‘มาตรการชดเชยรายได้’ กรณีศึกษาของ ‘ญี่ปุ่น’
เงินช่วยเหลือมาตรการชดเชยรายได้จากคำสั่งปิดเมืองของรัฐบาล สำหรับผู้ประกันตน ม. 33, 39, 40 เริ่มกระจายสู่ปชช.ผู้เดือดร้อนใน 10 จ.ควบคุมสูงสุด
เงินช่วยเหลือจำนวน 2,500-5,000 บาทนี้ ดูจะไม่สมดุลนักเมื่อเทียบกับรายได้ในสภาวะปกติหรือแม้กระทั่งเทียบกับยอดจำนวนเงินรวมที่คนเหล่านี้เสียภาษีให้กับรัฐในแต่ละปี ปีแล้วปีเล่า ยังไม่ต้องพูดถึงการเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านหรือนานาประเทศอย่างที่ผมเคยยกตัวอย่างในกรณีของมาตรการชดเชยรายได้ในประเทศอังกฤษในฉบับที่แล้ว
ในฉบับนี้ ผมจึงอยากจะยกอีกหนึ่งกรณีศึกษาในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่มีมาตรการชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้เสียภาษีทั้งในฐานะบุคคลและธุรกิจเป็นประเทศแรกๆ ในโลก คือ เรียกได้ว่าออกมาตรการได้รวดเร็วทันท่วงที
มาตรการแรกๆ ที่ออกมาคือ การแจกเงินแก่ผู้พำนักในประเทศอย่างถูกกฏหมายทั้งคนญี่ปุ่นเองและต่างชาติที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนละ 100,000 เยน ซึ่งคิดเป็นเงินไทยที่ 30,000 บาทโดยประมาณ
นอกจากเงินให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไขจำนวน 100,000 เยนแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ ทยอยออกมาตามลำดับในทุกครั้งที่มีคำสั่งปิดเมือง อันสะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่และนึกถึงความทุกข์เข็ญยากลำบากของประชาชน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยควรทำ
นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาต่างๆ ยังสะท้อนถึงปรัชญาในการบริหารจัดการประเทศท่ามกลางสภาวะวิกฤติได้อย่างดี
ญี่ปุ่นให้เงินชดเชยกับธุรกิจเพื่อพยุงสภาพคล่องให้สามารถจ้างพนักงานได้ต่อไป ซึ่งจำนวนและเกณฑ์ก็จะต่างกันไปในแต่ละช่วงของการปิดเมือง อาทิ การสนับสนุน 100% ของค่าแรงทั้งหมดสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ขณะที่สนับสนุน 80% สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยเพดานสูงสุดไม่เกิน 15,000 เยนในระหว่างช่วง เม.ย-ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแสดงความรับผิดชอบและความเห็นใจในธุรกิจขนาดกลางและเล็กซึ่งมักจะมีสภาพคล่องน้อย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการสนับสนุนให้มีการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นรายวันที่ 1,800-2,400 เยนต่อวัน โดยมีเพดานสูงสุดที่ 100 วันต่อปีหรือ 150 วันต่อ 3 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของรัฐต่อภาคธุรกิจที่ซบเซาลงอย่างมากในช่วงวิกฤติโรคระบาด
พูดได้ว่า รัฐเข้าใจถึงคัมภีร์ในการบริหารธุรกิจในช่วงวิกฤติอย่างแท้จริง เพราะธุรกิจที่ชาญฉลาดย่อมใช้โอกาสทางการค้าที่ซบเซานี้กลับมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมพร้อมเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อโอกาสมาถึง
กระทรวงการคลังญี่ปุ่นก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ อาทิ ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยในระยะ 1 ปี การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ แก่ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางและเล็ก การอำนวยความสะดวกช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งกู้ต่างประเทศ การเพิ่มวงเงินเครดิตทางการค้า ทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือพิเศษสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิดเป็นจำนวนเงิน 2 ล้านเยนต่อธุรกิจ เป็นต้น
ยังมีสิ่งละอันพันละน้อยที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่รอบคอบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็ว อาทิ การยกเว้นภาษี การอำนวยความสะดวกและลดระเบียบในบางประการเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการนำเข้าสินค้าหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางสาธารณสุข
ในแง่ของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงหรือถูกเลิกจ้างงาน รัฐให้วงเงินกู้ 200,000 เยนปลอดดอกเบี้ย และมีมาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน มาตรการช่วยเหลือค่าเล่าเลี้ยงดูบุตร หรือผู้สูงอายุหรือผู้พิการในบ้านภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละมาตรการ
จะเห็นได้ว่า มาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า รัฐมีความเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจประชาชนและภาคธุรกิจในยามยาก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ เป็นรัฐบาลชาญฉลาดและมีความสามารถจากมาตรการที่ครอบคลุม ละเอียดถี่ถ้วน และรวดเร็ว