โควิด-19 ชี้ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (4)
บทคัดย่อหนังสือเรื่อง Covid-19: The Great Reset วันนี้มาจากเนื้อหาส่วนที่ 5-6 ของบทที่ 1 ซึ่งพูดถึงการระบาดของโควิด-19กับข้อคิดด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเทคโนโลยี
มองเผิน ๆโควิด-19 กับสิ่งแวดล้อมอาจไม่มีความเกี่ยวพันกันนักทั้งที่ทั้งคู่มีผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นการอยู่รอดของมนุษยชาติ แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่าทั้งคู่มีความเกี่ยวพันกันสูงมากซึ่งยากแก่การคาดเดาว่าความเกี่ยวพันนั้นจะวิวัฒน์ไปอย่างไรไม่ว่าจะเป็นด้านอิทธิพลของความหลากหลายทางชีวภาพและความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่มีต่อการอุบัติขึ้นของเชื้อโรค หรือด้านอิทธิพลของเชื้อโรคจำพวกโควิด-19 ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความล่มสลายทางชีวภาพและความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสี่ยงหลักต่อมนุษยชาติ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ชี้ไปที่ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนและความสมดุลอันเปราะบางระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ความเปลี่ยนแปลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและทางภูมิอากาศกับโรคระบาดมีทั้งความคล้ายและความต่างซึ่งมีความสำคัญต่อการออกแบบนโยบาย มันคล้ายกันในบางด้าน เช่น มีผลกระทบสูงที่สุดต่อประเทศและกลุ่มชนที่มีความยากจน หรือมีความเปราะบางสูงอยู่แล้ว แต่ก็มีความแตกต่างกันในหลายด้านเช่นกันโดยเฉพาะ 2 ด้านคือ (1) ผลกระทบของเชื้อโรคร้ายเกิดให้เห็นทันทีส่วนของด้านสิ่งแวดล้อมเป็นแบบสะสมซึ่งจะมองเห็นได้ในระยะยาว และ (2) เชื้อโรค เช่น โควิด-19 เป็นต้น
เหตุของความป่วยไข้ที่นำไปสู่ความตายอย่างกว้างขวางนั้นมองเห็นได้ง่าย ส่วนความเปลี่ยนแปลทางภูมิอากาศเป็นต้นเหตุของความแห้งแล้งร้ายแรง หรือลมพายุใหญ่นั้นมองเห็นได้ยาก ความแตกต่างนี้นำไปสู่การทุ่มเททุกอย่างเพื่อยุติการระบาดของโควิด-19แบบทันทีทันใดในขณะที่นโยบายด้านยุติความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและทำลายความหลากหลายทางชีวภาพลดความเข้มข้นลง ทั้งที่เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและการขาดสมดุลในสิ่งแวดล้อมเป็นต้นเหตุสำคัญของการระบาดของเชื้อโรค
ท่ามกลางภาวะนี้มีสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะมองว่าชี้ทางให้เรา นั่นคือ มาตรการต่อสู้กับโควิด-19 ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงน้อยกว่าที่น่าจะเป็น นั่นหมายความว่า เราจะลดความเข้มข้นของมาตรการด้านปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ได้
ในด้านเทคโนโลยี เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ยุคนี้เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเร็วมาก เทคโนโลยีดิจิทัลก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนอย่างเร็วทุกด้านจนเป็นเสมือนการปฏิวัติ ด้วยเหตุนี้ วลีที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงเช่น “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” จึงเกิดขึ้น การระบาดของโควิด-19 จะเร่งให้กระบวนการทั้งหมดเกิดเร็วและครอบคลุมขึ้นอีก แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่จะทำให้เกิดปัญหาท้าทายที่สุดแห่งยุค นั่นคือ ความเป็นส่วนตัว
ตัวอย่างการเป็นตัวเร่งของโควิด-19 ได้แก่ การปิดสถานที่ต่าง ๆ และการไว้ระยะระหว่างบุคคลนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลผ่านการคุยกันด้วยเครื่องมือสื่อสารดิจิทัล การเสพการบันเทิงที่ถ่ายทอดเข้าไปในบ้าน การทำงานที่บ้าน หรือการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างแบบถาวรซึ่งจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปถึงการเกิดเทคโนโลยีใหม่ตามด้วยกฎระเบียบใหม่ในสังคม
การใช้เทคโนโลยีใหม่ติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อโควิด-19และบุคคลที่เขาเข้าไปใกล้ชิดเพื่อสู้กับการระบาดของมันได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์ การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเฝ้าระวังสุขภาพและการรักษาพยาบาลจึงนับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทห้างร้านก็ใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อสอดส่องการทำงานของพนักงานที่บ้านและในสถานที่ซึ่งจำเป็นต้องไว้ระยะห่างระหว่างบุคคล อาจใช้ประวัติศาสตร์คาดเดาได้ว่าหลังจากการระบาดครั้งนี้ผ่านพ้นไป นายจ้างจะยังใช้เทคโนโลยีในแนวนี้ต่อไปโดยใช้ข้ออ้างเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน การทำเช่นนั้นจะนำไปสู่การขัดแย้งรุนแรงระหว่างเป้าหมายด้านเศรษฐกิจกับความคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของบุคคล สังคมจะต้องเผชิญกับปัญหาว่าจะทำอย่างไรจึงจะเกิดความสมดุลซึ่งในขณะนี้ฝ่ายที่ไม่ต้องการสูญเสียความเป็นส่วนตัวมองว่าปัญหาจะยิ่งสาหัสขึ้น.