จีนกับการล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 21
หากมองย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์โลก เราจะค้นพบว่าเมื่อประเทศร่ำรวยแล้ว ก็มักที่จะพยายามขยายอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ และ ทางทหาร
เมื่อเดือนมกราคมปี 2560 ที่เมืองอาดดิสอาบาบา เมืองหลวงของประเทศเอธิโอเปีย ณ สำนักงานใหญ่ของสหภาพแอฟริกัน (African Union Headquarters) วิศวกรคอมพิวเตอร์ท่านหนึ่งกำลังนั่งตรวจสอบระบบและพบสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในตัวระบบ
วิศวกรท่านนี้ค้นพบว่าบ่อยครั้งในกลางดึกระบบเหล่านี้จะเชื่อมต่อกับระบบที่อยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และอัพโหลดอีเมลและไฟล์เสียงต่างๆไปยังระบบที่เซี่ยงไฮ้ สำนักงานใหญ่สหภาพแอฟริกันแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปีพ.ศ. 2555 แต่มันไม่ได้ถูกสร้างโดยประเทศใดๆในทวีปแอฟริกา แต่กลับถูกสร้าง ออกแบบ และมอบให้เป็นของขวัญจากประเทศจีน ซึ่งตึกแห่งนี้มีมูลค่าถึง 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเลยทีเดียว
แน่นอนว่าระบบภายในทั้งหมดก็ถูกติดตั้งโดยประเทศจีน ซึ่งพวกเขาตั้งใจออกแบบระบบให้เชื่อมต่อกับระบบที่เซี่ยงไฮ้ไว้ตั้งแต่แรก หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทีมวิศวกรของตึกจึงตัดสินใจรื้อระบบใหม่ทั้งตึก และติดตั้งระบบใหม่ของพวกเขาเอง พวกเขาค้นพบว่ามีไมค์โครโฟนถูกติดตั้งและซ่อนไว้ในเฟอร์นิเจอร์ต่างๆและบนผนังในตึก
ปรากฏว่าทั้งตึกถูกดักฟังไว้หมดแล้วโดยประเทศจีน ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้แอบฟังสิ่งที่ประเทศในทวีปแอฟริกาคุยกันมาโดยตลอด สิ่งนี้เองเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ดีเยี่ยมว่าประเทศจีนนั้นวางแผนอะไรไว้กับประเทศในแอฟริกาบ้าง
หากมองย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์โลก เราจะค้นพบว่าเมื่อประเทศร่ำรวยแล้ว ก็มักที่จะพยายามขยายอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ และ ทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ช่วงสมัยศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 18 ประเทศมหาอำนาจทางยุโรปอย่าง สเปน ฝรั่งเศส หรือ อังกฤษ ก็ล้วนแล้วแต่ออกล่าอาณานิคมมาโดยตลอด
หากเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ประเทศจีนเคยเป็นประเทศที่ยากจนมากๆ หลังจากช่วง ภัยแล้งตอนปีพ.ศ. 2502 จนถึงปีพ.ศ. 2504 ซ้ำร้ายการเข้ามาปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา เจ๋อตุง ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ จนผ่านมาถึงผู้นำอย่าง เติ้ง เสี่ยวผิงในปีพ.ศ. 2521 ที่ประเทศจีนเริ่มรับจ้างเป็นฐานการผลิตค่าแรงขั้นต่ำของโลก เศรษฐกิจของประเทศจีนเริ่มดีขึ้นมาเรื่อยๆจนทุกวันนี้กลายเป็น 1 ในประเทศมหาอำนาจของโลกเป็นที่เรียบร้อย
พอประเทศจีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจและค่าแรงขั้นต่ำก็เริ่มสูงขึ้น ประเทศจีนก็ต้องขยายอำนาจทางเศรษฐกิจไปยังประเทศที่เขาเรียกกันว่า “ตลาดเกิดใหม่” (Emerging Markets) อย่างไทย เวียดนาม หรือประเทศในแถบแอฟริกา ประเทศจีนได้ลงทุนมหาศาลในทวีปแอฟริกา ซึ่งตัวเลขทั้งหมดรวมกันสูงมากจนน่าตกใจประมาณ 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในทวีปแอฟริกามีประเทศอยู่ทั้งหมด 54 ประเทศ
ในทั้งหมดนี้มีเพียงแค่ประเทศเดียวที่ประเทศจีนไม่ได้สร้างโครงการของรัฐบาลหรือเอกชนเลยคือประเทศสวาซิแลนด์ ประเทศจีนได้ลงทุนตั้งแต่ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆเช่น โรงงานไฟฟ้า เขื่อน ระบบขนส่งเช่น ถนน รางรถไฟ โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเหมืองขุดทองแดงในหลายๆประเทศ มีตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตรองเท้าที่ประเทศเอธิโอเปีย เขื่อนมูลค่า 6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐที่ไนจีเรีย หรือแม้กระทั่งสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในทวีปแอฟริกาที่ประเทศโมซัมบิก
ประเทศจีนได้ลงทุนและสร้างให้ทั้งหมดเลย แม้แต่เกาะเล็กๆในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างประเทศเคปเวิร์ด ประเทศจีนได้ลงทุนสร้างสนามกีฬา หอประชุมใหญ่ หมู่บ้านจัดสรร หอสมุด และรัฐสภาของประเทศ ประเทศจีนก็เป็นคนสร้างให้หมดเลย ซึ่งถ้าเราไปมองจริงๆของโครงการทั้งหลายในทวีปแอฟริกา เราจะค้นพบว่าโครงการที่ประเทศจีนได้ลงทุนสร้างมีเยอะมากจนนับไม่ถ้วน
ถ้าถามว่าทำไมถึงประเทศจีนถึงสร้างทั้งหมดนี้ให้กับทวีปแอฟริกา นอกเหนือจากการลงทุนในประเทศเกิดใหม่แล้ว ผู้นำประเทศจีนอย่าง สี จิ้น ผิง กล่าวในสุนทรพจน์ว่าสำหรับความร่วมมือและมิตรภาพอันงดงามของทั้งทวีปและประเทศจีนในแบบฉบับของวิถีแห่งแอฟริกา “The African Way” แต่ความจริงแล้วอาจจะไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด
ในประเทศเคนย่า ประเทศจีนได้สร้างรถไฟขนาดยาวจากเมืองไนโรบี เมืองหลวงของเคนย่าไปยังเมืองมอมบาซ่า เมืองใหญ่อีกเมืองในเคนย่า ซึ่งเป็นโปรเจคมูลค่า 3.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นโปรเจคที่แพงที่สุดตั้งแต่ประเทศเคนย่าประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษเมื่อ 58 ปีที่แล้ว ซึ่งถูกสร้างด้วยเงินของธนาคารของจีน และถูกออกแบบและสร้างด้วยวิศวกรชาวจีน ในรถไฟขบวนนี้มีประกาศเรื่องความปลอดภัยเป็นภาษาจีนด้วยซ้ำ
การสร้างรถไฟนี้ทำให้ประเทศเคนย่าเป็นหนี้ให้กับจีนหลายพันล้านดอลล่าร์ ซึ่งตอนนี้ประมาณ 72% ของหนี้สาธารณะในประเทศเคนย่าเป็นหนี้ให้กับรัฐบาลจีน ซึ่งเหตุผลที่ประเทศเคนย่าต้องการสร้างทางรถไฟแห่งนี้ก็เพราะว่าเพื่อลดการติดจราจรจากบนถนนเส้นหลัก แต่สุดท้ายแล้วรถไฟนี้ก็ไม่สามารถมาแทนที่ถนนได้ คนก็ยังสัญจรด้วยรถยนต์เป็นส่วนใหญ่อยู่ดี
นอกเหนือจากนั้นรัฐบาลจีนยังสร้างสิ่งปลูกสร้างหลายๆอย่างในแอฟริกาฟรีๆอีกด้วยอย่างเช่น รัฐสภา ให้กับบรรดา 7 ประเทศในแอฟริกา ความจริงคือ ทุกอย่างบนโลกนี้ ไม่มีของฟรี ทุกอย่างมีเงื่อนไขอยู่เสมอ การลงทุนของประเทศจีนอาจจะมองได้ว่า ในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก เขาต้องการเพื่อนและพันธมิตรในการต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาได้ ผู้ซึ่งไปผูกมิตรกับประเทศทางฝั่งยุโรปภายใต้องค์กรของ NATO
ซึ่งสิ่งที่ประเทศจีนทำก็ถือว่าได้ผลพอสมควร จากเดิมที่ประเทศไต้หวันมีบทบาทและเป็นคู่ค้ากับประเทศในแอฟริกา ทุกวันนี้เหลือเพียงประเทศเดียวในแอฟริกาที่ยังเป็นพันธมิตรกับไต้หวันอยู่ และหากเรามองลึกไปกว่านั้นเราเองจะรู้ ถ้าใครเข้ามาเป็นเจ้าหนี้เรา เขาย่อมมีอำนาจเหนือกว่าเราเสมอ และสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับประเทศที่มีชื่อว่าศรีลังกา
ในศรีลังกาประเทศจีนได้สร้างท่าเรือน้ำลึกแฮมบันโตตาในคราบสมุทรอินเดีย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ประเทศศรีลังกาไม่สามารถจ่ายเงินให้กับจีนได้ ทางประเทศจีนเลยบอกว่าถ้าไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ ก็ให้เราเป็นเจ้าของท่าเรือนี้ไปทั้งหมด 99 ปีแล้วกัน และในเมื่อศรีลังกาไม่สามารถจ่ายคืนได้จริงๆ จึงทำให้ต้องตกลงสัญญานี้ไป
เมื่อจีนสามารถยึดครองท่าเรือนี้ ทำให้จีนสามารถมีอิทธิพลเหนือน่านน้ำคราบสมุทรอินเดียทั้งๆ ที่ประเทศจีนไม่ได้อยู่บริเวณแถวนั้นเลย นี่อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ของจีนที่สามารถทำให้ต่อกรกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้อย่างดีเยี่ยมถ้าประเทศในแอฟริกาเกิดเหตุการณ์เดียวคล้ายๆกับประเทศศรีลังกาครับ.