หนี้ครัวเรือนแผลเป็นเศรษฐกิจไทย อุปสรรคฟื้นฟูประเทศหลังโควิด
ตั้งแต่ช่วงต้นปีมีการพูดถึงเรื่องของ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ทุกประเทศรวมถึงไทยจะต้องเผชิญจากผลที่เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤติที่ยาวน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจะทิ้งรอยแผลที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปอีกระยะแม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายได้ก็ตาม
หนึ่งในแผลเป็นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงคือ "การมีภาวะหนี้สูง" ทั้งในส่วนของหนี้ภาคธุรกิจ หนี้รัฐบาล และ “หนี้ครัวเรือน” โดยในส่วนหนี้ของครัวเรือนเป็นปัญหาอย่างมากกับเศรษฐกิจ ในระยะสั้นจะฉุดกำลังซื้อ ลดทอนความเชื่อมั่น ส่วนในระยะยาวหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงก็เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ความรุนแรงของหนี้ครัวเรือนชัดเจนขึ้นสะท้อนผ่านระดับหนี้ครัวเรือนของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แตะระดับ 90.5% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นถึง 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน หากคิดเป็นจำนวนหนี้ทั้งหมดจะอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน
ปัญหาของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นของไทยหลักๆไม่ได้มาจากการก่อหนี้เพิ่มอย่างเดียว แต่มาจากวิกฤติที่กระทบต่อการหารายได้ มีครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนมาก มาตรการการควบคุมโรคระบาดที่เข้มขึ้นเพื่อหยุดยั้งตัวเลขผู้ป่วย และลดจำนวนผู้เสียชีวิตเพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขเข้าสู่ภาวะล่มสลาย
การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 1 ปีครึ่ง ในภาวะที่ภาครัฐมีข้อจำกัดในการออกมาตรการช่วยเหลือ คนที่ตกงานเฉียบพลัน ถูกลดเวลาการทำงาน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง คนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่ม “เปราะบาง” จำนวนไม่น้อยที่หันไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยจึงมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว
แผลเป็นจากการมีหนี้ครัวเรือนระดับสูงไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการมีหนี้สินครัวเรือนระดับสูงจะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากครัวเรือนต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ ส่งผลให้รายได้ที่เหลือใช้จ่าย (Disposable income) ลดลง กระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวอย่างมากและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและปานกลาง โดยภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่ลดลง จะทำให้ภาคครัวเรือนมีงบดุลที่แย่ลงและเผชิญกับปัญหาหนี้สะสม (debt overhang)
หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงกว่า 80% จะส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยนั้นสูงกว่าระดับ 80% ของจีดีพีมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1ปี 2563 แล้ว แต่หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากในเวลาอันรวดเร็วทำให้ครัวเรือนไม่สามารถจะก่อหนี้ได้มากนัก
ในทางตรงกันข้ามแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น ครัวเรือนก็ต้องซ่อมแซมงบดุลของตัวเองโดยปรับตัวโดยการลดค่าใช้จ่ายและการเลี่ยงก่อหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็น (deleveraging) ทำให้การบริโภคสินค้าต่างๆลดลง
ในสภาวะแบบนี้ แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าหนี้ครัวเรือนจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปอีกหลายปี เป็นปัญหาที่จะกระทบกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่โควิดคลี่คลายลง