การตัดสินใจบนความย้อนแย้ง

การตัดสินใจบนความย้อนแย้ง

'ผู้นำ' ที่สามารถบริหารจัดการองค์กรต่างๆ ได้อย่างราบรื่นภายใต้สถานการณื COVID-19 ในวันนี้ ต้องถือว่าเป็นผู้นำที่ 'ไม่ธรรมดา' จริงๆ

       ว่ากันว่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ก็คือ “ผู้ที่กล้าตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนและบน “ข้อมูล” เท่าที่มี  ซึ่งทำให้ความสามารถในการตัดสินใจของผู้นำมักจะขึ้นอยู่กับ “ข้อมูล” เป็นสำคัญ

       ข้อมูลที่ถูกต้องและทันการณ์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้นำทุกยุคทุกสมัย แต่แท้จริงแล้ว การตัดสินใจยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่บ่งชี้ถึง ศักยภาพของผู้นำ  โดยเฉพาะ ปัจจัยที่ย้อนแย้งกัน ระหว่างเรื่องต่อไปนี้

  • ทฤษฎี กับ ความเป็นจริง
  • วิชาการ กับ ประสบการณ์
  • ศาสตร์ กับ ศิลป์
  • องค์รวม กับ รายละเอียด
  • เป้าหมาย กับ วิธีการ
  • ถูกต้อง กับ ถูกใจ  เป็นต้น

               หลายต่อหลายครั้งที่ผู้นำและผู้บริหารต้องตัดสินใจโดยต้องเลือกเอาระหว่าง “วิชาการ” กับ “ประสบการณ์” ที่ขัดแย้งกันก็ได้ เช่น การต้องตัดสินใจลงทุนภายใต้เวลาที่จำกัด (ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว) ด้วยตัวเลขทางการเงินที่เหมาะสม   แต่จากประสบการณ์ทางการตลาดที่ผลิตภัณฑ์ออกตัวได้ช้า  อาจมีคู่แข่งหรือคนเลียนแบบ  ซึ่งทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าและไม่คุ้มค่าเหนื่อย

               บ่อยครั้งที่ผู้นำต้องเลือกเอาระหว่าง “เป้าหมาย” กับ “วิธีการ” ขณะที่ผู้นำส่วนใหญ่ต้องการให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็วด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ (ที่ถูกต้อง)  แต่วิธีการใดๆ ที่หลากหลายก็จะไม่สามารถรักษามาตรฐานหรือคุณภาพได้ เพราะเหตุที่ว่าวิธีการไม่แน่นอน คุณภาพก็ไม่เกิด

               แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในวันนี้  ก็คือ “ผู้นำประเภทที่ตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน”  โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้าน “เทคโนโลยีและ นวัตกรรม  ซึ่งทำให้ วิธีการบริหารจัดการ ธุรกิจอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมือหลายปีก่อนแทบจะเปลี่ยนไปหมดแล้วในวันนี้

               แม้ว่าวันนี้  เราอาจจะเป็นผู้นำองค์กร และนึกว่า เราจะควบคุมและบริหารจัดการทุกอย่างได้ตามที่ผ่านๆ มา  แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนรุ่นหลังหรือรุ่นลูกหลานของเราต่างหากที่ “ยึดครองโลก” นี้ไว้   เพราะพวกเขาทำการบ้านโดยใช้คอมพิวเตอร์ เขียนและติดต่อกัน (จดหมายถึงกัน) ด้วย E-mail และไลน์พูดคุยประชุมกันออนไลน์  และดูคลิปวีดีโอบนโทรศัพท์มือถือ

               แม้เราจะพูดได้ว่า เราก็ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็น  แต่วันนี้เราก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลกแห่งวิทยาการและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเหล่านั้น เวลานี้ เราอยู่ในช่วงเวลาของ “การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากทั้งแบบปฏิรูปและปฏิวัติ  ซึ่งทำให้ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

               ปรากฎการณ์ซึ่งเราพบในยุคของ IoT และช่วงที่เฟื่องฟูของการมีเว็บไซต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นนี้ ก็คือ การทำให้นักคิดนักสร้างสรรค์จำนวนมากเกิดขึ้นด้วย และสามารถใช้เทคนิคใหม่เหล่านี้อย่างเชี่ยวชาญ จนเกิดโมเดลใหม่ๆ ทางธุรกิจ (New Business Model) หลายรูปแบบ  ซึ่งยังคงต้องการการวิเคราะห์ที่แม่นยำทางเศรษฐกิจที่ควบคู่กันไป  เพื่อพิสูจน์ผลงานใหม่ๆ เหล่านั้น

               ทุกวันนี้  องค์กรต่างๆ  จึงมุ่งไปที่ “โอกาส ที่จะนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ มาประยุกต์  เพื่อการลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพ เป็นหลัก

               ดังนั้น งานของเราในฐานะ “ผู้นำ”  จึงไม่เคยวุ่นวายและลำบากเท่าทุกวันนี้มาก่อน  เราต้องเริ่มจริงจังกับปัญหาในการปรับเปลี่ยนองค์กรของเรา   ตลอดจนการนำพาองค์กรและพนักงานไปสู่เป้าหมาย  ในขณะที่กฎเกณฑ์ทางธุรกิจอุตสาหกรรม เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  เราจะสร้างบรรยากาศในการทำงานอย่างไรให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรร์ ควบคู่กับความสามารถที่จะดำรงไว้ซึ่งจุดเด่นจุดแข็งทั้งหลายขององค์กรได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

               เมื่อเราต่างยอมรับว่า “คน เป็นทรัพยากรมีความสำคัญที่สุดขององค์กร  เราก็ควรจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า  เราได้พัฒนาคนของเราอย่างไรบ้างทั้งในเรื่องของ Re-skill, Up-skill และ Mindset  ครับผม !