อัพเดทกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินระหว่างประเทศ
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
ได้มีมติเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information: MCAA CRS) และเห็นชอบให้มีหนังสือถึงองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development : “OECD”) เพื่อแจ้งความจำนงในการลงนามเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว ตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) และตามกรอบความร่วมมือของ OECD และ Global Forum นี้ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีการดำเนินการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในลักษณะพหุภาคีกับประเทศสมาชิกทั่วโลก ปัจจุบันมีทั้งหมด 110 ประเทศ อาทิ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ
ทางกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรจึงได้มีการร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศฯ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้ กำหนดให้ “ผู้มีหน้าที่รายงาน” ได้แก่ สถาบันการเงิน ธุรกิจรับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน ธุรกิจซื้อขายตราสารทางการเงิน/ บริหารจัดการการลงทุน ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจประกันชีวิต ฯลฯ
มีหน้าที่เป็นผู้เก็บข้อมูลและรายงานข้อมูล โดยข้อมูลสำคัญที่จะถูกจัดเก็บและนำส่งกรมสรรพากร เพื่อให้กรมสรรพากรหรือหน่วยงานด้านภาษีของแต่ละประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ ข้อมูลเจ้าของบัญชี เช่น ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่เพื่อการภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ยอดคงเหลือหรือมูลค่าในบัญชี ณ สิ้นปีปฏิทินหรือวันปิดบัญชี ยอดรวมดอกเบี้ยรับและเงินปันผลรับระหว่างปี เงินได้จากการขายหรือไถ่ถอนทรัพย์สิน เป็นต้น
ที่มา: มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติเพื่อการภาษี (oecd.org)
ทำไมจึงต้องออกกฎหมายนี้มา ? อย่างที่ทราบกันว่า ในปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะธุรกรรมระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน การลงทุน การเคลื่อนย้ายของเงินทุนและปัจจัยการผลิตของผู้ประกอบการจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งทำได้ง่ายและรวดเร็วมาก และยิ่งมีความสะดวกมากเท่าไรก็ยิ่งส่งผลให้เกิดช่องทางการเลี่ยงภาษีที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่แต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ทำให้การเข้าถึงข้อมูลด้านภาษีระหว่างประเทศทำได้ค่อนข้างจำกัด หากประเทศใดที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลด้านภาษีของอีกประเทศหนึ่ง จะต้องทำหนังสือขอข้อมูลไปยังกรมสรรพากรของประเทศดังกล่าว จากข้อจำกัดในเข้าถึงข้อมูลด้านภาษีระหว่างประเทศนี้ ทำให้รัฐไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลรายได้ที่แท้จริงของคนในชาติตนที่เก็บไว้ในต่างประเทศได้ ซึ่งอาจมีผลทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ไป จึงจำเป็นจะต้องออกกฎหมายนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ และป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีด้วย
สำหรับในฝั่งของผู้เสียภาษีควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง อันดับแรก คือควรทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ นี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบการเสียภาษีของธุรกรรมระหว่างประเทศดังที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น จึงไม่ใช่การออกกฎหมายเพื่อการจัดเก็บหรือเพิ่มภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีแต่อย่างใด สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินหรือมีการลงทุนในต่างประเทศทั้งในระดับบุคคลและบริษัท ควรเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลทางภาษีหรือหลักฐานเอกสารทางภาษีในฝั่งของตนไว้ด้วยเช่นกัน อาทิ เอกสารหลักฐานแสดงการถูกหักภาษีไว้ (ใบภาษีหัก ณ ที่จ่าย) กรมธรรม์ประกันชีวิต หลักฐานการลงทุนของตนเองในแต่ละปีปฏิทินไว้ (มกราคม-ธันวาคม ของแต่ละปี) เป็นต้น
สำหรับสถานะและความคืบหน้าร่างกฎหมายนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดำเนินการพิจารณาก่อนตราเป็นกฎหมายต่อไป โดยตามปีปฏิทินที่ประเทศไทย กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานจะต้องเริ่มเก็บข้อมูล คือ ปี 2565 และจะต้องเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตามมาตรฐานที่ OECD กำหนดภายในเดือนกันยายนปี 2566