกับออสเตรเลีย (unfriend Australia) และตนจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการกระทำดังกล่าวของ Facebook ในครั้งนี้
การกระทำที่แข็งกร้าวของ Facebook เที่ยวนี้ อาจมองได้ว่าเป็นเพียงยุทธวิธีการแสดงศักยภาพของตนที่มีต่อชีวิตประจำวันของผู้คนที่ใช้สื่อสังคมบนแพลตฟอร์มสมัยใหม่ จึงเป็นเพียงการแสดงอำนาจการต่อรองของ Facebook เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์กับสายตาของผู้นำรัฐบาลออสเตรเลีย ก่อนที่จะได้เปิดการเจรจากันใหม่อีกรอบในเร็ว ๆ นี้
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาดูกันอย่างไม่กะพริบต่อไปว่า หมากเกมนี้ของ Facebook จะลงเอยกันอย่างไรในท้ายที่สุด.