4 วิธีในการลดภาระเงินเกษียณ

4 วิธีในการลดภาระเงินเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ท่ามกลางภาวะโควิด-19ที่ยังคงสร้างความวิตกกังวลให้กับนานาประเทศ ภาวะเศรษฐกิจก็คงไม่สามารถกลับมาเฟื่องฟูได้ในเร็ววัน

แต่ก็คงค่อยๆดีขึ้น เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ทำให้คนที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยก็คงต้องทำใจหรือควรศึกษาเพื่อหาทางขยายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้ เช่นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองรีท หรือหุ้นปันผลเป็นต้น

เมื่อวันก่อนมีคนถามมาเรื่องเงินที่ต้องมีก่อนเกษียณเพื่อจะได้มีเงินใช้ต่อเดือน เดือนละ 50,000 บาท ซึ่งเขาได้คำนวณคร่าวๆออกมาว่าต้องเตรียมไว้ประมาณ 15 ล้านบาท(เอา 50000 คูณ 12 คูณด้วย 25หรือจำนวนปีที่คาดว่าจะอยู่หลังเกษียณ) ซึ่งเป็นเงินที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้เตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้ บางคนบอกว่างั้นลดจำนวนที่ใช้ต่อเดือนลงก็ได้ แต่ขอเตือนไว้ว่าเงิน 50,000 บาท ในตอนนี้อาจดูเพียงพอแบบสบายๆแต่ถ้าระยะเวลาในอนาคตยิ่งนานผลของเงินเฟ้อก็จะยิ่งมีผลมากขึ้นรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่บางคนที่อยู่ในวัยแข็งแรงอาจไม่ได้ใส่ใจมากนักหรือมีการสนับสนุนจากทางบริษัท วันนี้ผมก็เลยอยากเขียนถึงวิธีที่จะช่วยทำให้เราสามารถลดจำนวนเงินที่ต้องมีก่อนเกษียณลงเพื่อช่วยลดภาระในการเก็บออมหรือลงทุนลงได้บ้าง

วิธีแรกคือการยืดอายุเกษียณออกไป ในความหมายของการเกษียณในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงอายุเกษียณตามที่กำหนดไว้เช่น 60 ปี เป็นต้นแต่เป็นอายุที่เราต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้ บางคนที่บริษัทยืดหยุ่นให้กับการเกษียณก็ดีไป ส่วนคนที่บริษัทกำหนดอายุการเกษีนณไว้แล้วก็คงต้องหางานอื่นทำ ไม่ว่าจะเป็นงานในบริษัทอื่นที่เขาไม่เกี่ยงเรื่องอายุซึ่งเริ่มมีมากขึ้นสำหรับบางประเภทของงาน หรือหารายได้จากทางอื่นเช่นขายของออนไลน์ สอนหนังสือ เขียนหนังสือ ตั้งบริษัทขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดแต่การที่เรามีรายได้หลังอายุเกษียณก็จะช่วยลดจำนวนปีที่เราต้องพึ่งพิงเงินเกษีนณ ยกตัวอย่างถ้าเราสามารถมีรายได้หลังเกษียณไปอีก 10ปี เราจะลดเงินที่ต้องเตรียมไว้ได้ถึง 6 ล้านบาทหรือเหลือเงินที่เราต้องเตรียมไว้เพียงแค่ 9 ล้านบาทเท่านั้นเอง ดังนั้นในตอนนี้เราควรศึกษาหาความรู้ที่นอกเหนือจากงานที่เราทำเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต

วิธีที่ 2 คือการนำเงินเกษียณไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน อย่าลืมนะครับว่าสูตรที่ยกตัวอย่างมานั้นไม่ได้คำนึงถึงรายได้ที่จะเกินจากการนำเงินไปลงทุนต่อ แต่การลงทุนนั้นไม่ควรอยู่ในรูปแบบที่เสี่ยงมากนักเพราะเราต้องดึงเงินมาใช้ทุกๆเดือน ดังนั้นความผันผวนของราคาจึงสำคัญมากขึ้น ถ้าเราอยากเสี่ยงเพื่อหวังผลตอบแทนมากๆให้แบ่งเงินออกมาจากก้อนที่เอาไว้ใช้ เช่นนำเงิน 80 เปอร์เซนต์ไปลงทุนแบบที่ไม่เสี่ยงมากเช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นสำหรับเบิกใช้รายเดือน 10% กองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป 50% กองทุนรีทส์ 30% กองทุนหรือหุ้นปันผล 20% เป็นต้นที่เหลืออีก 20% เราจะไปลงทุนอย่างอื่นก็แล้วแต่

วิธีที่ 3 คือการทำประกัน เมื่อเราเกษียณและมีอายุมากขึ้นภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้น(และค่าใช้จ่ายส่วนนี้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไปเสียอีก) ตอนที่เราทำงานอยู่ส่วนใหญ่บริษัทที่มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผ่านประกันของบริษัท แต่เมื่อเราเกษียณแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตกเป็นภาระของเราผู้เดียว ดังนั้นเราควรเตรียมตัวศึกษาและวางแผนการทำประกันในส่วนนี้เอาไว้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง

วิธีที่ 4 ลดภาระหนี้ หลังเกษียณเราไม่ควรมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายรายเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เมื่อเราไม่ต้องมีภาระผูกพันส่วนนี้แล้วที่เหลือก็เป็นเงินที่เราจะใช้จ่ายต่อเดือนที่เป็นของเราจริงๆ หากเรายังมีภาระหนี้สินอยู่จะทำให้ค่าใช้จ่ายรายเดือนของเราต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นตอนที่เรามีเวลาและยังมีความสามารถในการสร้างรายได้อยู่ควรวางแผนลดภาระหนี้สินผูกพันเหล่านี้ลง หรือเตรียมทางออกไว้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต่างหาก

นอกเหนือจาก 4 ข้อ ที่ได้กล่าวมาแล้วการดูแลรักษาสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้เราแข็งแรงและลดโอกาสเจ็บป่วยลง การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง อย่าลืมว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆเรื่องที่เราเคยรู้หรือชำนาญอาจลดความต้องการลง และมีสิ่งใหม่ที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น การมีเพื่อนและเครือข่ายจะช่วยทำเรามีโอกาสได้อัพเดตตัวเองอยู่เสมอ

ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรงและโชคดีกับการลงทุนครับ