ความปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม
บทความในวันนี้ ผมจะไม่พูดถึง “สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้” เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาวิเคราะห์และให้ข้อมูลทางวิชาการมากมายอยู่แล้ว
ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรณีการเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเช้ามืดของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นี้ นอกจากจะทำให้มีผู้บาดเจ็บ 30 ราย และเสียชีวิต 1 รายแล้ว ยังได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนและชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงงานในรัศมี 1-5 กิโลเมตร เพราะต้องอพยพหนีภัยในเวลาเกิดเหตุ ซึ่งขณะนี้ยังประเมิน “ความสูญเสีย” ไม่เสร็จสิ้น
ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการเก็บซากอาคารและทำการกำจัดมลพิษทางดิน น้ำ และอากาศ โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ สั่งการ และดำเนินการต่างๆ มากมาย
กรณีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารเคมี ที่ตกค้างในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการต่างๆ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน ผู้ประกอบกิจการโรงงานและคนงานอย่างใกล้ชิด
จากการตรวจประเมินเบื้องต้น ขณะนี้ทราบว่ายังมีสารสไตลีนโมโมเมอร์ตกค้างอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขและกำจัดมลพิษต่างๆ ให้หมดอันตราย
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันสำหรับ “โรงงานที่มีความเสี่ยง” เป็น 2 ระยะ คือ
(1) ระยะสั้น ได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำหนังสือแจ้งให้โรงงานปฏิบัติตาม “แผนการบริหารความเสี่ยง” อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานเคมีภัณฑ์ 446 โรงงาน โดยให้ประสานกับสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเร่งด่วน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ในทุกช่องทาง
(2) ระยะยาว ได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จัดลำดับอันตรายของโรงงานที่มีความเสี่ยงและตรวจสอบอย่างเป็นระบบ โดยให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Safety Application” เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบและเก็บข้อมูลโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการใช้สารเคมีอันตรายมากน้อยเพียงใด เก็บอย่างไร ป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีอย่างไร รวมถึงวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันการดำเนินการต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
บทความในวันนี้ ผมจะไม่พูดถึง “สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้” เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาวิเคราะห์และให้ข้อมูลทางวิชาการมากมายอยู่แล้ว แต่จะพูดถึงผลกระทบของอุบัติเหตุอันตรายต่อสังคมไทยในภาพรวม
เราลองนึกทบทวนย้อนหลังดูว่า เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกี่ครั้งกี่หนแล้วในบ้านเรา อาทิ
- รถแก๊สคว่ำที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
- โป๊ะล่มที่ท่าเรือข้ามฟากท่าพระจันทร์
- ตึกโรงแรมชื่อดังถล่มที่โคราช
- ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาที่นครปฐม
- ไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งกลาง กทม.
- ไฟไหม้คอนโดมิเนียมที่หัวมุมถนนราชประสงค์
- ไฟไหม้โรงแรมชื่อดังที่ชายหาดจอมเทียนพัทยา
- ไฟไหม้โรงงานไทยออยล์
- และอื่นๆ อีกมากมายที่กลายเป็น “อุบัติเหตุซ้ำซาก” ที่ไม่รู้จักจบสิ้น
เหตุการณ์ร้ายแรงข้างต้นนี้ ทำให้เราพอจะสรุปได้ว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ขาดการเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องจริงจังจากสังคมไทย แต่เราก็ให้ความสำคัญเป็นครั้งๆ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือทำแบบ “วัวหายล้อมคอก” และ “ไฟไหม้ฟาง” เสมอๆ
เราจึงอยู่ใน “วังวน” ของอุบัติเหตุอันตรายซ้ำซาก
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของ “สิทธิในการรับรู้” (Right to Know) ของผู้คนที่อยู่รอบโรงงาน หรือ ใกล้บริเวณที่เสี่ยงภัยต่างๆว่า โรงงานทำอะไร ใช้วัตถุดิบหรือสารเคมีอะไรบ้าง มีพิษหรืออันตรายมากน้อยเพียงใด เก็บไว้ที่ใด มีจุดเสี่ยงอะไรบ้าง เป็นต้น แทนที่จะวนเวียนกับคำถามที่ว่า โรงงานตั้งอยู่ก่อน หรือ บ้านพักอาศัยอยู่ก่อนหรือกล่าวโทษกันไปมา โดยลืมการเตรียมการป้องกันที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า
ความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่มีผลต่อชุมชนโดยรอบ จึงมีค่าเกินกว่าที่จะคาดหมายได้ และเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องอีกมากมายเดือดร้อนไปด้วย
ดังนั้น “ความรับผิดชอบต่อสังคม” บนพื้นฐานของแนวความคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” หรือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development : SD) จึงเป็นเรื่องที่ “ผู้นำ” ต้องผนวกเอาไว้ในนโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กรเสมอและจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย ครับผม !