ทรัพย์สินขายทอดตลาดถูกสับเปลี่ยนอะไหล่ ใครรับผิดชอบ?
โควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์มีมูลค่า และมีส่วนประกอบจำนวนมากที่ประกอบขึ้นเป็นรถยนต์
บทความโดย สุรินรัตน์ แก้วทอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อประชาชนในทุกภาคส่วน รวมไปถึงผู้ที่ทำสัญญาเช่าซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าและมีส่วนประกอบจำนวนมากที่ประกอบขึ้นเป็นรถยนต์
ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลโดยตรงต่อผู้เช่าซื้อทำให้ไม่อาจผ่อนชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อได้จนนำไปสู่การถูกยึดเพื่อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นไปขายทอดตลาดโดยให้ผู้เช่าซื้อรับภาระค่าใช้จ่ายในการยึดทรัพย์ รวมถึงส่วนต่างของราคาทรัพย์ที่ได้จากการขายทอดตลาดกับหนี้ซึ่งผู้เช่าซื้อค้างชำระอยู่กับบริษัท
เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติจะพบว่าบุคคลที่จะทำหน้าที่ยึดรถยนต์จากผู้เช่าซื้อที่ผิดสัญญาเช่าซื้อ จะเป็นบุคคลภายนอกซึ่งผู้ให้เช่าซื้อว่าจ้างมาเพื่อทำการยึดรถยนต์ดังกล่าว และจะมีการส่งต่อไปยังบริษัทซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ขายทอดตลาดรถยนต์ โดยที่ผู้ให้เช่าซื้อจะทำสัญญาให้บริษัทที่จะทำหน้าที่ในการขายทอดตลาดเป็นผู้ดูแลรถยนต์ที่ถูกยึดไป
อย่างไรก็ดี ปรากฏในทางปฏิบัติว่าอาจมีความผิดพลาดของระบบและเป็นช่องว่างให้มีการทุจริตโดยการสับเปลี่ยนส่วนประกอบหรืออะไหล่บางอย่างที่อยู่ในรถยนต์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่าซื้อ แล้วนำอะไหล่ปลอมใส่เข้าไปแทนที่ก่อนมีการขายทอดตลาด ส่วนอะไหล่แท้ที่ถูกถอดออกมานั้นก็สามารถนำไปขายต่อได้อีกทอดหนึ่ง
ปัญหาดังกล่าวอาจเนื่องจากโดยสภาพการณ์แล้ว การยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้เช่าซื้อที่ไม่สามารถผ่อนชำระและจะไม่ติดตามรถที่ถูกยึดไปเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการไถ่ถอนรถที่ถูกยึดไป ประกอบกับขั้นตอนหลังจากรถถูกยึดไปจะใช้เวลาไม่นานเพื่อนำไปขายทอดตลาด
ในขณะเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องซื้อตามสภาพของรถที่ได้มาจากการขายทอดตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดย่อมไม่อาจจะทราบได้ว่าทรัพย์ที่มาขายทอดตลาดนั้นมีการสับเปลี่ยนอะไหล่ก่อนนำมาขาย ซึ่งทำให้ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเสียประโยชน์จากการซื้อทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพลง
ประเด็นที่จะต้องพิจารณาจากการที่พนักงานหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าซื้อขโมยอะไหล่หรือสับเปลี่ยนอะไหล่ของรถยนต์ที่ยึดมา คือ บุคคลใดจะเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีอาญาและเป็นผู้มีสิทธิ์ในการฟ้องคดีแพ่ง และมีกระบวนการใดที่จะเป็นการคุ้มครองผู้เช่าซื้อและผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดไม่ให้ต้องเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว
เมื่อพิจารณาตามสัญญาเช่าซื้อจะเห็นว่ารถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ ส่วนผู้เช่าซื้อจะเป็นเพียงแค่ผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น การดำเนินการในทางกฎหมายทั้งในทางคดีอาญาและคดีแพ่งจะมีข้อจำกัดเนื่องจากผู้เช่าซื้อไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการในการตรวจสอบการสับเปลี่ยนอุปกรณ์ของรถซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่าซื้อหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจทำได้โดยง่าย
ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนการขายทอดตลาดรถยนต์จะอยู่ภายใต้การครอบครองดูแลของผู้ให้เช่าซื้อหรือตัวแทนเท่านั้น การจะเข้าตรวจสอบหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับรถยนต์ที่ถูกยึดจะดำเนินการได้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อจึงจะสามารถดำเนินการได้ และในขณะเดียวกันฝั่งผู้ซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดก็ต้องซื้อตามสภาพที่ถูกนำมาขายทอดตลาด จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะเป็นผู้เสียหายได้โดยตรง
อีกทั้งกระบวนการในการตรวจสอบว่ามีการสับเปลี่ยนอะไหล่ก่อนนำมาขายทอดตลาดหรือไม่ โดยผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดย่อมทำได้ยาก เนื่องจากไม่ทราบสภาพเดิมของรถก่อนมีการยึด ดังนั้น ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจึงทำได้เพียงประมูลซื้อทรัพย์ในราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการได้ทรัพย์ที่ไม่สมบูรณ์
การซื้อทรัพย์ในราคาต่ำดังกล่าวส่วนต่างของเงินซึ่งเป็นยอดหนี้ที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระกับราคาทรัพย์ที่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ซื้อไปนั้น ผู้เช่าซื้อจะถูกฟ้องให้รับผิดตามสัญญา ซึ่งผลสุดท้ายบุคคลที่จะได้รับความเสียหายและถูกฟ้องให้รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวก็คือผู้เช่าซื้อ
เมื่อพิจารณาขั้นตอนโดยรวมเกี่ยวกับการยึดทรัพย์และการสับเปลี่ยนทรัพย์ที่ถูกยึดก่อนการขายทอดตลาดรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ จะเห็นได้ว่าผู้เช่าซื้อมีความเสียเปรียบทั้งในแง่ข้อกฎหมายและในทางปฏิบัติ
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรมีกฎหมายหรือระเบียบเฉพาะที่มีการบัญญัติ เพื่อคุ้มครองผู้เช่าซื้อจากการถูกสับเปลี่ยนรถยนต์ โดยการนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้ กล่าวคือให้ถือว่าในกรณีทรัพย์สินซึ่งถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่าซื้อหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าซื้อ และมีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการสับเปลี่ยนอะไหล่หรือชิ้นส่วนใดส่วนหนึ่งของรถยนต์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิด และผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้มีการสับเปลี่ยนใด ๆ
ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ในการระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่เช่าซื้อตามมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพโดยมีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกันการสับเปลี่ยนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถดังกล่าว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้เช่าซื้อและผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด และทำให้กระบวนการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเกิดความโปร่งใสและยกระดับมาตรฐานของธุรกิจสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นและลดการเอารัดเอาเปรียบผู้เช่าซื้อลง.