ไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ในภาวะโควิด 19
โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ลูกหนี้รายย่อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้ ซึ่งรวมถึงการชำระค่ารถเป็นรายงวดกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน
รถยนต์นับเป็นปัจจัยที่ 5 ของผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่หากว่ามีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะซื้อรถด้วยเงินสด ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็จะเข้าทำสัญญาเช่าซื้อโดยการชำระค่ารถเป็นรายงวดกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยเมื่อชำระครบทุกงวดกรรมสิทธิ์ในรถก็จะตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ ร้านอาหาร โรงแรม รถแท็กซี่ ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้มีพนักงานหรือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทำให้รายได้หายไปหรือลดลง ส่งสัญญาณว่าลูกหนี้รายย่อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ครอบคลุมสินเชื่อหลายประเภทรวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ด้วย
ความจำเป็นในการจัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์” ก็เนื่องจากการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ขณะที่หนี้เดิมก็ยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ประชาชนที่ใช้รถในการประกอบอาชีพ เช่น คนขับรถแท็กซี่ไม่สามารถผ่อนรถต่อไปได้นำไปสู่การยึดรถในที่สุด และพบว่าคนขับกลุ่มนี้จากที่ผ่อนเช่าซื้อรถต้องเปลี่ยนมาเช่ารถจากอู่รถแท็กซี่แทน
ด้วยเหตุนี้ ธปท.จึงร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจัดมหกรรมนี้ขึ้นมาโดย ธปท.ดูแลในส่วนสำนักงานและบริษัทเช่าซื้อในเครือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดูแลสัญญาเช่าซื้อมาตรฐานอันเป็นไปตาม “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” กระทรวงยุติธรรม ดูแลการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องและสำนักงานศาลยุติธรรม ดูแลคดีความเกี่ยวกับเช่าซื้อ
นอกจากนี้ยังมี เข้าร่วมในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด บริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด บริษัทเงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)
สำหรับความพิเศษของมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อรถยนต์ครั้งนี้คือ จะครอบคลุมลูกหนี้เช่าซื้อบุคคลธรรมดาทุกกลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1. กลุ่มที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย-NPL) หรือเป็นกลุ่ม NPL แล้วแต่ยังไม่ถูกยึดรถและได้รับความเดือดร้อน จะใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง สามารถขอพักชำระค่างวดได้ 3 เดือนหรือตามผลกระทบที่ลูกหนี้ได้รับ โดยแนวทางใหม่จะคำนวณดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้จากฐานของค่างวดที่ได้พักชำระหนี้ตามเกณฑ์ของ สคบ. ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ถูกลงอย่างมาก ขณะที่แนวทางเดิมเป็นการคำนวณดอกเบี้ยจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด
อย่างไรก็ดี หากลูกหนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจนไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ สามารถคืนรถยนต์เพื่อลดภาระหนี้ได้ และหากการราคาขายทอดตลาดที่ได้รับต่ำกว่าภาระหนี้คงค้าง ลูกหนี้สามารถขอผ่อนปรนเพิ่มเติมได้โดยผู้ให้บริการทางการเงินอาจพิจารณายกหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม
กลุ่มที่ 2. ลูกหนี้ที่รถถูกยึดแล้วแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด ลูกหนี้สามารถใช้ช่องทางนี้เจรจากับเจ้าหนี้เช่าซื้อที่ร่วมงานเพื่อขอรถที่ถูกยึดไปคืน โดยเจ้าหนี้จะชะลอการขายทอดตลาดและปรับโครงสร้างหนี้ให้ผ่อนชำระหนี้ต่อจากที่หยุดชำระค่างวดไป โดยจะคิดค่าธรรมเนียมดอกเบี้ยจากค่างวดที่ควรจะได้รับเท่านั้นซึ่งจะไม่มาก วิธีการนี้จะช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสนำรถกลับไปประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ และนำรายได้มาส่งค่างวดให้กับเจ้าหนี้ต่อไป
กลุ่มที่ 3. ลูกหนี้ที่รถถูกยึดและขายทอดตลาดแล้วแต่ยังมีมูลหนี้เช่าซื้อส่วนที่ขาด หรือที่เรียกว่า “กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาติ่งหนี้” ในการนี้ สคบ.และ ธปท.ได้ร่วมกันศึกษาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการคำนวณยอดหนี้เช่าซื้อส่วนที่ขาด กล่าวคือ แนวทางไกล่เกลี่ยสำหรับกลุ่มนี้ ลูกหนี้จะชำระหนี้เฉพาะยอดหนี้ตามแนวคำพิพากษาของศาลและ สคบ. โดยจะให้โอกาสลูกหนี้สามารถผ่อนผันชำระหนี้ได้นานระยะหนึ่ง เช่น 3 ปี เป็นต้น
ในการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่น Self-Check App “ตรวจสอบภาระหนี้เช่าซื้อรถยนต์ด้วยตนเอง” เพื่อให้ลูกหนี้สามารถคำนวณยอดเช่าซื้อส่วนขาดแบบง่าย ๆ ซึ่งการคำนวณนี้จะใช้เฉพาะกรณีที่มีการขายทอดตลาดแล้วเท่านั้น โดยวิธีคำนวณคือ ต้นเงิน (ราคารถที่ไม่รวมดอกเบี้ย) หักด้วย เงินต้นในค่างวดที่ชำระไปแล้ว (ตามตาราง Flat Rate) หักด้วย ราคาที่ขายทอดตลาด บวกด้วย ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ อย่างไรก็ดี ภาระหนี้ที่คำนวณได้อาจไม่ใช่หนี้จริงเมื่อถูกฟ้องร้อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล (กรอกข้อมูลได้ที่ https://www.ocpb.go.th/debt)
มหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ ได้จัดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึง 31 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีผู้เช่าซื้อสนใจลงทะเบียน 13,450 คัน นับว่าได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนมากพอสมควร โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม (www.ripd.go.th) สำนักงานศาลยุติธรรม (https://mediation.coj.go.th) สคบ. (www.ocpb.go.th) และ ธปท. (www.bot.or.th, www.1213.or.th)
ทั้งนี้ลูกหนี้ต้องศึกษาวิธีการกรอกข้อมูลอย่างละเอียด และกรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เพราะข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะทำให้คำขอไกล่เกลี่ยดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ
หนี้เช่าซื้อรถยนต์คือหนี้ที่ถูกโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งถือเป็นหนี้ที่สำคัญของประชาชนรายย่อย ทั้งในส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาชีพหรือใช้ในการเดินทางของสมาชิกในครอบครัว การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อครั้งนี้ผู้เขียนจึงหวังว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้เช่าซื้อในภาวะโควิด 19 ได้ทางหนึ่ง และเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพหรือกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ภายใต้สถานการณ์ที่พึงพอใจของทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้สมดังเจตนารมย์ของการจัดงาน.
บทความโดย สุพัทธ์รดา เปล่งแสง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์