3 สิ่งที่รัฐควรทำก่อนคิดจะกู้เงินเพิ่ม

3 สิ่งที่รัฐควรทำก่อนคิดจะกู้เงินเพิ่ม

อาทิตย์ที่แล้วมีบทความในโซเชียลมีเดีย ตั้งคำถามกับข่าวที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มว่า ไม่ควรหลับหูหลับตากู้เงินเพียงอ้างสัดส่วนหนี้สาธารณะ

ผมเห็นด้วยกับบทความดังกล่าว เพราะการกู้เงินคือการสร้างภาระหนี้ให้กับคนทั้งประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ วันนี้จึงอยากให้ความเห็นเรื่องนี้ มุ่งไปที่ผู้ทำนโยบายพร้อมคำแนะนำให้ทำสามเรื่องก่อนคิดจะกู้เงิน 

    หนี้สาธารณะ คือหนี้ที่รัฐบาลกู้และต้องชำระคืนด้วยภาษีของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ หนี้สาธารณะมียอด 8.909 ล้านล้านบาท เท่ากับร้อยละ 55.59 ของจีดีพี เป็นวงเงินเกือบเท่างบประมาณแผ่นดินสามปี 

    ยอดหนี้ดังกล่าวสะท้อนการกู้ยืมของรัฐบาลในอดีตถึงปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่คือการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งมียอดหนี้ 5.462 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม คิดเป็นร้อยละ 61 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ที่เหลือเป็นหนี้จากการกู้ยืมอื่นๆ เฉพาะในส่วนของการกู้ยืมตาม พ.ร.บ.โควิด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมมียอด 0.817 ล้านล้านบาท จากวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเตรียมจะกู้ โดยประมาณร้อยละ 80 ของเงินส่วนนี้ รัฐบาลได้ใช้ไปกับการแจกเงินเยียวยา 

มีประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการกู้เงินและฐานะการคลังของประเทศขณะนี้ คือหนี้สาธารณะเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2562 มียอดคงค้าง 6.954 ล้านล้านบาท โดยการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังมียอดสะสม 4.172 ล้านล้านบาท นี่คือสถานการณ์การคลังก่อนโควิด พอโควิดระบาดในปี 2563 และรัฐบาลมีมาตรการเยียวยา ยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2563 คือ หนึ่งปีต่อมา เพิ่มเป็น 8.136 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.182 ล้านล้านบาทในปีเดียวซึ่งสูงมาก 

อ่านข่าว : "ประยุทธ์"ถกปรับเพดานหนี้สาธารณะทะลุ 60% รับกู้เงินเพิ่ม - ตั้งงบฯขาดดุล
 

สาเหตุที่เพิ่มเร็วก็เพราะมีการกู้จาก พ.ร.บ.โควิดเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2563 มียอดคงค้าง 0.370 ล้านล้านบาท แต่อีก 1.026 ล้านล้านบาทที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดเป็นเงินที่กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี แสดงว่า เศรษฐกิจที่ติดลบร้อยละ 6.9 ในปี 2563 มีผลอย่างสำคัญต่อรายได้ของรัฐบาล ทำให้การก่อหนี้เพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มขึ้นสูงมาก 

    สถานการณ์ปีนี้ก็เช่นกัน ช่วง 7 เดือนแรกถึงกรกฎาคม รัฐบาลได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังไปแล้ว 0.264 ล้านล้านบาท บวกกับการกู้เงินโดย พ.ร.บ.โควิดที่เพิ่มอีก 0.501 ล้านล้านบาท เมื่อรวมรายการอื่นๆ ยอดหนี้ก็เพิ่มเป็น 8.909 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 

    ประเด็นคือจากรายจ่ายที่รัฐบาลวางแผนไว้ ยอดหนี้สาธารณะอาจเพิ่มอีกอย่างน้อย 1.4 ล้านล้านบาทถึงกันยายนปีหน้า คือเป็นการกู้อีกประมาณ 75,000 ล้านบาทเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน (ประมาณการโดยผู้เขียน) อีก 129,000 ล้านบาทเป็นการใช้วงเงินกู้ตาม พ.ร.บ.โควิดให้ครบ 1 ล้านล้านก่อนสิ้นปี อีก 500,000 ล้านบาทคือวงเงินกู้โควิดรอบ 2 ที่รัฐบาลวางแผนไว้ และอีก 700,000 ล้านบาท คือเงินกู้สำหรับชดเชยการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินปี 2565 การกู้ทั้งหมดถ้าเกิดขึ้นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุเพดานร้อยละ 60 ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย 

    จึงเห็นว่าเป้าหมายหลักของการกู้เงินเพิ่มของรัฐบาลอาจไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด แต่เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2565 เพื่อให้หน่วยงานราชการมีเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณปี 2565  คำถามคือเราจำเป็นต้องใช้เงินและกู้เงินมากขนาดนั้นหรือไม่ เพราะจะสร้างภาระหนี้ให้กับประชาชน

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มีเป้าหมายให้รัฐบาลต้องรักษาวินัยทางการคลังตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการก่อหนี้ของรัฐบาลต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง คำนึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง (มาตรา 49) จึงให้กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 และสัดส่วนอื่นๆ (มาตรา 50) และมาตรา 9 ระบุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องรักษาวินัยตาม พ.ร.บ.นี้อย่างเคร่งครัดและไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง 

    เนื้อหาของกฎหมายจึงบังคับให้รัฐบาลต้องให้ความระมัดระวังในการกู้เงิน ดังนั้น จำเป็นที่รัฐบาลต้องศึกษาเหตุผลและความจำเป็นเป็นอย่างดี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจกู้เงินที่แสดงให้เห็นถึงความรอบคอบ การคำนึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามกฎหมาย จึงอยากแนะนำให้รัฐบาลทำสามเรื่องก่อนตัดสินใจเรื่องนี้
 
    หนึ่ง ทำและแสดงแผนการใช้เงินที่อธิบายอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้เงินกู้ไปทำอะไรอย่างละเอียด โดยแยกชัดเจนระหว่างการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจัดอันดับความสำคัญของการใช้จ่ายและอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของการใช้เงินแต่ละประเภท รวมถึงผลที่เศรษฐกิจจะได้ โดยเฉพาะในแง่ความเป็นธรรม ที่สำคัญรัฐควรต้องตัดลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ให้เหลืออยู่แต่รายจ่ายที่จำเป็นเท่านั้น แผนการใช้เงินนี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจเหตุผลของการกู้เงิน นี่คือประเด็นความรอบคอบและความคุ้มค่า
 
    สอง มีแผนงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ว่ารัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาชำระหนี้ในอนาคตและจะเพียงพอหรือไม่  โดยเฉพาะกรณีที่เศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง จะมีการปรับโครงสร้างภาษีหรือขึ้นอัตราภาษีอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าการขาดดุลการคลังจากการใช้จ่ายที่สูงขึ้นจะปรับลดลงในอนาคต และการกู้เงินไม่นำประเทศไปสู่วิกฤติด้านการคลัง นี่คือประเด็นความสามารถในการชำระหนี้และความยั่งยืน 

    สาม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินของรัฐบาลภายใต้ พ.ร.บ.โควิดที่ทำไปแล้วว่า รัฐบาลได้ใช้เงินดังกล่าวอย่างไร โดยเฉพาะเงินเยียวยาที่รัฐบาลควรเปิดรายชื่อผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาด้วยระบบดิจิทัล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและให้ประชาชนมั่นใจว่า เงินเยียวยาไปถึงมือประชาชนจริง กระจายอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ไม่รั่วไหล ไม่กระจุกตัว ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ตกหล่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนโยบายในอนาคต นี่คือประเด็นความโปร่งใสและความเป็นธรรม

    ทั้งสามเรื่องนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญให้รัฐบาลพิจารณาประกอบการตัดสินใจที่จะกู้เงิน ทำให้รัฐบาลและประชาชนจะเข้าใจชัดเจนถึงเหตุผลและความจำเป็นของสิ่งที่จะทำ ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อฐานะการคลังของประเทศที่อาจเกิดขึ้นจากการกู้เงิน และความสำคัญของการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อระดมรายได้เพื่อการชำระหนี้ในอนาคต

สิ่งเหล่านี้คือการทำนโยบายสาธารณะอย่างระมัดระวัง รอบคอบและมีเหตุมีผล ไม่ใช่อยากกู้เงินเพราะเงินไม่มี ตรงกันข้ามการไม่มีหรือไม่ใช้ข้อมูลสำคัญดังกล่าวประกอบการตัดสินใจ อาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ในกรณีการตัดสินใจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและฐานะการคลังของประเทศ.