นับเป็นสงกรานต์ปีที่ 2 แล้ว ที่เราต้องเฉลิมฉลองแบบเงียบๆ ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การกลับบ้าน รวมญาติ รดน้ำดำหัวซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความรักในช่วงสงกรานต์ของคนไทยได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบอย่างสิ้นเชิง เพราะการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อโรคทำให้การแสดงความรักในช่วงเทศกาลที่สำคัญที่สุดนี้เปลี่ยนรูปแบบอย่างมาก กลายเป็นว่าการรักษาระยะห่างระหว่างกันกลายเป็นการแสดงความรักและปรารถนาดีต่อกันที่เหมาะที่สุดในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราคุ้นชินกับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ดังนั้นโควิด-19 จึงส่งผลให้ทุกความสัมพันธ์ในสังคม เริ่มตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน คู่รัก การทำงาน การเข้าสังคม เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ การล็อกดาวน์ปิดเมืองส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันอย่างมาก ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์ให้ดีให้เป็นบวกจึงมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตที่มีความสุข
มีบทความที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งจากสำนักข่าว BBC ของอังกฤษพูดถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัตราการหย่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอังกฤษในช่วงวิกฤติโรคระบาด บทความชิ้นนี้อ้างอิงตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการยุติความสัมพันธ์ อาทิ จำนวนการฟ้องหย่า จำนวนการค้นหาแนวทางในการยุติความสัมพันธ์ และยอดรายรับจากบริษัทกฎหมายจากกรณีฟ้องหย่า
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุดคือ ตัวเลขเหล่านี้ซึ่งรวบรวมจากประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ สหรัฐ จีน และสวีเดน ชี้ให้เห็นในทางเดียวกันจนอาจจะกล่าวว่าเป็นเทรนใหม่ในช่วงนี้ บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าอัตราการแยกทางยุติความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการระบาดของโรคและยังกล่าวเพิ่มด้วยว่าตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
พื้นที่ส่วนตัวและเวลา ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ การปิดเมืองอยู่บ้านนอกจากจะเพิ่มเวลาให้คู่รักครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่ส่วนตัวที่ถูกลดระยะลงด้วย
หากวัดจากสถิติแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าการยุติความสัมพันธ์จะมีรูปแบบและเงื่อนเวลา ความถี่และจำนวนของการยุติความสัมพันธ์มักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากช่วงวันหยุดยาวต่างๆ ที่คู่รักหรือครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ซึ่งในกรณีของสังคมตะวันตกนี้คือช่วงเทศกาลคริสต์มาสหรือหยุดปิดเทอม จึงสามารถพูดได้ว่า การปิดเมืองจากโควิด-19 นี้เสมือนหนึ่งเอาช่วงเทศกาลหยุดยาวเหล่านี้มาต่อกันไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่น่าแปลกใจหากจำนวนของคู่ที่ยุติความสัมพันธ์จะมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ปัญหาหลักที่พบในคู่หรือครอบครัวที่เลือกที่ยุติความสัมพันธ์นั้นคือ ภาระงานบ้าน และการดูแลบุตร ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการจัดสรรแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไม่สมดุลจากภาระที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการดูแลบุตรที่ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ความเครียดที่เพิ่มขึ้นทั้งจากการกักตัวและจากภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาที่หนักใจต่างๆ จนบางครั้งสามารถเรียกได้ว่าเกิดอาการจิตตก
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจนทำให้รายรับในครอบครัวลดลง หรือจากการลดเงินเดือนในบางกรณีก็ส่งผลโดยตรงกับความสัมพันธ์ เม็ดเงินที่ลดลงหมายถึงคุณภาพการใช้ชีวิตที่ลดลง การใช้จ่ายที่ลดลงจากเดิมทำให้ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายซึ่งก็นำมาสู่ความขัดแย้งเพราะคนเรานั้นมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างกัน
ความสัมพันธ์ในแต่ละครอบครัวและในแต่ละคู่ล้วนเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มีความพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละครอบครัว/คู่ แต่สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากบทความนี้ คือ แนวทางในการรักษาความสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากวิถีชีวิตประจำวันที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ หนึ่ง การจัดการแบ่งภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นในครอบครัวให้สมดุล และสอง การลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายจากรายรับในครอบครัวที่ลดลงครับ