มองอเมริกาทำสงครามผ่านหนังสือสามเล่ม

มองอเมริกาทำสงครามผ่านหนังสือสามเล่ม

วิกฤติหลายด้านก่อให้เกิดการวิจารณ์ และนำไปสู่คำถามที่ว่า สหรัฐกำลังถดถอยอย่างรวดเร็วจนเดินเข้าสู่ภาวะสังคมล้มเหลวในเร็ววันหรือไม่

       คำถามแนวนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ หลังสหรัฐก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤติภายในประเทศ  วิกฤติปัจจุบันอันเกิดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจท่ามกลางความแตกร้าวร้ายแรงในสังคม กระตุ้นให้คำถามนั้นกลับมาแสวงหาคำตอบแบบเร่งเร้าอีกครั้ง 

คอลัมน์นี้พูดถึงความเสื่อมถอยของสังคมหลายครั้งทั้งสังคมโบราณและสังคมอเมริกันโดยอ้างอิงผลการศึกษาที่ปรากฏในหนังสือต่างๆ  วันนี้ขอพูดถึงปัจจัยที่อาจทำให้สังคมอเมริกันเสื่อมถอยโดยใช้เนื้อหาของหนังสือ 3 เล่มเป็นฐานของการมองว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับสงคราม 3 ด้านได้แก่ สงครามกับตัวเอง สงครามกับสังคมอื่นและสงครามกับธรรมชาติ  สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาอ่านหรือไม่ค่อยแตกฉานในภาษาอังกฤษ หนังสือทั้ง 3 เล่มที่จะอ้างถึงต่อไปนี้มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)

ด้านสงครามกับตัวเองอาจมองจากหนังสือเรื่อง Are We Rome?: The Fall of An Empire and the Fate of American ของ Cullen Murphy ซึ่งพูดถึงปัจจัยภายในที่ทำให้อาณาจักรโรมันแตกสลายโดยเฉพาะความฉ้อฉลของชนชั้นผู้นำและผู้กำอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือนายทุน  แม้จะก้าวหน้าและเป็นมหาอำนาจ สหรัฐมีความฉ้อฉลสูงกว่าบรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ จี-7 ยกเว้นอิตาลี 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีขององค์กรความโปร่งใสสากลชี้ว่า สหรัฐมีความฉ้อฉลเพิ่มขึ้น  ชนชั้นนายทุนมักเข้าถึงผู้กำอำนาจรัฐได้ตลอดเวลา  ตั๋วที่นายทุนใช้ได้แก่การบริจาคเงินสนับสนุนกิจของนักการเมือง  นโยบายและกฎหมายที่ตราออกมาจึงมักโน้มเอียงไปในทางเอาใจนายทุนส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความแตกร้าวในสังคมร้ายแรงจนขณะนี้เป็นลำดับที่สองรองจากในสมัยที่เกิดสงครามกลางเมืองเมื่อ 160 ปีก่อนเท่านั้น

ด้านสงครามกับสังคมอื่นอาจมองจากหนังสือเรื่อง The Rise and Fall of the Great Powers ของ Paul Kennedy ซึ่งพูดถึงปัจจัยที่ทำให้ประเทศเป็นมหาอำนาจและความเสื่อมถอยของสถานะนั้น  จะเห็นว่าตั้งแต่เป็นมหาอำนาจแบบสมบูรณ์เมื่อชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐไม่เคยขาดสงครามกับประเทศอื่น ทั้งสงครามร้อนและสงครามเย็น  การทำสงครามและการผลิตอาวุธใหม่ต้องใช้ทรัพยากรสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง  เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอ่อนแอมานาน แต่ดูเหมือนเฟื่องฟูอยู่ได้ด้วยการใช้วิธีที่อาจเรียกว่า “พิมพ์ดอลลาร์บนกระดาษเปล่าแล้วนำไปแลกข้าวจากชาวบ้าน”  ณ วันนี้ สหรัฐจึงเป็นหนี้พะรุงพะรังรวมทั้งนับล้านล้านดอลลาร์แก่จีนซึ่งเป็นคู่ต่อสู้หลักในสงครามเย็นรอบปัจจุบัน

ด้านสงครามกับธรรมชาติอาจมองจากหนังสือเรื่อง Collapse: How Societies Choose to Fall or Succeed ของ Jared Diamond ซึ่งสรุปว่าการรักษา หรือการทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้สังคมพัฒนาต่อได้ หรือทำให้สังคมล่มจม  การพัฒนาอันยาวนานของสหรัฐอาศัยปัจจัยที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาตลอด  แม้ในช่วงนี้ สหรัฐจะมีนโยบายที่ชี้บ่งไปในทางถนอมสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ระบบนิเวศของโลกหยุดเสื่อมโทรมต่อไปเนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังพยายามเพิ่มการบริโภคแบบเกินพอดีอย่างไม่หยุดยั้ง  ความแห้งแล้งอันยาวนานประกอบกับพายุร้ายและไฟป่าซึ่งไม่เคยมีมาก่อนจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สงคราม 3 ด้านนี้คงมีผลทำให้สหรัฐเสื่อมถอย  แต่จะถึงกับล้มเหลวเมื่อไรคาดเดาได้ยาก  หากอ่าน หรือฟังข้อวิจารณ์ของบุคคลจากฝั่งที่ไม่ค่อยหวังดีต่อสหรัฐ อาจสรุปได้ว่าคงอีกไม่นาน  แต่การวิจารณ์เหล่านั้นมักไม่พูดต่อไปว่าจะเกิดอะไรในกระบวนการและหลังการล้มเหลวของสหรัฐ  บุคคลและประเทศต่างๆ ควรทำอย่างไรหรือไม่  มีประเด็นที่ใคร่ฝากให้ช่วยกันคิดคือ (1) เราในฐานะบุคคลและสมาชิกของสังคมหนึ่ง เราและสังคมของเรากำลังทำสงคราม 3 ด้านอยู่หรือไม่  (2) สหรัฐเปรียบเสมือนช้างสารขนาดใหญ่  เมื่อพลายตัวใหม่ท้าทาย ย่อมเกิดการต่อสู้  ผู้อยู่ในสถานะเสมือนหญ้าแพรกจะเตรียมตัวอย่างไรจึงจะไม่แหลกลาญด้วยเท้าของช้างสารที่กำลังต่อสู้กันเพื่อชิงความเป็นใหญ่.