หน้ากากผ้ากับโควิด-19

หน้ากากผ้ากับโควิด-19

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1666 ที่เริ่มมีการระบาดไข้รากสาดใหญ่ ไข้ทรพิษในโลกนี้นั้น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้มีการสรุปว่า โรคระบาด (pandemic) ใดๆ

จะไม่มีทางหายไปจากโลก เพียงแต่ถูกควบคุมจนทำให้มีอัตราการตายที่เป็นอัตราปกติ (Bills of Mortality or excess deaths) และสำหรับสถานการณ์ในปีนี้ Andrew Pollard ผู้เชี่ยวชาญวัคซีน จาก Oxford Vaccine Group ก็มีความเห็นในทางเดียวกันคือ เชื้อโควิด-19 คงจะไม่หายไปจากโลกนี้ เพียงแต่เมื่อเราสามารถควบคุมจนไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขแล้ว ก็จะถือว่าโลกเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็คงเหมือนกับโรคเอดส์ (HIV) ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หรือแม้แต่โรคโปลิโอ ที่ไม่เคยหายไปจากโลกใบนี้เลย

สิ่งที่เราประสบพบเห็นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ สภาพการระบาดที่ลดลงจนสู่ภาวะปกตินั้น มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป ในแต่ละประเทศหรือภูมิภาค ขึ้นอยู่กับการเกิดภูมิต้านทานหมู่ การฉีดวัคซีน หรือ แม้แต่การกลายพันธุ์ (mutation) ของไวรัสที่มีความรุนแรงลดลง (เราได้ยินแต่ว่า ไวรัสกลายพันธุ์ให้รุนแรงขึ้น แต่ก็มีที่กลายพันธุ์ให้อ่อนลงเช่นกัน) ฉะนั้นการที่เราหวังว่าโควิดจะหายไป คงจะเลิกหวังได้ ระหว่างนี้ก็คงต้องรักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากกันอย่างเคร่งครัดนะครับ

เมื่อพูดถึงการสวมหน้ากาก มีการมองกันว่าหน้ากากผ้าฝ้ายกับหน้ากากทางการแพทย์ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ซึ่งถ้าว่ากันโดยหลักการแล้ว ปกติการกรองเศษผงเล็กมากๆ นั้น หน้ากากทางการแพทย์น่าจะกรองได้ดีกว่ามาก ขณะที่หน้ากากผ้าที่มีรูถ่างใหญ่กว่าเยอะ แล้วยังจะสามารถป้องกันเชื้อโควิดได้ดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ Joseph Courtney และ Ad Bax นักวิจัยจาก National Institute of Health ของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ในรัฐ Maryland ได้พบว่า สาเหตุที่คนใส่หน้ากากไม่ค่อยติดเชื้อ หรือถ้าติดเชื้อก็จะทำให้ความรุนแรงของอาการลดลงนั้น เป็นเพราะว่า ความรุนแรงของอาการนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ผ่านจากปากหรือจมูกวิ่งเข้าไปที่ปอด ถ้าเข้าไปเยอะก็จะรุนแรง และหน้ากากทางการแพทย์ที่สามารถกรองได้อย่างละเอียดน่าจะทำงานได้ดีกว่า แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่

นักวิจัยทั้งคู่ได้ค้นพบว่า ร่างกายเรานั้นมีกระบวนการกำจัดเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามาทางอากาศผ่านจมูกโดยเชื้อโรคหรือผงเล็กๆ เหล่านี้จะจับตัวกับน้ำมูกในจมูก แล้วขนจมูกจะผลักให้น้ำมูกเหล่านี้ผ่านเข้าคอลงไปในกระเพาะ ซึ่งกรดในกระเพาะจะฆ่าเชื้อโรคดังกล่าว และทำให้ปอดปลอดภัยจากการบุกรุกนี้ การที่จมูกยังคงมีความชื้น จึงมีความสำคัญในกระบวนการนี้ ทางการแพทย์เรียกว่า mucociliary clearance mechanism (mcm) นักวิจัยทั้งคู่ยังค้นพบว่าหน้ากากผ้านั้น จะกักเก็บความชื้นตอนหายใจออกได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับหน้ากากทางการแพทย์ (ผ้าฝ้ายจะเก็บความชื้นได้มากและนานกว่ากระดาษ อย่างที่เรารู้กัน) เมื่อเราหายใจเข้า ความชื้นที่ยังค้างอยู่บนหน้ากากผ้าจะดักจับผงหรือเชื้อที่ติดมา เพื่อเข้ากระบวนการตาม mcm ที่อธิบายข้างต้น

โดยปกติในฤดูหนาว อากาศจะแห้ง ทำให้จมูกแห้งไปด้วย และก็น่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย (ดั่งที่เห็นว่าในหน้าหนาวที่ผ่านมา ประเทศในเขตหนาวมีผู้ติดและเสียชีวิตจำนวนมาก) การใส่หน้ากากผ้าจึงจะทำให้ผู้สวมใส่ปลอดภัยมากกว่าหน้ากากอื่นๆ และน่าจะทำให้ฆ่าเชื้อได้ดีกว่า และทั้งคู่ก็ได้พิสูจน์ว่า ไม่ใช่เฉพาะหน้าหนาวเท่านั้นที่หน้ากากผ้าช่วยการทำงานของจมูก โดยได้ทำการทดลองในห้องที่อุณหภูมิต่างกันคือ 37°C 22°C และ 8°C ภายใต้ภาวะควบคุม พบว่าหน้ากากผ้าที่ราคาถูกที่สุด กลับสามารถเก็บความชื้นได้ดีที่สุด โดยเมื่อเทียบกับไม่ใส่หน้ากากแล้ว สามารถเก็บความชื้นได้ดีขึ้นถึง 50% ในห้องที่ร้อนที่สุด และ 300% ในห้องที่เย็นที่สุด (ในขณะที่ประเภทอื่นจะดีขึ้นประมาณ 150% - 225%) จึงเห็นว่าการรักษาความชื้นในโพรงจมูกเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในภาวะนี้

ในศตวรรษที่ผ่านมา ไข้ทรพิษได้คร่าชีวิตประชากรโลกไปกว่า 500 ล้านชีวิต และใช้เวลากว่า 70 ปีในการฉีดวัคซีนทั่วโลกจนสามารถกำจัดมันออกจากระบบได้ โดยการระดมฉีดวัคซีนนั้นก็พบว่า มีการต่อต้านหรือปฏิเสธที่จะรับการฉีด (คล้ายๆกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ยังมีหลายๆ ท่านที่ไม่เชื่อมั่นในวัคซีน และปฏิเสธที่จะฉีด) โดยเฉพาะในเด็กและผู้หญิง จนต้องมีการบังคับกัน และบางครั้งต้องใช้ความรุนแรง ตามการบันทึกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปีค.ศ. 1973 สำหรับปัจจุบันนั้น โควิด-19 ก็มีความร้ายแรงเช่นกัน ซึ่งก็คงจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าที่โลกใบนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ หน้ากากผ้าอาจจะเป็นคำตอบที่ง่าย คุ้มค่าคุ้มราคาและปลอดภัยที่สุดสำหรับพวกเราในระยะเวลาอันใกล้นี้นะครับ