แรงบันดาลใจจาก 'เอสโตเนีย' ความสำเร็จที่ SMEs ต้องเรียนรู้
ความสำเร็จของเอสโตเนีย ประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด มีประชากรแค่ล้านกว่าคน เกิดจากผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและเข้มแข็ง
ผมมีโอกาสได้เดินทางไปยุโรปหลายครั้ง กลับมาก็จะมีเรื่องที่ประทับใจมาบอกเล่าท่านผู้ประกอบการ SMEs ทุกครั้ง กลุ่มประเทศในอ่าวฟินแลนด์ ทะเลบอลติก ตั้งแต่ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และ ฟินแลนด์ ที่ผมเคยไปท่องเที่ยว เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่สวยงาม มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการนำมาพัฒนาประเทศได้ เมื่อสี่ปีที่แล้วเคยนำเสนอบทความเรื่อง 'Finland ประเทศเล็กที่ยิ่งใหญ่ กับโอกาสของ SMEs ไทย' ในคอลัมน์ 'SME KEEP UP' หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ถึง 3 ตอน ประเทศเอสโตเนีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ขอนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและผ่อนคลายความเครียดจากเรื่องโควิด 19 ที่กำลังระบาดในบ้านเราอย่างรุนแรงตอนนี้
เอสโตเนีย เป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดของยุโรป ชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐเอสโตเนีย มีอาณาเขตทางทิศเหนือติดกับอ่าวฟินแลนด์ ทิศตะวันตกติดกับทะเลบอลติก ทิศใต้ติดกับประเทศลัตเวีย และทิศตะวันออกติดกับประเทศรัสเซีย มีพื้นที่เพียง 45,222 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แยกตัวออกมาเป็นประเทศใหม่ เมื่อ พ.ศ.2534 ภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย สภาพภูมิอากาศจัดเป็นประเทศที่มีฤดูร้อนที่อบอุ่นและฤดูหนาวที่หนาวเย็นอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมประมาณ 21 องศา สูงสุดประมาณ 30 องศา อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวประมาณ -8 องศา ต่ำสุดประมาณ -23 องศา ชาวเอสโตเนียใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กลางแจ้งในฤดูร้อนและอยู่ในร่มในฤดูหนาว
เมืองหลวงของประเทศเอสโตเนียคือเมืองทาลลินน์ ที่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ลงเรือข้ามอ่าวฟินแลนด์ เป็นเมืองที่มีความเก่าแก่ มีอาคารที่สวยงาม ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินท่องเมือง ถ่ายรูป เป็นเมืองที่รวบรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ
เอสโตเนียตกอยู่ใต้ร่มเงาของสหภาพโซเวียตนานถึง 45 ปี วันที่ได้อิสรภาพเมื่อปี พ.ศ. 2534 เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทั้งประเทศเอสโตเนียมีโทรศัพท์ใช้เฉพาะตามบ้านของผู้คนที่พอมีรายได้ ใช้พูดติดต่อกันได้ภายในประเทศ ถ้าต้องการติดต่อระหว่างประเทศ ต้องใช้โทรศัพท์กึ่งวิทยุสื่อสาร ซึ่งมีอยู่ 2 เครื่องที่กระทรวงต่างประเทศ ในปี พ.ศ.2538 จัดเป็นประเทศยากจน ประชากรมีรายได้เดือนละ 8,000 บาท (เฉลี่ยใกล้เคียงกับประเทศไทยในปีเดียวกัน)
ผ่านไปแค่ 20 ปี ในปี พ.ศ.2554 เอสโตเนียเป็นประเทศที่กลายเป็นสังคมดิจิทัลที่ประกาศให้ Internet เป็นสิทธิ์พื้นฐานของมนุษย์ชน ประชาชนสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม.ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้ง จ่ายภาษี หรือจดทะเบียนบริษัทเป็นแหล่งรวมโปรแกรมเมอร์ฝีมือดี จนได้รับสมญานามว่าเป็น 'ซิลิคอนแวลลีย์แห่งยุโรป' พลิกฟื้นจากประเทศยากจนเป็นปรเทศร่ำรวยได้ภายในช่วงเวลาอันสั้น ผู้คนร่ำรวยเป็นอันดับที่ 39 ของโลก ประชากรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละเกือบ 60,000 บาท
เอสโตเนียเป็นสังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก เมืองหลวง 'ทาลลินน์' ได้รับเลือกให้เป็น 'ชุมชนอัจฉริยะแห่งปี 2020' เป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ฟรีทั่วประเทศ ใช้ระบบขนส่งและการจราจรอัจฉริยะ (Intelligent transportation system) นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการระบบคมนาคม การขนส่งและจราจร
ความสำเร็จของเอสโตเนีย ประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด มีประชากรแค่ล้านกว่าคน เกิดจากผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและเข้มแข็ง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางแก้ไขปัญหาเรื่องคอรัปชั่น จนนำพาประเทศที่ยากจนเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในเวลาเพียงแค่ 20 ปี เอสโตเนียไม่ใช่ประเทศที่มีเมืองหลวงที่สายงามอย่างทาลลินน์ ที่ผมเคยไปสำลักความงามมาแล้ว แต่ยังมีเรื่องที่น่าสนใจที่ต้องติดตามตอนต่อไปครับ...