ภาระความเสี่ยงภัยใน 'ร่างกฎหมายซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ'
CISG มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บังคับกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ มีลักษณะเป็น กฎหมายกลาง ให้นานาประเทศมีหลักปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
บทความโดย สุพัทธ์รดา เปล่งแสง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ...” (ร่าง พรบ.ฯ) จัดทำขึ้นเนื่องจากการที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ค.ศ. 1980 (The United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods 1980 หรือ “CISG”)
การค้าระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของอนุสัญญาฯ CISG จะต้องเป็นการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่คู่สัญญาต้องมีสถานประกอบการอยู่ในรัฐคนละรัฐ โดยไม่ต้องคำนึงว่าสัญชาติของคู่สัญญาเป็นชาติเดียวกันหรือต่างกัน นอกจากนี้ต้องเป็นการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเพื่อการค้าเท่านั้น หากการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศนั้นเป็นไปเพื่อการใช้สอยส่วนบุคคลหรือใช้สอยในครัวเรือน ก็จะไม่นำอนุสัญญาฯ CISG ไปใช้บังคับ เว้นแต่ในขณะทำสัญญาผู้ขายไม่รู้หรือไม่ควรจะได้รู้ว่าสินค้านั้นได้ถูกซื้อไปเพื่อการใช้สอยส่วนตัว
ปัจจุบันอนุสัญญาฯ CISG มีภาคี 94 ประเทศทั่วโลก หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของ CISG ก็จะเกิดผลดีหลายประการไม่ว่าจะเป็นการยกระดับบทบาทหรือมาตรฐานการค้าของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เกิดผลประโยชน์ต่อภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการไทยในการเข้าถึงฐานข้อมูลภายใต้อนุสัญญาฯ เพิ่มช่องทางเสริมสร้างความร่วมมือทางข้อมูลระหว่างประเทศภาคี ทั้งเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพด้านกฎหมายของไทยด้วย
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีความไม่สอดคล้องของกฎหมายไทยและแนวปฏิบัติในปัจจุบันในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เช่น สัญญาซื้อขายภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ไม่ได้แยกสัญญาซื้อขายทางแพ่งกับทางพาณิชย์ออกจากกัน อีกทั้ง ปพพ. มุ่งใช้กับการซื้อขายสินค้าหรือทรัพย์สินภายในประเทศ ไม่มีเรื่องการซื้อขายระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมากล่าวคือ กฎหมายไทยอาจไม่รองรับในบางกรณี การส่งมอบ การโอนความเสี่ยงภัยในความสูญหายหรือเสียหายของสินค้า เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญและได้เตรียมตัวในขั้นตอนก่อนการอนุวัติการ (Implementation) อนุสัญญาฯ CISG ให้เป็นกฎหมายภายในโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนตราเป็นกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเรื่องภาระความเสี่ยงภัย ตาม ร่าง พรบ.มีความน่าสนใจจึงขอนำเสนอเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้
การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศผู้ซื้อและผู้ขายมักอยู่ห่างไกลกันคนละประเทศ จึงต้องมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำให้มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้ามาควบคุมดูแลสินค้าจนกว่าจะถึงปลายทางและส่งถึงมือของผู้ซื้อสินค้ารายสุดท้าย ซึ่งเป็นไปได้ว่าในระหว่างการขนส่งอาจเกิดภัยพิบัติขึ้นทำให้สินค้าสูญหายหรือเสียหายได้
ในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศแต่ละครั้งผู้ซื้อผู้ขายมีสิทธิที่จะกำหนดประเด็นเรื่องความเสี่ยงภัยในทรัพย์สินที่ซื้อขายว่าจะให้ตกหรือโอนไปยังอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อใดอย่างไรก็ได้ ซึ่งอาจเป็นการตกลงไว้ชัดแจ้งในสัญญาซื้อขายหรือตกลงกันโดยอาศัย INCOTERMS ข้อตกลงใดข้อตกลงหนึ่งไว้ในสัญญา แต่หากคู่สัญญามิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องความเสี่ยงภัยและนอกเหนือจากการเอาประกันภัยสินค้า ร่าง พรบ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องภาระความเสี่ยงภัยไว้ ดังนี้
- การสูญหายหรือเสียหายของสินค้า ที่เกิดขึ้นภายหลังความเสี่ยงภัยได้ตกไปยังผู้ซื้อแล้ว
ไม่ทำให้ผู้ซื้อพ้นความรับผิดในการชำระราคา เว้นแต่จะเกิดจากความผิดของผู้ขาย - การส่งมอบสินค้า กรณีที่สัญญากำหนดให้มีการขนส่งสินค้าและไม่ได้กำหนดให้ผู้ขายส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ใดโดยเฉพาะ ความเสี่ยงภัยย่อมตกไปยังผู้ซื้อเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งรายแรก แต่ในกรณีที่กำหนดให้ผู้ขายส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่ง ณ สถานที่ที่ระบุไว้โดยเฉพาะ ความเสี่ยงภัยจะยังไม่ตกไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะได้ส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้ขนส่ง ณ สถานที่นั้น
- ระหว่างการขนส่ง กรณีที่ทำสัญญาซื้อขายสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ความเสี่ยงภัยย่อมตกเป็นของผู้ซื้อนับแต่เวลาทำสัญญา เว้นแต่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อเข้ารับเอาความเสี่ยงภัยนับแต่เวลาที่มีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่ง ผู้ซื้อย่อมเข้ารับเอาความเสี่ยงภัยนับแต่เวลานั้น
- กรณีอื่น ๆ ที่มิใช่ข้อ 2 และ 3 ความเสี่ยงภัยย่อมตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อเขาถือครองสินค้า ทั้งนี้ กรณีที่มีข้อกำหนดให้ผู้ซื้อต้องรับมอบสินค้า ณ สถานที่อื่นที่มิใช่สถานประกอบการของผู้ขาย ความเสี่ยงภัยย่อมตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อถึงกำหนดส่งมอบและเมื่อผู้ซื้อรู้ว่าสินค้านั้นได้มีการดำเนินการให้อยู่ในเงื้อมมือของตน ณ สถานที่นั้น
ในเบื้องต้นจะพบว่าหลักเกณฑ์การโอนความเสี่ยงภัยตาม ร่าง พรบ.ได้ยึดถือหลักเกณฑ์โอนการครอบครองทางกายภาพ (physical acts of transfer of possession) ในการพิจารณาจุดเวลาในการโอนความเสี่ยงภัย ซึ่งได้แก่ “การส่งมอบสินค้า” แก่ผู้ขนส่งรายแรกหรือส่งมอบแก่ผู้ขนส่ง ณ สถานที่เฉพาะเจาะจง หรือการที่ผู้ซื้อได้ “รับมอบสินค้า”
อย่างไรก็ดี คู่สัญญาสามารถตกลงไม่นำหลักเกณฑ์ข้างต้นมาใช้หรือตกลงให้แตกต่างไปจากที่กำหนดก็ได้ จึงกล่าวได้ว่า หลักเกณฑ์การโอนภาระความเสี่ยงภัยในสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาด (none-mandatory rule) เพราะยอมรับเจตจำนงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญาเป็นสำคัญ
ท้ายที่สุดผู้เขียนมีความเห็นว่าการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ CISG จะส่งผลดีกับประเทศไทยหลายประการ ซึ่งหากกฎหมายผ่านการพิจารณาตามกระบวนการแล้ว ประเทศไทยก็จะทำการเข้าร่วมเป็นภาคีโดยวิธีการภาคยานุวัติ (Accession) และบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไป.