วัคซีนป้องกัน โควิดสายพันธุ์เดลตา
การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่อสังคมไทย เพราะแพร่กระจายรวดเร็ว เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และทนทานต่อวัคซีนได
โควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่มีการตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดียนี้ ในปัจจุบันได้ถูกจับตามองและองค์การอนามัยโลกได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่สมควรเฝ้าระวังอยู่ในกลุ่มเดียวกับสายพันธุ์อัลฟาจากสหราชอาณาจักร สายพันธุ์เบตาจากแอฟริกาใต้ สายพันธุ์แกมมาจากบราซิล
แท้จริงแล้ว สายพันธุ์อันตรายที่ควรเฝ้าระวังนี้ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ล่าสุดแต่อย่างใด แต่เป็นสายพันธุ์ที่แต่ก่อนเราเรียกกันง่าย ๆ ตามประเทศที่ตรวจพบเจอครั้งแรกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอันตรายที่ควรเฝ้าระวังอย่างมากก็เพราะฤทธิ์ความสามารถของมันนี้ยังไม่มีวัคซีนตัวใดในโลกสามารถควบคุมมันได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ
อัตราความสามารถในการแพร่เชื้อของสายพันธุ์นี้ก็รุนแรง โดยหากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพที่สุดแล้ว หากใช้โควิด-19 ที่แพร่ระบาดครั้งแรกในไทยเมื่อปีที่แล้วเป็นฐาน จะพบว่าโควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) นั้น มีความสามารถแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 50% และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ไทยต้องล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 ขณะที่สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) นี้ กลับมีอานุภาพความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์อัลฟา เพิ่มขึ้นไปอีกถึง 60% เรียกได้ว่า แพร่กระจายได้ง่ายสุดๆ
ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้การแพร่กระจายโควิดระลอกใหม่นี้รวดเร็วและรุนแรง ทำให้เราเห็นตัวเลขพุ่งทะยานเป็นจำนวนหลายพันคนต่อวันและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด ซึ่งสายพันธุ์เดลตานี้ในปัจจุบันได้กระจายไปกว่า 90 ประเทศทั่วโลก และได้มีการประมาณการถึงยอดผู้ป่วยที่จะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะนอกจากจะแพร่กระจายได้ง่ายแล้ววัคซีนที่มียังจะเอาไม่อยู่
ดังนั้น คำถามยอดฮิตที่ทุกคนสนใจใคร่หาคำตอบ ณ เวลานี้ คงจะหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า “แล้ววัคซีนตัวใดจะป้องกันสายพันธุ์เดลตานี้ได้ดีที่สุด”
รายงานการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดผู้คิดค้นวัคซีน Oxford AstraZeneca หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า แอสตร้าเซนเนก้านั้น ได้ออกมายืนยันว่า ทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์นั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาจากอินเดียได้
มีผลการศึกษาว่า วัคซีนทั้งสองนี้จะเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพได้ดีกว่าเมื่อฉีดครบ 2 โดส โดยจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตานี้ถึง 88% ในกรณีของวัคซีนไฟเซอร์และ 60% ในกรณีของแอสตร้าเซนเนก้า
หากโฟกัสที่ประเทศไทย การใช้กลยุทธ์กระจายวัคซีนเข็มแรกให้มากที่สุดและฉีดเข็มที่ 2 ภายในระยะเวลา 3 เดือนนั้นอาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้มากขึ้นเพราะ ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เราใช้นั้นจะป้องกันสายพันธุ์อันตรายนี้ได้เพียง 33% เมื่อฉีด 1 เข็ม
เพราะสายพันธุ์เดลตานี้ที่เพิ่งมีการกลายพันธุ์ไม่นานทำให้วัคซีนและข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้ในปัจจุบันพบว่านอกจากวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ยังมีวัคซีนอื่น ๆ อาทิ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่มีประสิทธิภาพที่ 60% ในการป้องกันสายพันธุ์นี้ และวัคซีนโมเดอร์นา ก็ออกมายืนยันว่าสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและการศึกษา จะเห็นได้ว่า วัคซีนที่มีความสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลตานั้น ได้แก่ ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า จอห์นสันแอนด์จอห์สัน และโมเดอร์นา