เมื่อแบงก์ชาติทำเงินดิจิทัล

เมื่อแบงก์ชาติทำเงินดิจิทัล

ทุกวันนี้คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “คริปโทเคอร์เรนซี” และทุกวันนี้ เช่นกัน ก็คงจะมีไม่น้อยที่ได้เริ่มเก็งกำไรไปกับคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว

และก็คงต้องมีไม่น้อย ที่ขณะนี้ กำลังมีส่วนร่วม กับความผันผวนของราคา ที่อาจจะเป็นฝันร้ายสำหรับคนบางคน

และหลายคน ก็อาจเคยได้ยินมาบ้าง ถึงกรณีที่ แบงก์ชาติ ซึ่งในบทความนี้หมายถึงธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ได้ริเริ่มที่จะทำเงินดิจิทัลมาหลายปีแล้ว เช่นตัวอย่างของประเทศจีน ที่กำลังทำการทดลองกับ ดิจิทัลหยวน” แต่หากไม่ได้ลงรายละเอียด ก็อาจแยกแยะได้ลำบาก ว่า เงินดิจิทัล ของ แบงก์ชาติ กับ คริปโทเคอร์เรนซี นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร

นอกเหนือจากความเป็นดิจิทัลและการสนับสนุนความเป็นสังคมไร้เงินสดแล้ว ความเหมือนระหว่าง คริปโทเคอร์เรนซี และ เงินดิจิทัลของแบงก์ชาติ อยู่ตารางบัญชีที่บันทึกว่า ใครมีเงินอยู่เท่าไหร่ ซึ่งความเหมือนก็จะสิ้นสุดอยู่เพียงเท่านี้

เพราะตารางบัญชีของคริปโทเคอร์เรนซี ถูกบันทึกอยู่ในรูปแบบของบล็อกเชน ซึ่งเป็นสาธารณะและใครๆ ก็เข้าถึงได้ แต่การแก้ไขข้อมูล เช่น การเพิ่มลดหรือโอนเงินระหว่างกัน จะต้องอาศัยเสียงโหวตอย่างน้อย 51% ของผู้ที่รวมประมวลผลและตรวจสอบในรูปแบบของประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบัน กรณีของบิทคอยน์ มีคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่รวมตัวกันเป็นโหนด เพื่อร่วมประมวลผลบล็อกเชนอยู่ราว 10,000 โหนดทั่วทุกมุมโลก และเป็นการใช้พลังงานอย่างมหาศาล เพราะทุกการประมวลผล จะเป็นการทำซ้ำโดยทุกโหนด เพื่อร่วมตรวจสอบและทำประชามติกันเอง

ขณะที่ตารางบัญชีของแบงก์ชาติ จะอยู่ที่แบงก์ชาติแต่เพียงผู้เดียว ในรูปแบบของการรวมศูนย์ และจะมีแต่เพียงแบงก์ชาติหรือรัฐบาลเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงได้ และการแก้ไขข้อมูล เช่นการเพิ่มลดหรือโอนเงินระหว่างกัน ก็จะเป็นสิทธิขาดของรัฐบาลอีกเช่นกัน แน่นอน จะเป็นการประหยัดพลังงานมากกว่า เพราะทุกการประมวลผล จะไม่ต้องถูกทำซ้ำ เพราะอาศัยเพียงความเชื่อในความถูกต้องของแบงก์ชาติและรัฐบาลที่มีสิทธิขาดอยู่เหนือทุกสิ่ง

สำหรับตารางบัญชีของคริปโทเคอร์เรนซี  แม้ข้อมูลในบล็อกเชนจะเป็นสาธารณะ แต่ตารางบัญชีจะระบุอยู่เพียงแค่เงินในกระเป๋าสตางค์ แต่จะไม่สามารถบ่งชี้ถึงมนุษย์ที่เป็นเจ้าของแต่ละกระเป๋าสตางค์ได้ ซึ่งจะมีเพียงแต่มนุษย์ที่เป็นเจ้าของเท่านั้นที่จะรู้ ว่าเขาเป็นเจ้าของกระเป๋าสตางค์อะไรบ้าง แต่ตารางบัญชีของแบงก์ชาติ จะระบุถึงตัวตนของมนุษย์ และเงินทั้งหมดที่เขามี ในทางกลับกัน ข้อมูลดังกล่าวจะไม่เป็นสาธารณะ ซึ่งจะมีเพียงแต่ แบงค์ชาติและรัฐบาลเท่านั้น ที่จะเข้าถึงได้

ในขณะที่คริปโทเคอร์เรนซีเป็นการสร้างเงินสกุลใหม่ที่ส่วนใหญ่ (ไม่รวมสเตเบิ้ลคอยน์) ไม่มีการอิงราคากับเงินสกุลเดิม และราคาจะผันผวนตามอุปสงค์อุปทานในตลาด ไม่ได้ถูกรับรองโดยรัฐบาลใดๆ และไม่มีผู้ใดบริหารจัดการ นอกเหนือจากกฎกติกาที่ได้บัญญัติกันไว้แต่แรก (เช่นการได้ผลตอบแทนจากการขุดบิทคอยน์ หรือการจำกัดบิทคอยน์ที่ 21 ล้านดอลลาร์) แต่เงินดิจิทัลของแบงก์ชาติจะเป็นเงินสกุลเดียวกับเงินสกุลเดิมของประเทศนั้นๆ ซึ่งมีแบงค์ชาติรับรองบริหารจัดการและสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายตามความเหมาะสมได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนี้ เงินดิจิทัลของแบงก์ชาติของบางประเทศ ไม่เพียงแต่จะสามารถติดตาม (Track) จำนวนของเงินในปัญชี และการโอนย้ายระหว่างกัน แต่ยังจะมีซีเรียลนัมเบอร์สำหรับเงินแต่ละหน่วย ที่ใช้สำหรับติดตามว่าเงินในแต่ละหน่วยนั้น ผ่านมือใครบ้าง เหมือนกับกรณีที่ธนบัตรของแต่ละประเทศก็มีซีเรียลนัมเบอร์ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น เงินดิจิทัลแล้ว แบงค์ชาติจะสามารถติดตามได้เลยว่า เงิน 100 หน่วยเดียวกันนี้ ผ่านมือใครบ้าง เทคโนโลยีนี้ ถือว่าล้ำหน้ากว่าของ คริปโทเคอร์เรนซี เพราะในกรณีของบิทคอยน์ ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีสำหรับติดตามบิทคอยน์แต่ละเหรียญเลย

ความแตกต่างเหล่านี้ ล้วนมาจากความแตกต่างของปรัชญา ระหว่างการกระจายอำนาจออกจากการควมคุมเงินตราของรัฐบาลvsการรวมศูนย์อำนาจของการควบคุุมเงินตราไว้ที่รัฐบาล โดยเป็นการอาศัยเทคโนโลีดิจิทัลทั้งคู่ ซึ่งในกรณีของ คริปโทเคอร์เรนซี อาวุธก็คือการเข้ารหัส ส่วนในกรณีของ เงินดิจิทัลของแบงค์ชาติ อาวุธก็คือกฎหมายและอำนาจของภาครัฐ

ซึ่งเงินดิจิทัลจะทำให้รัฐบาล ไม่เพียงแต่จะรับรู้ได้อย่างเรียลไทม์ ว่าใครมีเงินอยู่เท่าไหร่ มีการโอนย้ายระหว่างกันอย่างไร แต่ยังจะเพิ่มอำนาจในการบริหารจัดเงินของภาครัฐ ที่จะสามารถเพิ่ม ลด หรือแก้ไข เงินในบัญชีของแต่ละคนได้ด้วย และการรวมศูนย์นี้ จะทำให้แบงก์ชาติ กลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่่สุดในแต่ละประเทศ และบทบาทของธนาคารพานิชย์ในการรับฝากเงิน ก็จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้ที่เชื่อในคริปโทเคอร์เรนซีมีความหวาดกลัวและไม่อยากให้เกิดขึ้น และเป็นที่มาของการริเริ่มบิทคอยน์ เมื่อหลายปีก่อน