Apple Music v Spotify ศึกตลาดการให้บริการเช่าเพลง
Spotify ผู้ให้บริการเช่าเพลงและเป็นคู่แข่งรายใหญ่ของ Apple Music ได้ร้องเรียนพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมของ Apple ต่อคณะกรรมาธิการยุโรป
HIGHLIGHTS
- เงื่อนไขให้ใช้ระบบ in-app purchase โดย Apple กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้บริการร้อยละ 30 ของราคาจำหน่าย ทำให้ผู้ให้บริการบน App Store นำราคาส่วนนี้ส่งผ่านไปยังราคาค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของแอป เป็นผลให้ผู้บริโภคต้องชำระราคาที่สูงขึ้น
- พฤติกรรมของ Apple ถูกกล่าวหาว่าเป็นการทำลายการแข่งขันในตลาดการให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่งโดยการเพิ่มต้นทุนให้กับคู่แข่งในตลาดดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้บริการของแอปอื่น ๆ ต้องชำระราคาค่าบริการสูงขึ้น Spotify ได้ยื่นร้องเรียนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 เกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้จัดจำหน่ายใน App Store ที่ส่งผลต่อการค้าที่ไม่เป็นธรรมในตลาดการให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่ง ซึ่งในกรณีนี้ Apple เป็นเจ้าของช่องทางการจัดจำหน่ายแต่ผู้เดียวผ่านช่องทาง App Store และเป็นผู้ให้บริการและคู่แข่งกับ Spotify ด้วยผ่านช่องทาง Apple Music ในตลาดการให้บริการเช่าเพลง (music streaming) คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลจึงเริ่มกระบวนการสอบสวนเบื้องต้น (preliminary investigation) ในเวลาต่อมา วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ภายหลังสิ้นสุดการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของ Apple ในตลาดเพลงแบบเช่าและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books/audiobooks) คณะกรรมาธิการยุโรปได้เริ่มกระบวนการสอบสวนพฤติกรรมการกระทำความผิด(formal investigation) ของ Apple ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป (EU Competition Law) ในตลาดการให้บริการเช่าเพลง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (abuse of dominant position) ในการจำหน่ายแอปที่ให้บริการเช่าเพลงผ่าน App Store โดยการบังคับให้ผู้ให้บริการแอปที่ให้บริการเช่าเพลงต้องถูกบังคับใช้ระบบ in-app purchase (“IAP”, การซื้อภายในแอป) ของ App Store
คณะกรรมาธิการยุโรปมีความเห็นในเบื้องต้นว่าเงื่อนไข IAP ใน App Store อาจเป็นการทำลายการแข่งขันเนื่องจากทำให้นักพัฒนาไม่สามารถแจ้งให้ผู้ใช้บริการแอปของตนทราบเกี่ยวกับช่องทางการจัดจำหน่ายหรือ subscription แบบอื่น ๆ ที่อาจเป็นทางเลือกด้านราคาและคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการได้ แต่ต้องถูกผูกติดกับเงื่อนไขการชำระเงินและสามารถเลือกรูปแบบของการซื้อหรือ subscription ของ App Store เท่านั้น
วันที่ 30 เมษายน 2564 ภายหลังสิ้นสุดกระบวนการสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริง คณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งความเห็น (Statement of Objections) ของคณะกรรมาธิการยุโรปไปยัง Apple ว่า Apple ได้ใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในตลาดแอปเพื่อการบริการเช่าเพลง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 102 TFEU ในพฤติกรรมดังนี้
- เงื่อนไขให้ใช้ระบบ in-app purchase หรือ IAP เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายและชำระเงินเพียงช่องทางเดียวของ digital content ใน App Store สำหรับอุปกรณ์ iPhone และ iPad โดย Apple กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้บริการร้อยละ 30 ของราคาจำหน่าย ทำให้ผู้ให้บริการบน App Store ต้องนำราคาส่วนนี้ส่งผ่านไปยังราคาค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ (users) ของแอป
- ข้อกำหนดห้ามมิให้นักพัฒนาแจ้งถึงช่องทางอื่น ๆ ในการจัดจำหน่ายนอกจากในแอปเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ใช้อุปกรณ์ของ Apple ต้องจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้นสำหรับการให้บริการ ทั้งที่สามารถซื้อหรือสมัครผ่านช่องทางภายนอก อาทิ เว็บไซต์ของผู้ให้บริการที่อาจมีราคาที่ถูกกว่า
คณะกรรมาธิการยุโรปจึงมีความเห็นเบื้องต้นตาม Statement of Objections ว่า พฤติกรรมของ Apple ดังกล่าวเป็นการทำลายการแข่งขันในตลาดการให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่งโดยการเพิ่มต้นทุนให้กับคู่แข่งในตลาดดังกล่าว (raising rival costs) ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้บริการของแอปอื่น ๆ ต้องชำระราคาค่าบริการสูงขึ้น (จากอัตราบวกค่าธรรมเนียมร้อยละ 30)
อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุด Apple มีสิทธิตามกฎหมายในการโต้แย้งข้อกล่าวหาและความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงนำเสนอพยานหลักฐานและขอให้มีการไต่สวนเพื่อรับฟังพยานหลักฐานอีกด้วย รวมทั้งมีสิทธิขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจทบทวนคำสั่งในท้ายที่สุดของคณะกรรมาธิการยุโรปได้
จากข้อร้องเรียนของ Spotify และความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรปต่อกรณีของ Apple ครั้งนี้อาจนำมาซึ่งการตั้งข้อสังเกตต่อรูปแบบการค้าในยุคดิจิทัลในปัจจุบันที่ต่างจากการค้าแบบเดิม และอาจนำมาซึ่งความจำเป็นในการกำหนดกฎกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมในอนาคต โดยเฉพาะการกำหนดบทบาทของเจ้าของหรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีลักษณะผูกขาด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีแต่ Apple เท่านั้น และการผูกขาดนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่ความเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มแต่ยังรวมไปถึงการผูกขาดข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนกิจกรรมต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ สหภาพยุโรปยุโรปอาจจะเป็นกลุ่มประเทศแรกที่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ (Proposal Digital Markets Act และ Digital Service Act)
ในขณะเดียวกันระบบกฎหมายก็ต้องไม่ลืมว่า Apple เป็นผู้สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของ App Store ขึ้นมาด้วย ทำให้กลายเป็นตลาดดิจิทัลขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดธุรกรรมจำนวนมาก สร้างงานและรายได้และต่อยอดการพัฒนาให้กับบุคคลหลายกลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศนี้ การที่ Apple หรือบริษัทหรือนักพัฒนาสามารถสร้างระบบนิเวศดังกล่าวขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ หลักประกันต่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสมจากการลงทุนคือแรงจูงใจที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและการสร้างนวัตกรรม ระบบกฎหมายที่ดีจึงต้องเป็นระบบกฎหมายที่เป็นธรรมและคุ้มครองประโยชน์และส่วนได้เสียของทุกภาคส่วน ต้องคุ้มครองผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ผู้บริโภค นักพัฒนา และสามารถสร้างสมดุลแห่งการบังคับใช้กฎหมายและกฎกติกาที่เป็นธรรมได้
กรณีการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจเป็นความผิดตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 50 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการกำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือกำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตนต้องจำกัดการบริการหรือการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น.
-
บทความโดย ศุภวัชร์ มาลานนท์
Certified Information Privacy Professional/ Europe
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ชิโนภาส อุดมผล Optimum Solution Defined (OSD)
อ้างอิง
- European Commission, Antitrust: Commission sends Statement of Objections to Apple on App Store rules for music streaming providers, Press Release 30 April 2021, Brussel
- European Commission, Antitrust: Commission opens investigations into Apple's App Store rules, Press release16 June 2020, Brussels