"ประยุทธ์" เป็นนายกฯสมัยสุดท้าย และศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ?
คนส่วนใหญ่เชื่อ "ประยุทธ์" เป็นนายกฯสมัยสุดท้าย และศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากความรู้สึกของประชาชนบอกอะไรบ้าง
สถานการณ์การเมืองไทย ยังอยู่ในวังวนแย่งชิงอำนาจ แย่งชิงตำแหน่ง ต่อรองการทางการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินไวรัสโควิดระบาดที่ยากจะคาดการณ์การกลายพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อการรับมือ ทั้งเรื่องบริหารแก้ปัญหา งบประมาณ และวิกฤติเศรษฐกิจ
หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงเห็นแล้วว่า ความขัดแย้งในพรรคฝ่ายรัฐบาลรุนแรงยากจะเดินไปด้วยกันได้ จึงต้องปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี
ถามว่า "ความรู้สึกของประชาชน" กรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน วันนี้ (12 ก.ย. 64) ต่อกรณี คนไทยได้อะไร? จากการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ”
พบว่า ประชาชนมองว่าจุดเด่นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือ เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้แสดงความคิดเห็น 55.76% จุดด้อย คือ มีการใช้คำไม่สุภาพ โต้ตอบกันรุนแรง 50.82%
สิ่งที่ประชาชนได้รับ คือ ทำให้เห็นการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในสภา 45.29% หลังการอภิปรายคิดว่าการเมืองไทยน่าจะเหมือนเดิม 54.67% สิ่งที่อยากฝากบอกรัฐบาล คือ เร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน 74.31% และอยากให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง 63.79%
ผู้เขียนสรุปจากโพล เห็นว่า ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้อะไรจาก ส.ส. อภิปรายไม่ไว้วางใจในสถานการณ์แบบนี้ แต่ก็ทราบเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่พูดแทนประชาชน แม้อาจรู้คำตอบจากฝ่ายรัฐบาลแล้วก็ตาม แต่ถึงกระนั้น ยังพอเป็นวิถีแห่งความพยายามเปลี่ยนทางการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
อ่านข่าว : สวนดุสิตโพล เผยคนไทย อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปากท้อง หลังจบศึกซักฟอก
อย่างที่เห็นว่า.. ความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจบศึกอภิปรายฯ เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐ มีรอยร้าวจากความขัดแย้ง และจะต้อง "ปรับ ครม." ในไม่ช้านี้ เพื่อจัดแถวภายในพรรค พปชร. และพรรคร่วมรัฐบาล
ทำให้ประชาชนทั่วไป รับรู้ถึง "ขุมอำนาจ 3 ป." ที่คอนโทรลรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ กำลังถูกแรงเสียดทาน ความกดดันภายใน ให้กลายเป็นเรื่องสะสมความไม่ลงรอยกัน
จนนำไปสู่การปิดฉากรัฐบาลประยุทธ์หรือไม่ ดังที่ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน วันนี้ (12 ก.ย. 64) เรื่อง “ความเป็นไปได้ทางการเมืองของ 3 ป.” เกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางการเมืองของ 3 ป. (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นสมัยสุดท้าย พบว่า ส่วนใหญ่ 32.06% ระบุว่า เป็นไปได้มาก รองลงมา 30.53% ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ 22.60% ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย 10.84% ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นไปได้ และ 3.97% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ว่า 3 ป. (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะยังคงมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ 39.47% ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา 23.28% ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย 20.69% ระบุว่า เป็นไปได้มาก 12.21% ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นไปได้ และ 4.35% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ผู้เขียนก็เชื่อตามที่ นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นสมัยสุดท้าย
คงไม่ต้องสาธยายอะไรให้ยืดยาวว่า เหตุใด "พล.อ.ประยุทธ์" จึงควรตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อในสมัยหน้า
เพราะช่วง 7 ปีที่ครองอำนาจบริหารประเทศนั้น ประชาชนให้เวลามานานพอสมควรแล้ว เห็นฝีไม้ลายมือพอแล้ว ซึ่งการเปลี่ยน "ผู้เล่นใหม่" จะเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นของประชาชนได้บ้าง
หากฝืนอยากเป็นนายกฯสมัยหน้า ความขัดแย้งปมเสียงส.ว.โหวตตามรัฐธรรมนูญ และการบริหารงานแก้โควิดในขณะนี้ไม่เข้าตาประชาชน จะเป็นชนวนความขัดแย้งรุนแรงก็เป็นได้!?