คนทำอาชีพไอทีต้องพร้อมปรับตัวและเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
หลายๆ คนอาจสนใจให้บุตรหลานเรียนในวิชาชีพทางด้านไอที ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคิดว่าอาชีพไอทียังมีโอกาสที่ดี จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและการเข้ามาของระบบเอไอ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนสับสนคือสาขาทางด้านไอทีในมหาวิทยาลัยมีหลากหลายมาก เช่น สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และล่าสุดก็มีคนพูดถึงสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูล
นอกจากนี้ เริ่มมีคำถามว่าจำเป็นต้องเรียนในหลักสูตรปกติเพื่อให้ได้ใบปริญญามาประกอบอาชีพหรือสามารถเรียนออนไลน์ได้ จากนั้นสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือจบปริญญาทางด้านเหล่านี้
เรื่องนี้ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่างานไอทีง่ายและคนไอทีทุกคนสามารถทำงานด้านไอทีได้สารพัดอย่าง แต่แท้จริงแล้ววิชาชีพทางด้านไอทีก็เหมือนวิชาชีพอื่น เช่นกันกับทางด้านการแพทย์ เศรษฐศาสตร์ที่มีสาขาย่อยจำนวนมาก และต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
การเรียนในระดับปริญญาตรีของสาขาไอทีอาจได้ความรู้พื้นฐานทางด้านไอทีเท่านั้น แต่การจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องนั้นต้องเรียนเจาะลึกและต้องมีประสบการณ์ในการทำงานพอสมควร
อาชีพไอทีในอนาคตก็ใช่ว่าจะสดใสไปทุกสาขา เพราะบางสาขาอาจมีความต้องการลดน้อยลงเช่นเดียวกับอาชีพอื่น โดยเฉพาะด้านที่ยังมีอนาคตที่ดี
ผมได้อ่านบทความจากหลายแหล่งซึ่งรวบรวมตำแหน่งงานด้านไอทีที่ยังต้องการอยู่จำนวนมาก และเป็นงานที่มีอนาคตค่อนข้างดีมี 10 ด้าน ดังนี้
1. Product Manager : งานที่ต้องการทักษะในการวางแผนเพื่อพัฒนาระบบไอที โดยต้องมีทักษะและความเข้าใจเรื่องของการจัดการบริหารโครงการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
2. AI Engineer : คนที่จะทำการบริหารจัดการและวางแผนการพัฒนาระบบเอไอให้กับองค์กรซึ่งจะต้องมีความรู้ทางด้านการพัฒนาโปรแกรมและทฤษฎีด้านเอไอต่างๆ
3. Software Developer : นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถเขียนโปรแกรมได้ยังเป็นที่ต้องการอีกมาก โดยในปี 2566 มีการคาดการณ์ว่าทั้งโลกจะมีความต้องการคนทำงานในตำแหน่งนี้ถึง 27.7 ล้านคน
4. Cloud Architect : ในปัจจุบันการพัฒนาไอทีมุ่งสู่เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้นและตลาดงานต้องการคนที่มีทักษะและมีความรู้ในเรื่องของการออกแบบระบบไอทีที่ใช้ Public Cloud Computing ของค่ายดังๆ จำนวนมาก เช่น ไมโครซอฟท์, เอดับบลิวเอส และกูเกิล
5. DevOp Engineer : การพัฒนาซอฟต์แวร์ในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ระบบการพัฒนาและการติดตั้งสามารถทำไปพร้อมกันได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีความรู้ทางด้านการใช้เครื่องมือในกลุ่มที่เรียกว่า DevOp และแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบใหม่
6. Blockchain Engineer : เทคโนโลยีด้านบล็อกเชนจะถูกนำมาใช้ทางด้านการเงินและธุรกิจต่างๆ มากขึ้น และคาดว่าในปี 2566 จะมีการลงทุนโซลูชันทางด้านนี้ถึง 15.9 พันล้านดอลลาร์ ตำแหน่งงานทางด้านนี้จึงจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต
7. Software Architect : การที่มีผู้ใช้ไอทีมากขึ้นทำให้การออกแบบระบบซอฟแวร์มีความซับซ้อนขึ้น จึงต้องการผู้เชี่ยววชาญที่มีความเข้าใจสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ที่สามารถรองรับระบบขนาดใหญ่ได้
8. Big Data Engineer : ในปัจจุบันองค์กรจำนวนมากให้ความสำคัญกับเรื่องของการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคคาะห์ จึงทำให้ตำแหน่งงานของคนที่มีทักษะทางด้านการจัดการข้อมูลและเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านข้อมูลขนาดใหญ่เป็นที่ต้องการมากขึ้น
9. IoT Solution Architect : เทคโนโลยีไอโอทีได้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม จึงมีความต้องการคนที่มีทักษะในการออกแบบระบบไอโอทีสามารถเขียนโปรแกรมและนำเทคโนโลยีเอไอมาประยุกต์ใช้กับงานไอโอทีได้
10. Data Scientist : เป็นอาชีพที่หลายคนบอกว่าน่าสนใจที่สุดในปัจจุบันและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะธุรกิจต่างๆ ต้องการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตต่างๆ
ตำแหน่งงานที่กล่าวมาทั้งหมดคืองานไอทีที่น่าสนใจในอนาคต จึงขอแนะนำให้คนที่สนใจจะทำงานในด้านไอทีได้ไปศึกษาเพิ่มเติมและมุ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่างไรก็ตามอาชีพไอทีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนทำอาชีพนี้ก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวเองและต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต