องค์ความรู้คืออาวุธ

องค์ความรู้คืออาวุธ

องค์ความรู้คือความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงาน เป็นทรัพยากรสำคัญที่เราเองเป็นเจ้าของ และต้องหมั่นเติมตลอดเวลา

           ธุรกิจของคุณให้ความสำคัญกับ “องค์ความรู้” แค่ไหน?

          คุณเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้มาก และถ้าได้รู้เรื่องราวของคุณเสริมศักดิ์ คุณอาจจะยิ่งรู้สึกว่าองค์ความรู้มีความสำคัญ

ปรกติแล้วเวลาพูดถึงธุรกิจสิ่งทอ ภาพแรกที่เราจะคิดถึงคือสิ่งทอ “Fashion” ที่เน้นความสวยงามทันสมัย แต่ที่จริงแล้ว ยังมีสิ่งทอแบบ “Functional” ที่เน้นการใช้ประโยชน์เฉพาะทาง เช่น ถุงมือ ผ้าปิดจมูก ชุดกันไฟ ฯลฯ ซึ่งใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นอีกโลกที่ไม่เหมือนสิ่งทอแฟชั่นเลย

คุณเสริมศักดิ์เองเรียนจบมาด้านวิศวกรรมสิ่งทอ มองว่าสิ่งทอ “Fashion” น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป  ในขณะที่สิ่งทอ “Functional” นั้นผู้เล่นยังมีไม่มาก มีโอกาสในการทำธุรกิจมากกว่า บวกกับคุณเสริมศักดิ์สนใจเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำธุรกิจสิ่งทอ “Functional” น่าจะตรงกับความสนใจ ความถนัด และโอกาสทางธุรกิจมากกว่า

เมื่อเป็นสินค้าที่เน้น “Functional” การมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ได้จริงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ จุดแข็งของบริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด อยู่ที่ “องค์ความรู้” จากการที่เจ้าของลงมาลุยเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ยังคัดสรรคนที่มีความเชื่อบนเรื่องการให้ความสำคัญกับองค์ความรู้มาร่วมทีมอยู่เสมอ แม้กระทั่งการเลือกพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจก็ไม่ใช่ดูแค่เงินทุนอย่างเดียว แต่ดูไปถึงว่าพาร์ทเนอร์เองก็ต้องให้ความสำคัญกับองค์ความรู้แบบเดียวกัน หรือสามารถมาเติมองค์ความรู้ให้องค์กรแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมได้

คุณเสริมศักดิ์พบว่า ลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเองก็อยากคุยกับคนที่มีความรู้ที่จะมาแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ยิ่งเป็นสิ่งทอแบบ “Functional” แล้ว ลูกค้ายิ่งอยากรู้รายละเอียดเชิงเทคนิคเฉพาะทางเข้าไปใหญ่ ยิ่งถ้าเจ้าของหรือทีมงานที่มาพร้อมกับองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถตอบคำถามได้เอง สามารถตัดสินใจได้ทันที และย่นระยะเวลาการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้ลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ปิดงานได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น การให้ความสำคัญกับองค์ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

การเพิ่มองค์ความรู้นอกจากการลงมือทำงานแล้วสามารถทำได้อีกหลายวิธีมาเสริม

วิธีแรก คือการคอยอัพเดทเทรนด์อยู่เสมอ คุณเสริมศักดิ์บอกว่าก่อนหน้านี้จะคอยดูงานเทรดโชว์ที่ฝั่งอเมริกาและยุโรปเสมอ เพราะโซนนั้นจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาอัพเดทตลอด เราจะได้รู้ก่อนล่วงหน้า

วิธีที่สองคือ ใช้ผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งเป็นความรู้เฉพาะทางที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าจะให้เราเรียนรู้เองอาจจะใช้เวลานาน จะไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว บางครั้งมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยก็แก้ปัญหาได้ และเราเองก็ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญไปในตัว

อีกวิธีที่น่าสนใจคือการเข้าประกวดโครงการต่าง ๆ วิธีนี้จะทำให้เราได้พบผู้เชี่ยวชาญที่จะมาประเมินว่าองค์กรของเรา พร้อมกับได้เช็คพนักงานไปในตัวว่าทำหน้าที่ได้ดีหรือเปล่า ไม่จำเป็นว่าจะต้องชนะตลอดเวลา แต่ประโยชน์ที่ได้แน่ ๆ คือการได้รู้จากผู้เชี่ยวชาญว่าอะไรที่เราทำดี อะไรที่เราต้องปรับปรุง คนอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว และมาตรฐานที่ดีอยู่ตรงไหน

สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความ Humble ไม่ปิดตัวเองด้วยความรู้สึกว่าเรารู้ทุกเรื่อง หรือรู้มากพอแล้ว เพราะที่จริงแล้วยังมีความรู้ใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้เสมอ มีคนเก่งๆ ที่เราเรียนรู้ได้อยู่เต็มไปหมด และเมื่อมีคนมาชี้ช่องโหว่ของเราแล้ว เราต้องฟังและรีบไปอุดรอยรั่วให้ได้

ยิ่งเกิดโควิด-19 ขึ้นมา คุณเสริมศักดิ์พบว่า การมีรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแรงมาจากองค์ความรู้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดมาได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เพราะองค์ความรู้เป็นสิ่งที่ต้องสั่งสม ไม่ใช่สิ่งที่จะมีได้ในเวลาชั่วข้ามคืน

เมื่อเกิดโควิด-19 คุณเสริมศักดิ์พบว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับสิ่งทอ Functional แต่ถ้าธุรกิจที่มีโอกาสเอื้ออยู่แล้วแต่ไม่ปรับตัวและใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ โอกาสที่มีในมือก็จะหลุดลอย

จากเดิมที่บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด ผลิตหน้ากาก ชุด และอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องปลอดเชื้อโรคอยู่แล้ว คุณเสริมศักดิ์พบว่าอุปกรณ์หลายอย่างสามารถใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ได้เหมือนกัน กลายเป็นว่าได้พบตลาดใหม่ในการทำธุรกิจขึ้นมาทันที แต่แม้ว่าจะเป็นตลาดใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาส คุณเสริมศักดิ์เองก็ต้องปรับตัวในการทำธุรกิจเช่นกัน

อย่างแรกคือ เมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการแพทย์ ก็จะต้องมีกฎระเบียบหรือมาตรฐานบางอย่างที่ภาครัฐกำหนดให้ต้องมี ซึ่งแม้บางผลิตภัณฑ์จะได้รับการรับรองเป็นเอกสารจากต่างประเทศแล้ว แต่คุณเสริมศักดิ์แนะนำว่า ต้องกลับไปดูด้วยว่าในประเทศเราเองกำหนดมาตรฐานไว้อย่างไร

อย่างที่สอง เมื่อต้องกระโดดเข้าไปสู่สนามใหม่ซึ่งเป็นวงการแพทย์ที่ไม่คุ้นเคย คุณเสริมศักดิ์จึงมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทีม เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้องค์ความรู้ที่ถูกต้องมาใช้ในการทำงาน พร้อมกับได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไปด้วย

อย่างที่สาม เมื่อต้องขยายธุรกิจมาสู่การขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ คุณเสริมศักดิ์จึงลองให้ทีมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดมาทำงานส่วนนี้ สิ่งที่คุณเสริมศักดิ์ได้เรียนรู้จากการทำงานกับคนรุ่นใหม่คือ เราต้องให้โอกาสและให้พื้นที่เขาได้ทำงานอย่างเต็มที่ อย่าเอาความไม่รู้ของเราหรือเอาความสำเร็จเก่าๆ ที่เราเคยมีไปจำกัดความคิดของเขา ปล่อยให้เขาทำงานอย่างมีอิสระ แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ยิ่งเป็นเรื่องออนไลน์แล้วเขาทำได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าอยู่แล้ว เราต้องฟังเขา

อย่างที่สี่คือ เมื่อธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีบางแผนกที่ไม่สามารถทำงานเดิมได้ เราต้องเปลี่ยนให้เขาไปทำงานแบบใหม่ที่มีประโยชน์ เขาจะได้รู้สึกมีคุณค่าและได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ คุณเสริมศักดิ์เล่าว่า เดิมมีฝ่ายที่ทำงานขายเครื่องจักร แต่พอเจอโควิด-19 เครื่องจักรอาจจะขายยากขึ้น ก็เปลี่ยนให้ทีมนี้ไปขายลูกค้ากลุ่มใหม่คือกลุ่มราชการ กลุ่มทหาร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่คุณเสริมศักดิ์เห็นโอกาสทางธุรกิจ ก็ทำให้ทีมงานรู้สึกมีคุณค่า ได้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ ขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้ใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ไปทำงานอื่นได้เต็มที่ ได้ลูกค้าใหม่เพิ่ม ธุรกิจก็อยู่ได้ พนักงานก็อยู่ได้ 

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นๆ แต่ถ้าไม่ใช้โอกาสนั้นอย่างคุ้มค่า ไม่ยอมปรับตัวให้รับกับโอกาส ไปจนถึงถ้าไม่ได้มีองค์ความรู้สั่งสมมาก่อนจนมีรากฐานที่แข็งแรง ก็น่าเสียดายที่โอกาสอยู่ตรงหน้าแต่เราไม่สามารถเป็นเจ้าของได้

ลองสำรวจว่าคุณมีอาวุธที่ชื่อ “องค์ความรู้” ในมือพร้อมรบหรือยัง.