ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ เจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เสมอกับการทำหลักฐานเป็นหนังสือ
การทำนิติกรรมสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลายแบบ กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดหรือบางแบบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเช่นกัน ส่วนการทำนิติกรรมภาครัฐที่ใช้บริการจากภาครัฐ ก็กำหนดรูปแบบให้ยื่นคำร้อง คำขอหรือรูปแบบอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำร้อง คำขอ หรือรูปแบบที่กำหนดไว้
การลงลายมือชื่อ นั้น อาจใช้ พิมพ์ลายนิ้วมือ ประทับแกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นใด ลงบนเอกสารโดยมีพยานสองคน ลงชื่อรับรองไว้ ก็ใช้ได้ แต่ถ้าหากทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ต้องมีพยานลงชื่อ
ในปีพ.ศ.2544 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ออกใช้บังคับ เจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายที่รองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งในเวลาต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมขึ้นอีกสามครั้ง
หลักการสำคัญคือ ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใด เพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวโดยสรุปคือนับแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ การทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่จะต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือการทำนิติกรรมภาครัฐ บรรดาคำร้อง คำขอ ที่จะใช้บริการจากภาครัฐ ที่เดิมต้องพิมพ์หรือเขียนบนกระดาษ สามารถกระทำในรูปแบบข้อความอิเล็กทรอนิกส์ได้
การทำนิติกรรมสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือการทำนิติกรรมภาครัฐในรูปแบบข้อความอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้ต้องรับผิดหรือของคู่สัญญา หรือผู้ยื่นคำขอ คำร้อง แต่จะลงนามแบบที่กระทำในเอกสารกระดาษ คงไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แทน ซึ่งกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ความหมายไว้คือ
“ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
สำหรับการลงลายมือชื่อนั้น ถือว่าได้ลงลายมือชื่อแล้วหากได้มีการดำเนินการตามที่บัญญัติในมาตรา 9 โดยสรุปคือ ใช้วิธีที่สามารถระบุตัวเจ้าเจ้าของลายมือชื่อและแสดงได้ถึงเจตนาตามข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีลักษณะเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ทำหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น หรือวิธีการที่สามารถยืนยันตัวเจ้าของลายมือชื่อและเจตนาของข้อความนั้น โดยให้คำนึงองค์ประกอบอื่นด้วย เช่นความมั่นคงรัดกุมของวิธีการใช้ ลักษณะประเภทหรือขนาดของธุรกรรมที่ทำ ประเพณีการค้าหรือทางปฏิบัติ ความสำคัญ มูลค่าของธุรกรรม หรือความรัดกุมของระบบสื่อสาร
ทั้งนี้ได้กำหนดลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือไว้ ในหมวด2 มาตรา26และมาตรา27 นอกจากนี้ในกรณีที่มีการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมายเสมือนหนึ่งลงลายมือชื่อ ก็ได้กำหนดให้ผู้บริการต้องปฏิบัติตามมาตรา28มาตรา29
ตัวอย่างรูปแบบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ออกประกาศ เรื่องข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่29 พฤษภาคม 2563 เป็นแนวทางในการให้ผู้ใช้งานที่ต้องการลงลายมือชื่อเลือกใช้วิธีการลงลายมือชื่อที่เหมาะสมกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ตามประกาศฉบับนี้ ได้ให้ตัวอย่างของรูปแบบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไว้คือ
- การพิมพ์ชื่อไว้ท้ายเนื้อหาของอีเมล
- การสแกนภาพของลายมือชื่อที่เขียนด้วยมือและแนบไปกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
- การใช้สไตลัส(stylus) เขียนลายมือชื่อด้วยมือลงบนหน้าจอและบันทึกไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- การคลิกปุ่มแสดงการยอมรับหรือตกลง
- การทำเครื่องหมายในช่องแสดงการยอมรับ
- การใช้ลายมือดิจิตัล
ตามประกาศนี้ได้แบ่งลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไว้ 3 ประเภท คือ ประเภทที่1 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ประเภทที่2 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ประเภทที่3 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ซึ่งใช้ใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง ทั้งนี้เป็นไปตามลักษณะที่กำหนดในมาตรา 9 มาตรา 26 และที่อาศัยใบรับรองจากผู้ให้บริการตามมาตรา28 แล้วแต่กรณี
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
ข้อความผูกพันผู้ส่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560
ข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค มีใจความว่า เงินทั้งหมด670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนให้แล้ว ยกให้หมดไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับ ดังนั้นข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตามแต่การส่งข้อความของโจทก์ทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความดังกล่าวทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืม
ย่อมระงับ ไป
ไม่ได้ตอบรับไม่ผูกพัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6376/2561
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์มีใจความสำคัญ เป็นเอกสารยืนยันการทำประกันภัย ซึ่งมีการเสนอส่วนลดเบี้ยประกันภัยค่าเบี้ยประกันภัย ทุนประกันภัยและรายละเอียดของความคุ้มครองโดยระบุชื่อ น. บริษัท ล. ไว้ในตอนท้ายของจดหมายส่งถึง ช. ข้อความในจดหมายนี้มีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอให้ทำสัญญาประกันภัย มิใช่จำเลยตอบรับยืนยันการทำสัญญาประกันภัย และไม่ปรากฏว่า ช. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในขณะนั้นส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โต้ตอบหรือตอบรับตกลงทำประกันภัย
ซึ่งจะฟังได้ว่าจำเลยจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตกลงทำสัญญาประกันภัย อันจะถือว่าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยทำขึ้นมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงและถือว่าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์นั้น จำเลยลงลายมือชื่อแล้วตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9
เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเบี้ยประกันภัยจากจำเลยโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยมาแสดงโจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 867วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.