โอกาสประเทศไทยกับ ‘เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน’
การพัฒนาเศรษฐกิจได้ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวและต่อเนื่อง
บทความโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
การที่ประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่วางเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิของโลก ไม่ให้เกินกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยต้องเป้าลด 20-25 % ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ส่วนประเทศอื่นที่มีปริมาณแตกต่างกันตามความสามารถของประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตามเป้าหมาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ปรับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าแรก (ค.ศ. 2030) ได้ปรับให้มีการลดที่เพิ่มขึ้น และกำหนดเป้าในการปลอดคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2050 เช่น สหภาพยุโรป อเมริกา หรือ ญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2065-2070
สหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “อียู กรีนดีล (EU Green Deal)” ที่เป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ที่ครอบคลุมมิติต่างๆทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมนำ มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2050
ด้วยการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ ใช้พลังงานทดแทนและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ทนทาน ใช้ซ้ำได้ ซ่อมแซมได้ รีไซเคิลได้ และ ใช้พลังงานน้อย เป็นต้น
มีเป้าหมายที่จะรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ได้มากกว่า 75% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยใช้หลักการผู้ผลิตเป็นผู้รับผลิตชอบ (Extended Producer Responsibility, EPR) เช่น การเรียกคืนขวด เป็นต้น รวมทั้งการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นภาพใหญ่ของการขับเคลื่อน รวมทั้งการดำเนินงานในภาคส่วนอื่น ๆ อย่างครอบคลุม
ในขณะเดียวกันประเทศเยอรมนี ก็ได้นำไปออกกฎหมายของตนเอง เช่น กฎหมายบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้วัสดุ ในกรณีขยะพลาสติกได้กำหนดว่าในปี ค.ศ. 2030 ขวดพลาสติกประเภท PET ต้องมีองค์ประกอบของพลาสติกรีไซเคิล 25 % และเพิ่มเป็น 30 % ในระยะต่อไป เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบบาง มีระบบการเรียกคืนขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม เป็นต้น
ขณะที่สหรัฐอเมริกาหลังจากประธานาธิบดีไบเดน เข้ารับตำแหน่ง ได้กลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไปผูกกับนโยบายต่างประเทศ ด้านความมั่นคงของชาติ และด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net-zero emission) บนฐานเศรษฐกิจพลังงานสะอาด 100% ภายในปี ค.ศ. 2050 ลดการขุดเจาะพลังงานในที่ดินรัฐ และมหาสมุทรลง อย่างน้อย 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยการสร้างกลไก และการบังคับใช้กฎหมาย ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดทั้งระบบ
ในฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ที่ได้กำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 และแม้ญี่ปุ่นจะเป็นแหล่งผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ก็ได้ตั้งเป้าหมาย ในปี ค.ศ. 2035 จะงดผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ญี่ปุ่นได้แสดงศักยภาพของการดูแลสิ่งแวดล้อมจากการแข่งขัน โอลิมปิก 2020 ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลให้เกิดมูลค่า ทั้งอาคารสิ่งก่อสร้าง เหรียญรางวัลจากขยะอีเลคโทรนิกรีไซเคิล การใช้พลังงานสะอาดในอาคารและการขนส่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้ตั้งเป้าหมายแล้วเช่นกัน ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2060 เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมให้ความเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ วันที่ 4 สิงหาคม 2564 เห็นขอบกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065-2070
โดยปรับแหล่งพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย การส่งเสริมและดำเนินการยานยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจร เพื่อจูงใจในใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในการขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
ประกอบด้วย การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่จากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50 % การเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ลดมลพิษทางอากาศจาก PM2.5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30 % โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการพลังงาน และ การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับการเปลี่ยนผ่าน เป็นต้น
ดังนั้น เป็นโอกาสของประเทศไทยในการปรับกระบวนทัศน์ การพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ไปด้วยกันอย่างบูรณาการ เช่น กรอบการพัฒนาเศษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่ให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อน โดยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูง นำมารีไซเคิลได้ รวมทั้งลดมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 -2570) ที่ได้กำหนดหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนละสังคมคาร์บอนต่ำ
จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs โดยคำนึงถึงกระแสผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเพิ่มขีดการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศต่อไป .