“ขี้เกียจ” เพื่อสร้างสรรค์
“ความขี้เกียจ” ผลักดันให้เกิดนวตกรรม นักจิตวิทยาและนักธุรกิจผู้นำเกิดความคิดว่าความขี้เกียจไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ควรเปลี่ยนคำจำกัดความใหม่
เด็กชายวัยรุ่นเบื่อหน่ายงานซ้ำซากที่อยู่ตรงหน้าเป็นอย่างยิ่งเพราะเขาต้องปิดเปิดวาล์วสลับไปมาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดแรงดันไอนํ้าจากเตาต้มสูงขึ้นจนนำไปใช้ประโยชน์ได้ วันหนึ่งเจ้านายมาตามหาตัวแต่ก็ไม่พบหากเจอเเต่เครื่องปั๊มที่มีการปิดเปิดวาล์วโดยอัตโนมัติเเละทำงานเป็นอย่างดี สิ่งที่เด็ก “ขี้เกียจ” คนนี้ประดิษฐ์ขึ้นเพราะความเบื่อหน่ายจนฝันกลางวันด้วยจิตล่องลอยได้เปิดยุคใหม่ของเครื่องจักรไอน้ำอัตโนมัติที่ไม่ต้องอาศัยคนปิดเปิดวาล์วอีกต่อไป นี่คือเรื่องจริงของการร่วมสร้างการผลิตครั้งสำคัญที่เกิดจาก “ความขี้เกียจ” เมื่อสองร้อยปีก่อน
ในช่วงเวลาตอนนี้ที่เราทำงานที่บ้านกันเราพอมีเวลาว่างจากการไม่ต้องเสียเวลาเดินทางน่าจะลองใช้เวลาทำตัวเป็น “คนขี้เกียจ” ไม่ทำอะไรสักพัก ปล่อยใจฝันกลางวันกันเรื่อยเปื่อยดูบ้าง
พฤติกรรมของเด็กคนนี้แสดงให้เห็นว่าเวลาที่มนุษย์รู้สึกเบื่อหน่ายจนขี้เกียจที่จะทำงานต่อไป มนุษย์มักค้นหาหนทางหรือวิธีการที่ง่ายกว่าในการทำงานที่ไม่น่าพึงปรารถนานี้โดยจัดระบบการทำงานให้ง่ายขึ้นเพื่อประหยัดแรงงานและเวลา พูดง่าย ๆ ก็คือ “ความขี้เกียจ” ผลักดันให้เกิดนวตกรรมขึ้นได้
ปัจจุบันนักจิตวิทยาและนักธุรกิจผู้นำจำนวนหนึ่งเกิดความคิดขึ้นว่า “ความขี้เกียจ” ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ควรเปลี่ยนคำจำกัดความเสียใหม่ การปล่อยเวลาให้ล่องลอยโดยไม่ทำอะไรอย่างมีกลยุทธ์ (strategic idleness) อาจเป็นเครื่องมือที่ทรงอำนาจในการสร้างสรรค์ก็เป็นได้
Bill Gates และ Walter Chrysler (นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจคนสำคัญในวงการรถยนต์ในทศวรรษ 1920) เป็นผู้บุกเบิกความคิดในแนวนี้ว่า “จะจ้างคนขี้เกียจทำงานที่ยาก เพราะคน ขี้เกียจมักค้นพบหนทางที่ง่ายในการทำงาน” การศึกษาของนักวิจัยชาวคานาดาคนหนึ่งพบว่าการที่ใจล่องลอยอย่างไม่ทำอะไรจะไปช่วยเพิ่มการทำงานของส่วนวงจรในสมองที่เรียกว่า DMN (Default Mode Network) หรือระบบที่เชื่อมส่วนต่าง ๆ ของสมองซึ่งทำงานในเรื่องการแก้ไขปัญหา เเละเมื่อจิตใจของบุคคลล่องลอยไม่สนใจโลกภายนอกก็จะทำให้การทำงานในส่วนนี้ของสมองยิ่งเพิ่มมากขึ้น
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าสมองของมนุษย์พัฒนาขึ้นมาอย่างแฝงความขี้เกียจเอาไว้ บรรพบุรุษของเราเเต่โบราณรู้ว่าพลังงานจากร่างกายเป็นทรัพยากรอันจํากัดที่มีค่ายิ่ง ดังนั้นจึงต้องถนอมแรงไว้ใช้ในเรื่องที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ การหาอาหาร การหนีจากสัตว์ที่มาทำร้าย การต่อสู้รักษาชีวิตให้รอด ฯลฯ
บรรพบุรุษของเราเรียนรู้การคิดประเมินการใช้พลังงานร่างกายกับการได้รับผลตอบแทนอย่างไม่รู้ตัว การใช้แรงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับการอยู่รอด การทําให้เเรงหมดไปกับเรื่องที่ไม่ใช่ผลตอบแทนระยะสั้นซึ่งทำให้อยู่รอดได้เป็นความเสี่ยง ดังนั้น จึงเรียนรู้ที่จะใช้แรงงานแบบประหยัดอย่างเอาปลอดภัยไว้ก่อน การปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเกียจคร้านจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องปกติ
ในช่วงเวลาหนึ่งพันปีที่ผ่านมา เมื่อสังคมพัฒนาขึ้น มนุษย์ได้เรียนรู้ว่าการทำงานหนักเเละความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากินนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นของตนเองและครอบครัว จนเกิดเป็นค่านิยมของสังคมขึ้น เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนคนทั่วไปในโลกนอนเฉลี่ย 9 ชั่วโมง ต่อคืน ปัจจุบันเหลือเพียง 6.8 ชั่วโมง เท่านั้น
ทุกสังคมมีคําสอนว่าการทำงานหนักและความขยันเป็นกุญเเจไปสู่ความสำเร็จและความสุข ส่วนการฝันกลางวันหรือการปล่อยใจให้ล่องลอยไปตามจินตนาการอย่างเกียจคร้านเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา ในบางศาสนาถือว่าเป็นบาปด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าหากมนุษย์ทำงานหนักมากจนถึงจุดหนึ่งก็มีทางโน้มที่ผลิตภาพ (productivity หรือผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยของวัตถุดิบ ซึ่งในที่นี้คือคน) ซึ่งเป็นหัวใจของความกินดีอยู่ดีจะลดลง คำอธิบายก็คือเมื่อไม่มีเวลาพักผ่อนให้สดชื่น มนุษย์อาจสร้างความผิดพลาดได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
เมื่อมนุษย์ถูกบังคับให้ทํางานหนัก ก็มักเน้นความสนใจไปที่ผลงานขั้นสุดท้าย จนทําให้ขาดจินตนาการและความเป็นอิสระในการคิดอันเป็นปัจจัยของการเกิดความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นการคิดหาเเนวทางใหม่หรือการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ มาใช้จึงมักไม่เกิดขึ้น
แนวคิดใหม่ในเรื่องการใช้บางเวลาไปกับการฝันกลางวันโดยปล่อยใจให้ล่องลอย ปล่อยตัวแบบคนขี้เกียจอย่างจงใจได้รับการสนับสนุนจากงานศึกษาวิจัยด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา (neuroscience) มากขึ้นทุกทีจนเกิดความเข้าใจใหม่ในเรื่องคุณค่าของพฤติกรรมดังกล่าว
งานวิจัยชี้ว่าการหยุดพักงานและปล่อยให้ใจโปร่งล่องลอยจะช่วยให้สมองสามารถเก็บข้อมูลได้ดีขึ้น เกิดความคิดใหม่ มองเห็นแง่มุมสดใหม่ และเห็นการเชื่อมต่อลักษณะใหม่ ๆ ของความคิด
ในช่วงเวลานี้ที่เรามีเวลาว่างให้ฝันกลางวัน หรือคิดอะไรเรื่อยเปื่อยได้มากขึ้น จึงควรหาประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำตัวแบบคนขี้เกียจ (ตื่นสายกว่าปกติโดยฝันกลางวันแต่เช้าตรู่) มีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์บ้าง ปล่อยให้สมองได้พักผ่อน คิดอะไรอย่างเสรีไม่เกี่ยวกับงาน
“คนขี้เกียจ” มักเก่งในการมองหาหนทางที่ง่ายในการทำงาน แต่คนที่พยายามเป็น “คนขี้เกียจ” อย่างมีกลยุทธ์ย่อมเก่งกว่าในการหาหนทางทำงานที่ง่ายด้วยความคิดที่สดใหม่และสร้างสรรค์.