2.ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทย  

2.ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทย  

เรามาลองติดตามศักยภาพของประเทศไทย จากข้อมูลของชุดโครงการอนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บทความโดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

บทความแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้สรุปตำแหน่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่วัดจากขนาดของ GDP ที่ปรับอำนาจซื้อแล้ว เราอยู่ในลำดับที่ 22 ของโลก แต่ในอนาคตเมื่ออีก 20 ปีข้างหน้าไทยจะตกไปอยู่เป็นลำดับที่ 25 เป็นประเทศที่รั้งท้ายในอาเซียน ซึ่งฟิลิปปินส์ก็จะแซงหน้าประเทศไทยไป มิหนำซ้ำแม้แต่เวียดนามก็จะแซงหน้าประเทศไทยไปเช่นกัน ส่วนสาเหตุใดนั้น ผู้เขียนได้นำเสนอไปในบทความคราวที่แล้วนะคะ

ทีนี้เราลองมาดูดัชนีอื่นๆ บ้าง

162930127498  

ที่มา: 1World Economic Forum (2019)/ 2World Intellectual Property Organization (2020)/ 3United Nations Development Programme (2020)/ 4 Happiness Report 2020

 

ถ้ามาดูรายได้ต่อหัวของไทยปรับด้วยอำนาจซื้อแล้วเทียบกับประเทศอื่นๆ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นรองก็แต่เพียงสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้นคือสิงคโปร์มีรายได้สูงต่อหัวสูงกว่าไทยถึง 5 เท่าส่วนจีน แม้จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากแต่จำนวนประชากรก็มหาศาลจึงทำให้รายได้ต่อหัวยังอยู่ต่ำกว่าประเทศไทยเล็กน้อยแต่ก็คาดว่าจะแซงไทยขึ้นอย่างรวดเร็วในภายภาคหน้า

ส่วนดัชนีอื่นๆ เช่น ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ดัชนีความสามารถด้านนวัตกรรม  ดัชนีทรัพยากรมนุษย์ทั้งประเทศไทยก็จัดอยู่ในลำดับกลางๆ ของโลกแต่ค่อนไปในทางที่ดีกว่าประเทศอีกกว่าครึ่งที่นำมาเปรียบเทียบกัน

เหตุผลที่เราต้องนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างของไทยกับจีน เพราะจีนจะเป็นประเทศที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือจีนเคยเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ล้าหลังกว่าไทย แต่หลังจากจีนเปิดประเทศเข้าสู่ระบบตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ก็พัฒนาตนเองจนก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีอย่างรวดเร็ว

 ดังนั้น การพิจารณาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอาเซียนและประเทศจีนในมิติต่างๆ นอกจากจะทำให้เข้าใจถึงตำแหน่งแห่งที่ของไทยในโลกและภูมิภาคได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยังทำให้เราสามารถที่จะเรียนรู้จากนโยบายเหล่านั้นได้มากขึ้น

เมื่อพิจารณาดัชนีอื่นๆ ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ พบว่าโดยทั่วไปประเทศไทยว่ามีอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางครึ่งบนในกลุ่มอาเซียน (5 ประเทศดั้งเดิม) ไทยจะตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียทั้งในด้านเศรษฐกิจการพัฒนามนุษย์และขีดความสามารถในการแข่งขัน

ที่จริงแล้วสิงคโปร์จัดได้ว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีลักษณะทางกายภาพที่ปราศจากชนบทจึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน แต่ไทยก็เป็นรองมาเลเซียมากในด้านความสามารถในการแข่งขัน (ลำดับที่ 40: ลำดับที่ 27) และดัชนีนวัตกรรมของโลก (ลำดับที่ 44: ลำดับที่ 33) และดัชนีนวัตกรรมของไทยอยู่ในลำดับที่ 44 ไทยซึ่งก็ยังอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าเวียดนาม (ลำดับที่ 42) แต่ตกอยู่ในลำดับที่ค่อนข้างต่ำมากด้านคอร์รัปชัน

แต่ในด้านความสุขแล้วไทยอยู่ในสภาพที่ดีกว่าทุกประเทศในอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์ และมีลำดับความสุขสูงกว่าเวียดนามมาก

ข้อน่าสังเกตอีกข้อ คือ ถ้าเทียบกับจีนและมาเลเซีย ไทยตกเป็นรองจีนและมาเลเซียในทุกดัชนีทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อพิจารณาดัชนีความสุข ประเทศไทยยังมีดัชนีความสุขที่ทิ้งห่างประเทศทั้ง 2 นี้หลายช่วงตัว เป็นรองแค่ฟิลิปปินส์

ทำไมคนไทยถึงมีความสุขมากกว่าชาติอื่นๆ คนไทยส่วนใหญ่เติบโตมาด้วยความรู้สึกที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใหญ่โตและสมบูรณ์ เพราะได้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็กว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หรือเมื่อยังเป็นเด็กก็มักจะให้ท่องจำว่า “ประเทศไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังค่อนข้างจะปลอดจากภัยพิบัติธรรมชาติเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งคนไทยยังมักอยู่กับปัจจุบัน ยึดมั่นในความพอเพียงไม่ค่อยคิดถึงอนาคตในระยะยาวมากๆ คนไทยจึงเป็นคนที่ค่อนข้างมีความสุข ทั้งๆ ที่ดัชนีความสุขของไทยก็ลดลงมาจาก 5 ปีที่แล้วมาก จากตำแหน่งที่ 54 เป็น 34

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลำดับที่ของไทยในดัชนีต่างๆ อื่นๆ นอกเหนือจากรายได้ประชาชาติ ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว ปรากฏว่าดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HDI) และดัชนีนวัตกรรมมีลำดับสูงขึ้น Global Competitiveness Index ซึ่งวัดขีดความสามารถในการแข่งขัน (จากทั้งหมด 141 ประเทศ) ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 (World Economic Forum, 2019) ของโลกตกลงจากลำดับที่ 31 และดัชนีด้านคอร์รัปชันร่วงหล่นจากลำดับที่ 76 เป็นลำดับที่ 104

          ที่สำคัญก็คือว่า ประเทศไทยมีปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมากมายที่ไม่มีการแก้ไข   สังคมและการเมืองก็มีความขัดแย้ง และอันดับการคอร์รัปชันสูง ขาดธรรมมาภิบาลและขาดวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างต่อนานาทัศนะและความเห็นต่างซึ่งเป็นแนวโน้มของสากล

พบกันครั้งต่อไปมาดูกันว่าทำไมเศรษฐกิจประเทศไทยถึงติดกับดัก.