เศรษฐกิจโลกหลังโควิด

เศรษฐกิจโลกหลังโควิด

เริ่มจะมองเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เมื่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ขยายแพร่หลายในหลายประเทศกันมากขึ้น

            เมื่อปีที่แล้ว การระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกได้นำไปสู่การล็อกดาวน์ปิดประเทศ และส่งผลกระทบไปถึงภาคการผลิต บริการขนส่ง และภาคท่องเที่ยว จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวติดลบราวร้อยละ 3.9 และการจ้างงานเต็มเวลาได้หดหายไปราว 255 ล้านคนทั่วโลกตามรายงานของ UNTAD 

ประเทศที่สามารถเป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจโลกเที่ยวนี้ ก็คือสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศแรกที่เผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 ก่อนใคร แต่จีนก็สามารถควบคุมและหยุดการระบาดได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีการระบาดของโควิดในเวลาต่อมา

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดหนักของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาจนต้องมีการออกมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายระลอก

ล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ผ่านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะมีนัยสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระดับมหภาคของสหรัฐ โดยแผนการพื้นฟูและเยียวยาดังกล่าวจะครอบคลุมแผนการแจกเงินแบบให้เปล่าโดยตรงจำนวน 1,400 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ที่มีรายได้ราว 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ให้การอุดหนุนด้านสิทธิประโยชน์เรื่องประกันการว่างงาน ให้การอุดหนุนเรื่องค่าเช่า ค่าอาหาร ค่าประกันสุขภาพ และอื่น ๆ 

นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐได้วิเคราะห์ว่า ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ จะมีการใช้เงินราว 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคที่มีส่วนต่างของระดับผลผลิตจริงต่อระดับผลผลิตตามศักยภาพ (output gap) อยู่ประมาณเดือนละ 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 ซึ่งหมายความว่าแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อเดือนของสหรัฐเที่ยวนี้จะมีมากเกินพอเสียด้วยซ้ำ เพราะมันจะสูงกว่าขนาดส่วนต่างในระดับผลผลิตจริงต่อระดับผลผลิตตามศักยภาพ (output gap) ถึงราว 3 เท่าตัว

ด้วยขนาดของเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะมากเกินพอนี้ ผนวกกับมาตรการการฉีดวัคซีนที่กระจายครอบคลุมประชากรได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น จึงคาดได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐต่อจากนี้น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จนนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส เองคาดว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ ภาระการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะไปเพิ่มข้อจำกัดให้ภาครัฐต้องเสียโอกาสในการลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนหนทางที่มีสภาพเก่าทรุดโทรมแล้ว

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ยังจะมีผลบวกต่อตลาดหุ้นในสหรัฐด้วย เพราะตลาดหุ้นจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่านักลงทุนจำนวนหนึ่งจะเริ่มมีความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อและการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่บริษัทขนาดใหญ่และกลางในตลาดหุ้นสหรัฐที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีก็ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีผลประกอบการดีในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐมีลักษณะของการฟื้นตัวแบบรูปตัว “K” ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น

ดังนั้น มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลของสหรัฐที่ผ่านมาจึงพุ่งเป้าไปที่การเยียวยากลุ่มผู้เปราะบางและกลุ่มผู้สูงอายุในสังคมอเมริกัน เป็นหลัก

           ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศจีน และประเทศสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ซึ่งต่างก็มีบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถก่อให้เกิดดิจิทรัล ดิสรัปชัน และเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโลกได้รวดเร็วในช่วงโควิด-19) ได้ก่อให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนของกลุ่มที่เป็นห่วงโซ่การผลิตออกจากประเทศจีน แล้วหันไปลงทุนในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย ซึ่งได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซียกันมากขึ้น เป็นต้น

ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับการที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ได้มีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตบางประเภทในประเทศไทย (ที่เริ่มประสบปัญหาการแข่งขันในตลาดโลก) เพื่อไปตั้งที่เวียดนามและอื่น ๆ กันมากขึ้น

                การพบปะเจรจากันล่าสุดระหว่างตัวแทนระดับสูงของจีนและสหรัฐที่รัฐอลาสก้าเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็ไม่เกิดผลคืบหน้าอะไรมากนัก แต่ในทางกลับกัน กลับเกิดมีการโต้แย้งกล่าวหากันไปมาระหว่างตัวแทนของทั้งสองฝ่ายทั้งในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน

อุปสรรคสำคัญของความขัดแย้งหลักระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องการค้า ส่วนหนึ่งก็ยังคงเป็นทัศนคติของผู้บริหารภาครัฐและสังคมอเมริกันเองที่มองว่า การดำเนินมาตรการที่ไม่เป็นธรรมของจีนนั้นเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับจีน แทนที่จะยอมรับว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้น น่าจะมาจากการที่ระดับการออมภายในประเทศสหรัฐนั้นมีค่าที่ต่ำเกินไปมากกว่า

              ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอียู หากวัคซีนสามารถเอาชนะโควิดได้แล้ว ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญด้วย เพราะที่ผ่านมาธนาคารกลางอียูได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อไปเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอียูที่ถดถอยในช่วงโควิด

ดังนั้น หากอียูสามารถเอาชนะโควิดได้แล้ว ก็เชื่อว่าอุปสงค์มวลรวมในส่วนที่เป็นความต้องการบริโภคภาคเอกชนที่ถูกกดชะลอไว้ในช่วงที่ผ่านมา จะกลับมาพุ่งทะยานสูงขึ้นจนกลายเป็นแรงกดกันทางด้านเงินเฟ้อได้ในที่สุดหากธนาคารกลางอียูไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อได้ ด้วยเกรงว่าจะไปทำให้เศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวต้องเกิดอาการสะดุดติดขัดได้

            ท้ายที่สุดนี้ เราก็คงต้องย้อนกลับมามองตัวเองว่า เรายืนอยู่ตรงจุดไหนของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ และเราจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่ากับในอดีตอีกหรือไม่อย่างไร.