Retail CBDC หนทางรอดของธนาคารกลาง

Retail CBDC หนทางรอดของธนาคารกลาง

ในปัจจุบัน ไม่ว่าโลกจริงจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่โลกการเงินเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัลอย่างชัดเจน เห็นได้จากสกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์

ในปัจจุบัน Ant financial ผู้ให้บริการ Fintech อันดับหนึ่งของจีนมีลูกค้าทั่วโลกถึง 1.2 พันล้านคน ขณะที่ Paypal ผู้ให้บริการอันดับหนึ่งของสหรัฐ มีลูกค้าถึง 392 ล้านคน สำหรับทั่วโลกแล้วมีการประมาณการว่า รูปแบบการทำธุรกิจการเงินแบบ platform เหล่านี้ มีลูกค้าถึง 3 พันล้านคนทั่วโลก

เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไป ธนาคารกลางต่างก็เข้ามาเล่นในสมรภูมินี้ด้วย ผ่านการออกเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลางให้กับประชาชน (Retail CBDC--Central Bank Digital Currency) ทั้งในประเทศหมู่เกาะอย่าง Bahamas ที่ออก Sand dollar ประเทศจีนที่ออก Yuan digital ที่เรียกว่า e-cny กลุ่มสหภาพยุโรปที่กำลังออก Virtual Euro ในปี 2025 หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำลังจะออก Baht digital ในการทำ Pilot project ในเดือน เม.ย. ปีหน้า

การที่ธนาคารกลางทั่วโลกเข้ามาเล่นในเกมนี้จะเป็น Game changer เพราะผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม (หากมูลค่าธุรกรรมไม่มากนัก) และเงินได้รับการรับรอง 100% 

ลักษณะหลักของ Retail CBDC ของไทย คือ 
1. แลก 1-on-1 หรือ 1 บาทเท่ากับ 1 หน่วยของ Retail CBDC 
2. แลกผ่านตัวกลาง ซึ่งน่าจะเป็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ e-money ทั่วไป 
3. Retail CBDC ใช้ชำระสินค้าและบริการ ไม่มีค่าธรรมเนียมถ้าธุรกรรมมีมูลค่าไม่มากนัก
4. ไม่จ่ายดอกเบี้ย

ลักษณะเหล่านี้ของไทย อาจเทียบเคียงได้กับจีนที่มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) ของภาคเอกชนอย่างก้าวกระโดด ทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) ของจีนผ่านการใช้ Cashless payment เพิ่มขึ้นมาก ทั้งในแง่ของสัดส่วนผู้ใช้ต่อประชากรจากประมาณ 10% ในปี 2012 เป็น 82% ในปีที่แล้ว และวงเงินการใช้จ่าย (กว่า 533 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 สูงกว่าสหรัฐกว่า 5 เท่าตัว) 

ทางการจีนมองว่า การที่ผู้ประกอบการ Fintech และ e-commerce รายใหญ่มีฐานลูกค้ามาก ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้มาก และอาจเป็นการผูกขาดข้อมูลและการทำธุรกิจ ทางการจีนจึงผลักดันหยวนดิจิตอลซึ่งเป็นสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ของทางการจีนขึ้นแทนที่ โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานโอลิมปิคฤดูหนาวปี 2022 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเข้าไปมีบทบาทสำคัญในธุรกิจ Payment แทนที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เดิมอันได้แก่ Alipay (ผู้ใช้งานในจีน 900 ล้านคน) และ Tenpay (ผู้ใช้ประมาณ 640 ล้านคน)

ในระยะแรก ทางการจูงใจแก่ลูกค้าในการถือ CBDC โดยให้ส่วนลดและเงินพิเศษเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เริ่มมีผู้เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้นกว่า 5 แสนคน ซึ่งในประเด็นนี้ ต่างกับไทยที่ไม่มีการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษในปัจจุบัน

คำถามคือ ทำไมธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ถึงต้องพยายามผลักดัน CBDC ให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ท่ามกลางการพัฒนาของภาคเอกชนในหลาย platform เช่น อินเทอร์เน็ตและ Mobile banking, e-money ที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ เริ่มทำ (ในกรณีของไทย เช่น True money, Rabbit M-pay เป็นต้น) รวมถึงการที่เจ้าของกิจการบางราย เช่น โรงภาพยนตร์ ผู้ประกอบการอสังหาฯ หรือแม้แต่ร้านอาหารบางแห่ง เริ่มเพิ่มช่องทางการรับจ่ายเงินด้วย Cryptocurrency เช่น Bitcoin หรือ Etherium
 

ประเด็นหลักของการที่ภาคเอกชนเริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจการเงินโดยเฉพาะ Payment เพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้ประชาชนเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ เริ่ม By-pass การบริหารระบบการเงินของธนาคารกลางไป 

หรือพูดโดยง่ายคือ หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป ผู้ประกอบการเอกชนก็จะเก่งขึ้น ได้ข้อมูลของประชาชนมากขึ้น และเริ่มออกจากระบบการเงินแบบปัจจุบันไป ทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านรูปแบบปกติ เช่น การขึ้น/ลงดอกเบี้ย การดูด/ปล่อยเงินเข้าสู่ระบบ ทำได้ยากขึ้น หรือในกรณีเลวร้าย คือหากประเทศหันไปใช้เงินสกุลอื่นแทน เช่น Quote ราคาสินค้าในรูปแบบ Bitcoin (หรือหน่วย Satoshi ซึ่ง 1 Satoshi = 100 ล้าน Bitcoin) ตามที่บางประเทศเช่น El Salvador ทำ ในที่สุด ธนาคารกลางต่าง ๆ ก็จะหมดความหมาย 

หากมองโลกในแง่ร้าย ระบบใหม่นี้มีความเสี่ยงหลายประการ เช่น (1)  อาจเป็นช่องทางการฟอกเงิน (2) อาจทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศไม่ผ่านธนาคารกลาง (3) อาจทำให้สภาพคล่องในประเทศลดลง และ (4) ทำให้ความจำเป็นในการดำรงอยู่ของธนาคารกลางลดลง

แต่หากมองโลกในแง่ความเป็นจริงแล้ว ระบบการเงินเทคโนโลยีระดับโลก (Global Fintech) ใหม่นี้มีข้อดีหลายประการ เช่น (1) ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินมากขึ้น (แค่มีโทรศัพท์มือถือ) (2) ลดต้นทุนการทำธุรกรรม (3) ทำให้อัตราการหมุนของเงินในระบบ (Velocity) ดีขึ้น (4) อาจมีโอกาสให้ผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้น (เนื่องจากตัดตัวกลางทางการเงินออกไป) และ (5) เป็นแนวทางที่โลกกำลังดำเนินต่อไปในอนาคต เพราะเทคโนโลยีมีแต่จะพัฒนามากขึ้น แม้จะมีความเสี่ยงที่มากขึ้นจากปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็ตาม

เมื่อแนวโน้มโลกเป็นเช่นนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกจะปฏิเสธแนวโน้มเหล่านี้ไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนา CBDC ให้สามารถใช้ได้อย่างสะดวกและแพร่หลายเป็นสิ่งจำเป็น และในมุมมองผู้เขียนแล้ว เพื่อให้อยู่รอดได้ในระยะยาว CBDC น่าจะต้องมีลักษณะดังนี้

1. ให้ดอกเบี้ยเงินฝากเท่ากับเงินฝากออมทรัพย์ ทำให้ไม่เกิดความแตกต่างระหว่างการถือ CBDC กับเงินในบัญชีเงินฝาก
2. ให้ตัวกลางของระบบ CBDC เป็นผู้รับฝากและปล่อยกู้ได้เช่นเดียวกับเงินสดปกติ
3. ให้การแลกเปลี่ยน CBDC เป็นเงินสกุลอื่น ๆ (ทั้งเงินตราต่างประเทศและเงินสกุล Crypto) เป็นไปได้โดยง่าย ไร้ค่าธรรมเนียม ระบบตรวจสอบ (KYC) ทำได้ง่าย รัดกุม

เมื่อกำหนดดังนี้ CBDC ก็จะไม่แตกต่างจากเงินสกุลปกติหรือเงินในบัญชีเงินฝาก และสามารถใช้เป็นเหมือนตัวเลือกหนึ่งของระบบการเงินยุคใหม่ได้ ไม่แตกต่าง e-money, mobile banking หรือแม้แต่ Cryptocurrency อื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ CBDC ใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งมีข้อดีสำหรับประชาชนคือ ปลอดภัย เชื่อถือได้ และยังสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่าย (หากรัฐบาลต้องการทำนโยบายเศรษฐกิจผ่าน CBDC) ขณะที่ภาครัฐก็จะได้ข้อมูลมากขึ้น 

ผู้เขียนเห็นว่าผู้กำหนดนโยบายด้านระบบการเงินโดยรวม น่าจะเปิดกว้าง ยอมรับ รวมถึงพัฒนาระบบการเงินแบบใหม่ที่รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ทั้งในแง่ของการชำระเงิน และในแง่ของการลงทุน แทนที่จะทำนโยบายกำกับ Digital Asset รวมถึงระบบการเงินแบบใหม่ในพื้นที่สีเทา (Grey area) แบบในปัจจุบัน

เพราะโลกกำลังจะหมุนไป แต่หากใครไม่หมุนตามแล้ว ก็จะถูกกลืนหายไปในกระแสแห่งกาลเวลา.
 บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่