อีกกี่ปี? เราถึงจะเป็นประเทศร่ำรวย

อีกกี่ปี? เราถึงจะเป็นประเทศร่ำรวย

คิดคำนวณกันเล่นๆ บนพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์และหลากหลายโมเดล เพื่อให้ได้คำตอบว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงได้สำเร็จในปีใด

ปัจจุบันธนาคารโลกจัดกลุ่มประเทศต่างๆ ตามระดับรายได้ประชาชาติ (GNI) ต่อหัว หรือที่เรียกว่า GNI per Capita ไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้

 
1) ประเทศรายได้ต่ำ (Low-income) ต่ำกว่า 1,035 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี
2) ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (Lower-middle-income) 1,036-4,045 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี 
3) ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (
Upper-middle-income) 4,046-12,535 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี
และ 4) ประเทศรายได้สูง
(High-income) 12,536 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ขึ้นไป 

 

จากข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ของธนาคารโลก ประเทศไทยมี GNI per Capita อยู่ที่ 7,260 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือ ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ค่า GNI นี้พอนำมาเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เป็น Nominal term (ยังไม่ขจัดเงินเฟ้อออก) ที่รายงานโดยสภาพัฒน์ฯ พบว่ามีค่าใกล้เคียงจนสามารถใช้แทนกันได้ ดังนั้น การมองไปข้างหน้าโดยใช้อนุกรมเวลาในอดีต ผมจึงขออนุญาตใช้จีดีพีแทน แล้วหารด้วยจำนวนประชากร ก็จะได้ GDP per Capita นั่นเองครับ

 

GDP per Capita เป็นความสัมพันธ์ของเศษและส่วน โดยเศษ คือ จีดีพี และส่วน คือ จำนวนประชากร และเพื่อลดทอนความยุ่งยากในการประมาณการ ขอล็อคสมมติฐานด้านจำนวนประชากรไว้ 2 ประการ ได้แก่ 1) ในช่วงปี 2564-2573 จำนวนประชากรจะเพิ่มเฉลี่ยปีละ 0.15% (3 ปีล่าสุดเพิ่มเพียง 0.3%) และจะเพิ่มสูงสุดที่ปี 2573 เท่ากับการประมาณการของธนาคารโลกพอดี และ 2) ในช่วงปี 2574-2580 จำนวนประชากรจะลดลงเฉลี่ยปีละ 1% ใกล้เคียงกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ และอีก 1 ตัวที่ไม่มีใครกล้าคาดการณ์ คือ ค่าเงินบาท เพราะต้องแปลงจีดีพีที่เป็นบาทไปเป็นดอลลาร์ ก่อนนำไปเทียบว่าอยู่ในกลุ่มใด เพื่อไม่ให้ปวดหัว ผมเลยให้คงที่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ ยาวๆ ไป

 

ฉะนั้น ระยะเวลาในการเป็นประเทศรายได้สูง จึงขึ้นอยู่กับจีดีพีอย่างเดียวแล้ว โดยหลักการถ้าจีดีพีเติบโตเร็ว เราจะเป็นประเทศรายได้สูงเร็ว แต่ถ้าจีดีพีเติบโตช้า เราจะติดกับดักรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงนานขึ้น อย่าลืมว่าวิกฤติสงครามการค้าและวิกฤติโควิด-19 ทำให้ Nominal GDP เราถอยหลังไป 2-3 ปี ฉะนั้น ในทางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ จึงต้องเอาคืนให้เร็วที่สุด

 

แต่เนื่องจาก Nominal GDP คาดการณ์ไปยาวๆ ในอนาคตให้เป๊ะเลยคงยาก  ผมเลยสมมติการเติบโตของ Nominal GDP เป็นกรณีต่ำ กลาง สูง และได้ผลลัพธ์ ดังนี้

1) กรณีต่ำ : จีดีพีเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.0% เราจะเป็นประเทศรายได้สูงในปีที่ 13 หรือปี 2577
2) กรณีฐาน
: จีดีพี
เติบโตเฉลี่ยปีละ 5.0% เราจะเป็นประเทศรายได้สูงในปีที่ 11 หรือปี 2575

3) กรณีสูง : จีดีพีเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% เราจะเป็นประเทศรายได้สูงในปีที่ 10 หรือปี 2574

 

ท่านอาจจะถามต่อว่า เราเคยทำได้ดีที่สุดเท่าใด คำตอบคือ ช่วงปี 2544-2550 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ Nominal GDP ขยายตัวถึงเฉลี่ยปีละ 8.7% ดังนั้น ถ้าหลังวิกฤติโควิด-19 เราทำเศรษฐกิจเติบโตได้ท็อปฟอร์มเหมือนในอดีต เราก็จะย่นระยะทางการเป็นประเทศรายได้สูงได้อีก 2-3 ปีเลยทีเดียว และถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะได้รวยก่อนแก่แว้บหนึ่ง เพราะปี 2573 เราก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มที่ (Super-Aged Society)

 

นอกจากนี้ ผมลองคำนวณตัวเลขของ 7 ภูมิภาค พบว่า ในปี 2575 ที่เราเตรียมจะเปิดแชมเปญฉลองความเป็นประเทศรายได้สูงนั้น (กรณีฐาน) แท้จริงแล้วจะมีเพียง 3 ภูมิภาคเท่านั้นที่สามารถทะลุทะลวงขึ้นไปเป็นภูมิภาคที่มีรายได้สูงตามนิยามของธนาคารโลกได้ ได้แก่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคกลาง

ถ้าสมมติว่านิยามไม่เปลี่ยน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องขาดแคลนแรงงานอันเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีและให้ GDP per Capita เติบโตเท่าๆ กันเฉลี่ยปีละประมาณ 5% จะพบว่า ภาคตะวันตก ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอีสาน จะมี GDP per Capita เทียบได้กับประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2582 2583 2589 และ 2595 ตามลำดับ
โห
!!! นานมาก ก็เพราะเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลักอาจจะมีรายได้น้อยกว่า แถมมีตัวหารมากกว่า  

 

ฉะนั้น ในภาพรวมเราก็น่าจะได้เป็นประเทศรายได้สูงภายใน 10-13 ปีนี้แน่นอน และถ้าการเป็นประเทศรายได้สูงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะแล้ว การเป็นประเทศรายได้สูงที่ว่านั้นมีรากฐานมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรในภูมิภาคต่างๆ ด้วย น่าจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าแน่นอน

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน