ข้อคิดสำหรับ‘กรรมการบริษัท’จากวิกฤติโควิด-19

ข้อคิดสำหรับ‘กรรมการบริษัท’จากวิกฤติโควิด-19

ความสำคัญของธรรมาภิบาล หรือความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปรากฏให้เห็นชัดเจนในวิกฤติโควิด-19

วิกฤติคราวนี้เหมือนเป็นตัวแม่ของดิสรัปชั่นที่ทุกอย่างเกิดขึ้นได้และมีผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลกพร้อมกันอย่างรุนแรง สำหรับภาคธุรกิจผลกระทบจากวิกฤติมีทั้งสองด้าน ด้านอุปสงค์ที่ความต้องการซื้อสินค้าหายไปอย่างฉับพลัน คือ สินค้าขายไม่ออก ด้านอุปทานที่การระบาดสร้างปัญหาทำให้การผลิตไม่สามารถทำได้ทั้งจากผลกระทบที่มีต่อกำลังแรงงานที่ป่วย ขาดงาน และข้อจำกัดในการหาวัตถุดิบและขนส่งสินค้า เป็นผลกระทบสองทางที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนี้จากผลของวิกฤติ สังคมเองก็เปลี่ยนเร็วมาก ทั้งในแง่วิถีการใช้ชีวิตที่ต้องปรับตัวตามวิกฤติที่เกิดขึ้น ความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างความต่อเนื่องให้กับการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภค ความสนใจของประชาชนที่มีมากขึ้นในเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการทำธุรกิจ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินความสามารถของระบบต่างๆ ที่เราได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับและบริหารจัดการธุรกิจ ผลคือ บริษัทจำนวนมากต้องล้มหายตายจากไป และที่ยังอยู่ทั้งบอร์ด คือ คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารก็ยังตั้งต้นไม่ถูกว่าจะบริหารธุรกิจอย่างไรให้บริษัทยืนและไปต่อได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของวิกฤติ

และ สำหรับกรรมการบริษัท คำถามที่มีอยู่ในใจ คือ เราจะทำหน้าที่อย่างไรที่จะเพิ่มมูลค่าให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทและความอยู่รอดของบริษัท

เรื่องนี้ ถ้าหยุดคิดสักนิด ก็ชัดเจนว่า วิกฤติคราวนี้ทำให้การประกอบธุรกิจและการทำหน้าที่ของกรรมการบริษัทได้ปรับเข้าสู่ “ความเป็นจริง” ใหม่อย่างน้อย 3 เรื่อง

หนึ่ง สิ่งที่เราเห็นชัดเจนจากวิกฤติโควิด คือ ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง การมองภาพยาวในการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนหรือ Sustainability และความอึด หรือ Resilience คือความเข้มแข็งที่ธุรกิจสามารถยืนระยะหรือกลับมาได้ไม่ว่าแรงกระทบจากช็อกภายนอกจะรุนแรงแค่ไหน

ลักษณะเหล่านี้เป็นเรื่องที่วงการธุรกิจบ้านเราก็พูดกันก่อนโควิด แต่ส่วนใหญ่พูดแบบนามธรรม คือ ไม่ได้นำมาสู่การทำอะไรจริงจัง วิกฤติโควิดคราวนี้ชี้ชัดถึงความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ ที่ต้องทำเป็นรูปธรรม ที่บริษัทต้องสนใจเรื่องนี้จริงจังและนำไปปฏิบัติ

เพราะโควิด-19 จะไม่ใช่โรคระบาดสุดท้ายที่เราจะเจอ แต่คงจะมีอีกในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงภัยธรรมชาติจากปัญหาโลกร้อน  (Climate Change) เป็นความเสี่ยงประเภท Known unknown คือ รู้ว่าจะมีแต่ไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่และเป็นอะไร ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเหล่านี้ ทั้งในระดับบริษัทและระดับประเทศ โดยทำให้การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำธุรกิจอย่างจริงจัง

สอง คือ การคาดหวังใหม่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า บริษัทคู่ค้า เจ้าหนี้ สังคม รัฐบาลและนักลงทุน มีต่อวิธีการทำธุรกิจของบริษัท และตั้งคำถามว่ากำไรที่ได้ หรือผลตอบแทนที่มีเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงคำถามเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทในสังคม เช่น บริษัทดูแลพนักงานดีแค่ไหนในเรื่องสาธารณสุขและความปลอดภัย บริษัทให้ความสำคัญแค่ไหนกับวิธีการทำธุรกิจของบริษัทที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทยื่นมือหรือเป็นที่พึ่งของสังคมได้หรือไม่เมื่อสังคมมีปัญหา และบริษัททำธุรกิจอย่างเป็นธรรมหรือฉวยโอกาสในช่วงโควิดระบาด

คำถามและการคาดหวังเหล่านี้เป็นผลโดยตรงจากวิกฤติที่เกิดขึ้น รวมถึงสิ่งที่บริษัททำและไม่ได้ทำ ซึ่งมีผลอย่างสําคัญต่อฐานะของบริษัททางสังคม และต่อความไว้วางใจของประชาชน คือถ้าประชาชนไม่วางใจในการทำธุรกิจของบริษัท เพราะบริษัทมุ่งแต่จะทำกำไรขยายธุรกิจโดยไม่สนใจเรื่องอื่น บริษัทก็จะอยู่ยากไม่ว่าจะเข้มแข็งหรือใหญ่โตแค่ไหน

 สาม เทคโนโลยีที่ได้มีบทบาทช่วยประคับประคองสังคมและเศรษฐกิจให้สามารถอยู่ได้และทำกิจกรรมได้ต่อเนื่องท่ามกลางการระบาดของโควิด และหนึ่งปีที่ผ่านมาประชาชนก็เริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยี ทำให้เทคโนโลยีจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นต่อไป

สำหรับภาคธุรกิจ เทคโนโลยีจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้านการผลิต เช่น การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานในการผลิตเพื่อลดต้นทุน และสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต และด้านอุปสงค์ที่บทบาทของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ

นอกจากนี้ การเข้าถึงฐานข้อมูลต่างๆ และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วก็จะช่วยธุรกิจในแง่การวางแผนและตัดสินใจ นี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่จะทำให้การแข่งขันในการทำในธุรกิจเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวมาก

ที่สำคัญความได้เปรียบที่บริษัทขนาดใหญ่เคยมีเหนือบริษัทขนาดเล็ก ในแง่ประโยชน์จากขนาดก็จะลดลงเพราะบริษัทเล็กๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้และจะทำได้เร็วกว่าและคล่องตัวกว่า 

นี่คือโลกใหม่ที่ทุกบริษัทต้องเจอ เป็นโลกใหม่ที่คณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กรจะพบว่าการทำธุรกิจยากกว่าเดิม และในโลกใหม่เป้าหมายของการกำกับดูแลซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการ จะไม่ได้อยู่ที่กำไรและการปฏิบัติตามระเบียบเหมือนเดิม แต่อยู่ที่ความยั่งยืนของธุรกิจ ความสามารถในการปรับตัว และบทบาทของบริษัททางสังคม

ดังนั้น สำหรับกรรมการบริษัท คำถามที่ต้องคิดคือ วิธีการกำกับดูแลอย่างที่เคยทำในอดีตจะยังใช้ได้หรือไม่ในโลกที่เปลี่ยนไป และ กรรมการจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้การทำหน้าที่กำกับดูแลของกรรมการ (fiduciary duties) ทำได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมสร้างมูลค่าให้กับบริษัทในฐานะกรรมการ นี่คือสองโจทย์ใหญ่ที่ต้องการคำตอบ

 ในความเห็นของผม คำตอบอยู่ที่ธรรมาภิบาล ที่กรรมการจะต้องทำหน้าที่ด้านธรรมาภิบาลให้เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจต่อทุกฝ่ายในแง่ความยั่งยืนของธุรกิจ อย่างที่ทราบหัวใจของการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ ธรรมาภิบาลที่จะสร้าง Trust หรือความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ในโลกใหม่ที่เพิ่งฟื้นจากวิกฤติ ธรรมาภิบาลจะยิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะผลกระทบที่ธุรกิจสามารถมีได้ต่อสังคม ทำให้กรรมการจะต้องช่วยกันคิดและทำสองเรื่อง หนึ่ง หาวิธีทำงานใหม่และสร้างมาตรฐานใหม่ในการกำกับดูแลบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อสังคม สอง กรรมการต้องมีบทบาทเป็นผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เป็นผู้ตามที่ประชุมไปวันๆ ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่สบายใจ

เพราะวิกฤติคราวนี้ชี้ชัดว่าสิ่งที่บริษัททำสามารถมีผลต่อสังคมทั้งดีและไม่ดี ทำให้หน้าที่กรรมการที่กำกับดูแลบริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน.