ผลกระทบมาตรการ Social Distancing ในมิติของสังคมและตัวบุคคล

ผลกระทบมาตรการ Social Distancing  ในมิติของสังคมและตัวบุคคล

ในการดำเนินนโยบาย หรือมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลเชิงลบในหลายมิติ

นับตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.2563 ที่ประเทศไทยยืนยันมีการพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายแรก! รัฐบาลก็ได้มีการกำหนดมาตรการการจัดการ และยับยั้งการระบาดของโรคระบาดดังกล่าว ด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศเคอร์ฟิว และขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดมาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคม” หรือ Social Distancing ซึ่งเป็นวิธีคิดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นความพยายามในการลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสจากคนสู่คนในสังคม

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินนโยบาย หรือมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลเชิงลบในหลายมิติ ผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ได้มีการศึกษามากมายนับตั้งแต่ ผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ต่อสุขภาพจิต และ ต่อการพัฒนาทางสมอง

ผลกระทบ Social Distancing ต่อความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น

จากบทวิจัยโดย ดร.กมเลศ โพธิกนิษฐ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก และ อ.ธนรัตน์ ทรงสมบูรณ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ เรื่อง การเว้นระยะห่างทางสังคม, ระยะห่างทางชนชั้น กับการกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรอง : กรณีศึกษากลุ่มผู้ค้าในตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก” พบว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการล็อกดาวน์ และแคมเปญ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ทำงานที่บ้าน และไม่ออกเดินทางไปไหนถ้าไม่จำเป็น 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น (Class Distancing) ทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานถ่างห่างไปมากจนน่าวิตก มาตรการ “Social Distancing” ทำให้แรงงานในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย เช่น ลูกจ้างรายวัน แรงงานหญิงในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร รวมถึงกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างเพราะสถานประกอบการปิดถาวร และกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราว เช่น ถูกลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง หรือให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รายได้ลดลง ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระค่าครองชีพในเมืองที่สูงได้ และไม่มีความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการอพยพของแรงงาน 

ขณะที่มาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตในกลุ่มชนชั้นกลางที่หยุดอยู่บ้านได้ในระดับน้อยมาก

ผลกระทบ Social Distancing สุขภาพจิตบุคคล

จากการศึกษาของ นงลักษณ์ โตบันลือภพ, ธีรารัตน์ บุญกุณะ, บุศรินทร์ ผัดวัง, จิตตวีร์ เกียรติสุวรรณ เรื่อง การรับรู้ ทัศนคติ และความรู้ต่อมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและผลต่อการปฏิบัติตัวตามมาตรการ สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของประชาชน ในจังหวัดลำปางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตีพิมพ์ วารสารวิชาการสุขภาพภาคเหนือ ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือน ม.ค.-มิ.ย.2564 พบว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (โควิด-19) เป็นสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามแก่ชีวิตและบุคคลจะต้องพยายามปรับพฤติกรรมรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสู่ความพยายามที่บุคคลจะสร้างความเคยชินในพฤติกรรมใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New Normal เพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกายในการคงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข แต่ในระยะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการปรับตัวเข้าสู่ความเคยชินในพฤติกรรมใหม่นั้น อาจส่งผลกระทบต่อ สุขภาพจิต ด้านความเครียดและความวิตกกังวล วิธีคิด และทัศนคติต่อการใช้ชีวิตในสังคม และส่งผลกระทบโดยรวมต่อคุณภาพชีวิตได้

มาตรการการเว้นระยะทางสังคมมีผลทางลบกับการพัฒนาสมอง

“การเว้นระยะห่างทางสังคม” คือการที่ต้องใช้เวลาอยู่คนเดียว ล่าสุดมีงานวิจัยทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ออกมาชี้ว่า ถ้าต้องทำสิ่งนี้นานเกินไป อาจไม่ใช่เรื่องที่ดี ต่อ “สมอง” ของมนุษย์ทุกคน มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ได้วิจัยและสำรวจถึงประเด็นปัญหานี้ พบว่า ชาวอเมริกัน ผู้ใหญ่กว่า 36% และวัยรุ่น 61% “รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และมีความต้องการที่จะเข้าสังคมอย่างมาก” ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ลงความเห็นในทางเดียวกันว่า “รู้สึกคับข้องใจที่จะกลับไปมีปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าต่อตา” เช่นกัน ซึ่งปัญหาที่ตามมาภายหลังนี้เป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในความคิดเกือบทุกคน 

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยาได้อธิบายปัญหาการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำไมถึงส่งผลกับสมอง?

1.มนุษย์มีความจำเป็นในการเข้าสังคม (ให้มีสมดุล) คนเราทุกคนมีความต้องการเข้าสังคม ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็น “การรักษาเครือข่าย” หรือถ้าให้เรียกเข้าใจโดยง่าย สิ่งนี้คือ “การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม” สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มีชีวิตอยู่รอดในสังคมได้

 “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนต้องเว้นระยะห่างกันเป็นเวลานานเกินไป ทำให้คนเกิดอาการขั้น “โหยหา” ในการเข้าสังคมอย่างมาก เพราะสิ่งที่กำลังเผชิญทุกวันนี้เป็น “หลักปฏิบัติปกติวิถีใหม่” ที่ผิดแปลกไปจากเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน

2.“ไม่ควรเว้นระยะห่างทางสังคมนานเกินควร” จะทำให้ความจำเสื่อม การ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ทำให้บุคคล “มีความวิตกกังวลและมีความเครียดมากขึ้น” และ “การเว้นระยะห่างทางสังคมที่นานเกินควร” ยังทำให้ความจำในการเข้าสังคมเสื่อมลงด้วย เช่น การจดจำใบหน้าที่คุ้นเคย บกพร่องการจดจำข้อมูลงาน การจำรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในกิจวัตรประจำวันข้างนอกบ้าน ความรู้-ความเข้าใจสิ่งต่างๆ ถดถอยลง

กล่าวโดยสรุป มาตรการ “Social Distancing” และ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ถือเป็นยุทธวิธีที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งรัฐไทยดำเนินการเพื่อควบคุม และป้องกันโรคโควิด-19 แต่มาตรการเว้นระยะห่างนี้หากถูกทอดยาว เป็นเวลานานเกินไปจะทำให้มนุษย์มีความกระตือรือร้นทางสังคมน้อยลง รวมถึงมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ รวมถึงการพัฒนาของสมองเสื่อมถอยลงได้ นอกจากนี้ อาจส่งผลต่อช่องว่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นถูกถ่างให้ห่างมากขึ้นยากที่จะแก้ไขในระยะยาวต่อไป