จัดอันดับ 'รับมือ Fake News' เยาวชนไทยติดรองสุดท้าย
ทักษะดิจิทัลที่จำเป็นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง คือ ทักษะการค้นหาข้อมูล
เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร และการรับรู้ข่าวสาร ซึ่งมีข้อมูลจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ที่จัดทำโดย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุในการประเมินปี 2018 ว่า นักเรียนจะใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้คนกลุ่มนี้หันมารับข่าวสารออนไลน์ และสื่อใหม่ๆ ในโซเชียลมีเดียมากกว่าการอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และดูทีวีในรูปแบบเดิม
เราเองมักเข้าใจว่า เยาวชนรุ่นใหม่มีทักษะไอทีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทักษะการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ แต่แท้จริงแล้วความหมายการมีทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital literacy) ครอบคลุมหลายด้าน เช่น การใช้ การค้นหา การสร้างเนื้อหา การทำงานร่วมกัน และการเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน เป็นต้น
ในโลกดิจิทัลที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย ทักษะดิจิทัลที่จำเป็นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง คือ ทักษะการค้นหาข้อมูล และการนำไปใช้ได้ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้แค่ความสามารถค้นข้อมูลจาก กูเกิล หรือ เสิร์ช เอ็นจิ้น ต่างๆ แต่ยังรวมถึงความสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้ ต่อข้อมูลที่มีคุณภาพจากข้อมูลที่มีอยู่มากมายในโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึงทักษะอ้างอิงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ และเข้าใจถึงลิขสิทธิ์ของข้อมูลและการนำไปใช้
ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 ทาง OECD ได้นำเสนอรายงานเป็นผลต่อเนื่องจากการประเมิน PISA 2018 เรื่อง “ความสามารถในการรับมือกับ Fake News และข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดของเด็กอายุ 15 ปี จากทั่วโลก” ที่น่าตกใจก็คือ เด็กไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้ต่ำมาก อยู่ในอันดับที่ 76 จาก 77 ประเทศทั่วโลกที่ได้ทำการประเมิน
การประเมินผล PISA 2018 ได้สอบถามว่า ในโรงเรียนมีการสอน 7 เรื่องเหล่านี้หรือไม่ ประกอบด้วย 1.การใช้คีย์เวิร์ดค้นหาข้อมูลจากเสิร์ชเอ็นจิ้น 2.การตัดสินใจถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ค้นหามาได้ 3.การเปรียบเทียบข้อมูลจากเว็บที่ได้จากการค้นหา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมที่สุด 4. ความเข้าใจถึงผลกระทบจากการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ 5.การเข้าใจคำอธิบายสั้นๆ ที่ได้จากการค้นหาจาก เสิร์ชเอ็นจิ้น 6.แยกแยะได้ว่าข้อมูลเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่มีอคติหรือเป็นข้อเท็จจริง และ 7.การวิเคราะห์อีเมลที่ได้รับมาว่าเป็นสแปมหรืออีเมลหลอกลวงหรือไม่
ผลประเมินพบว่า ทักษะที่สอนในโรงเรียนส่วนใหญ่ทั่วโลกมากสุด คือ ให้เข้าใจผลกระทบจากการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ มีคะแนนเฉลี่ย 71% ส่วนทักษะที่มีการสอนต่ำสุด คือ การวิเคราะห์อีเมลที่ได้รับมาว่าป็นสแปม หรืออีเมลหลอกลวงหรือไม่ มีคะแนนเฉลี่ย 41% และที่น่าสนใจ คือ ประเทศอย่าง สหรัฐอมเริกา ออสเตรเลีย และเดนมาร์ก จะมีการคะแนนเฉลี่ยการสอนทักษะ การแยกแยะได้ว่าข้อมูลเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่มีอคติหรือเป็นข้อเท็จจริงมากกว่า 70% แต่หลายๆ ประเทศกลับมีการสอนทักษะในเรื่องนี้น้อยมาก
ในการประเมินของ PISA ยังรวมไปถึงทักษะในการอ่านที่จะแยกแยะข่าวสารให้ได้ว่าข้อมูลที่ได้รับมามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และความสามารถในการรับมือและแยกแยะข่าวสารที่เป็น Fake News โดยใช้วิธีประเมืนในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งผลพบว่านักเรียนจาก สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก มีคะแนนในกลุ่มสูงสุด ขนาดที่นักเรียนจาก อินโดนีเซีย มีคะแนนต่ำสุด โดยมีประเทศไทย อาเซอร์ไบจาน ฟิลิปปินส์ คาซัคสถาน และอัลบาเนีย อยู่ในกลุ่มรั้งท้าย
ซึ่งหากเทียบทักษะนักเรียนไทยในด้านนี้กับประเทศในเอเชียอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน จะเห็นว่า คะแนนเราตามหลังอยู่มาก ดังนั้นผลประเมิน PISA นอกจากจะวัดความฉลาดรู้แค่ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แล้ว ผลการประเมินดังกล่าวจะยังสะท้อนความรอบรู้และความฉลาดในด้านอื่นๆ ประกอบไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมีเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
คะแนนประเมิน PISA 2018 ที่นักเรียนอยู่ในขั้นที่ต่ำในหลายๆ ด้าน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการที่จะต้องเร่งพัฒนาการศึกษาในบ้านเราในหลายๆ ด้าน แม้กระทั่งทักษะทางดิจิทัล หากการศึกษาเรายังไม่มีเนื้อหาที่จะสอดแทรกให้เยาวชนสามารถแยกแยะข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ มันก็จะทำให้เยาวชนของเราเชื่อถือข้อมูลที่ผิดๆ และยากที่จะทำให้ประเทศเติบโตขึ้นได้ในอนาคต