เลี้ยงลูกผิดทำลายสุขภาพจิต

เลี้ยงลูกผิดทำลายสุขภาพจิต

สามประโยคของพ่อแม่ที่รักและปรารถนาให้ลูกเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งใจและกาย แสดงออกถึงข้อผิดพลาด 3 ประการในการเลี้ยงดูลูกที่พ่อแม่ทั้งหลายมักมีร่วม

เข้าใจแล้วล่ะว่าลูกได้คะแนนไม่ดีเพราะครูไม่ชอบหน้า”    

ถ้าลูกไม่อยากออกค่ายของโรงเรียนเพราะห้องน้ำสกปรก  เดี๋ยวแม่จะเขียนใบลาป่วยให้”    

ลูกไม่ติดทีมโรงเรียนก็เพราะทั้งทีมมีแต่เด็กเส้นทั้งนั้น”   

                        การที่บุคคลหนึ่งจะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (personality disorder) ระหว่างที่เติบโตขึ้นมาหรือไม่นั้น ถูกกำหนดโดยหลายปัจจัยซึ่งได้แก่พันธุกรรม  ลักษณะทางชีววิทยา สิ่งแวดล้อมทางบ้าน และการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ซึ่งประการหลังนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเพิ่มหรือลดความเป็นไปได้ในการที่เด็กคนนั้นจะมีพัฒนาการของความผิดปกติทางบุคลิกภาพในเวลาต่อไปของชีวิต

                        ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่พูดถึงนี้หมายถึงการเบี่ยงเบนไปจากคนปกติทั่วไปในด้านความคิด   ด้านการควบคุมอารมณ์ตนเอง ความรู้สึกต่อต้านสังคม   การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น    การมีความรู้สึกทางอารมณ์อย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  ฯลฯ   ความผิดปกตินี้มีผลอย่างสำคัญต่อสุขภาพจิตซึ่งเป็นฐานสำคัญของการมีชีวิตอย่างมีความสุข

                        Dr.Daniel Lobel เขียนบทความชื่อ  "3 Common Parenting Errors That Threaten a Child’s Mental Health"  ในวารสาร Psychology Today ฉบับล่าสุดของเดือนพฤษภาคม 2021   ซึ่งให้คำแนะนำพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกที่ผิด ผู้เขียนขอนำมาสื่อสารต่อในวันนี้

                        การพยายามในการสนับสนุนลูกทำให้เกิด 3 ข้อผิดพลาดในการเลี้ยงดูซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกมีพัฒนาการของความผิดปกติทางบุคลิกภาพขึ้น   ประการแรก   “เข้าใจลูกแล้วล่ะว่าลูกได้คะแนนไม่ดีเพราะครูไม่ชอบหน้า”    พ่อแม่จำนวนมากพยายามลดความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดของลูกเพื่อให้ลูกมีความสุข  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด

                        ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกได้คะแนนไม่ดีโดยลูกอ้างว่าเพราะครูไม่ชอบหน้า   หากไปตรวจสอบพบว่าลูกไม่เคยส่งการบ้านเลย  พ่อกลับขอให้ครูใหญ่เปลี่ยนครูให้ ซึ่งหมายถึงว่าพ่อปกป้องลูกอย่างไม่ถูกต้องเพราะแทนที่จะให้ลูกรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไปกลับยอมรับข้ออ้างว่าครูไม่ชอบหน้า  เช่นนี้เขากำลังสอนลูกอย่างผิด ๆ

                                    สิ่งที่พ่อควรทำก็คือให้ลูกรับผิดชอบต่อการเลือกกระทำของเขาและต่อพฤติกรรมของเขา การสนับสนุนให้ลูกโยนความผิดให้คนอื่นแทนที่จะรับผิดชอบเองเป็นการสนับสนุนให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพในเรื่องการหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ในเวลาต่อไป

                        การให้ลูกไปกับพ่อเพื่อพบครูและครูใหญ่   จะเป็นการบังคับให้ลูกต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาได้ทำไป เขาจะเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองอย่างไม่มีวันลืม   อีกตัวอย่างคือลูกขอให้แม่ซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ให้   แต่ได้คำตอบว่ามันก็ยังดีอยู่  ลูกจึงเอาไปโยนทิ้งจนหักและด้วยความรักแม่ก็ซื้อเครื่องใหม่ให้    การกระทำเช่นนี้คือการส่งสัญญาณให้ลูกเข้าใจว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองซึ่งเป็นการเลี้ยงลูกที่ผิด

                        ประการที่สอง   “ถ้าลูกไม่อยากออกค่ายของโรงเรียนเพราะห้องน้ำสกปรก  เดี๋ยวแม่จะเขียนใบลาป่วยให้”     ความรักลูกทำให้ไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญอุปสรรค  ต้องทนลำบากจึงช่วยให้ลูกหลีกเลี่ยงอุปสรรคอยู่เสมอ   การสอนให้ลูกไม่กล้าเผชิญอุปสรรค     ไม่ยอมทนลำบากเหมือนเพื่อน  คนอื่น ทำให้ลูกเห็นว่าตนเองเป็นคนไม่คล่องตัว  ไม่สามารถปรับตัวกับสถานที่  ตนเองไม่คุ้นเคยได้

                        การสอนที่ถูกต้องคือให้ลูกกล้าเผชิญอุปสรรค และเรียนรู้ปรับตัวกับสถานการณ์ ซึ่งจะทำให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี  วิธีการสอนคือค่อยเป็นค่อยไป     โดยส่งสัญญาณให้รู้ว่าการอดทนกับความไม่สะดวกสบายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของทุกคน  และการเผชิญอุปสรรคนั้นเป็นเรื่องปกติของชีวิต

                        ประการที่สาม  “ลูกไม่ติดทีมโรงเรียนก็เพราะทั้งทีมมีแต่เด็กเส้นทั้งนั้น”   ในความพยายามที่จะแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจลูกนั้น   บ่อยครั้งที่พ่อแม่ช่วยเสริมความคิดของลูกว่าตนเองเป็น “เหยื่อ” ดังเช่นกรณีลูกไม่ติดทีมโรงเรียน   พ่อแม่ไม่ควรพูดหรือส่งสัญญาณสนับสนุนความคิดของการเป็น เหยื่อ” เพื่อลดความเจ็บปวดของลูก  การตอกย้ำประโยคข้างต้นทำให้ลูกคิดว่าเขาถูกกีดกันหรือถูก  บูลลี่    มิใช่เพราะความเป็นไปได้ที่คนอื่นเหมาะสมกว่า   ความรู้สึกว่าเป็น “เหยื่อ” จะทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถช่วยตนเองได้    รู้สึกว่าถูกทำให้เสียหาย      

 ความรู้สึกเหล่านี้เป็นอันตรายต่อการพัฒนาความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ (self-esteem) (ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง)  นอกจากนี้ยังเป็นการสอนลูกให้กลัวทุกสิ่งและทุกคนด้วย    แบบแผนของความคิดและความรู้สึกเช่นนี้  บ่อยครั้งปรากฏในบุคคลที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพในเรื่องความชอบหวาดระแวง (Paranoid Personality Disorder)

                        ความผิดพลาดของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกใน 3 เรื่องคือ (1) ไม่ให้ลูกรับผิดชอบการกระทำของตนเอง  (2) ไม่ให้ลูกเผชิญความยากลำบาก   และ (3) ทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็น “เหยื่อ”     มาจากความรักและความเชื่อว่าได้กระทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกแต่มิได้หมายความว่าจะถูกต้องเสมอไป    

                        สุภาษิตอาฟริกาบอกว่า “ต้องใช้ทั้งหมู่บ้านเพื่ออุ้มชูเลี้ยงดูเด็กสักคน” (It takes a whole village to raise a child.)    พ่อแม่ในฐานะองค์ประกอบสำคัญยิ่งของ "หมู่บ้าน" ต้องไม่ผิดพลาดในการทำงานตามภารกิจ.