ความเสี่ยงของเอเวอร์แกรนด์ กับตลาดตราสารหนี้

ความเสี่ยงของเอเวอร์แกรนด์ กับตลาดตราสารหนี้

เหตุการณ์เขย่าขวัญนักลงทุนในสัปดาห์ที่แล้ว หนีไม่พ้นประเด็นเรื่องของเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ส่อแววผิดนัดชำระหนี้

หลังจากยืดเยื้อมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากประสบปัญหาสภาพคล่องจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำลงอันเป็นผลมาจากภาวะการแพร่ระบาด ประกอบกับนโยบายของบริษัทที่มีการกู้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มแรงกดดันให้กับตลาดตราสารหนี้จีน ส่งผลให้ล่าสุดราคาของกลุ่มพันธบัตรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ (USD High Yield Bond) ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว  และดันผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) แตะระดับร้อยละ 14 ใกล้เคียงกับช่วง มี.ค. ปีที่แล้วที่ตลาดตราสารหนี้ได้รับแรงกดดันทั่วโลกจากประเด็นการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19

ตลาดการเงินมีการเทียบเคียงในกรณีนี้กับเหตุการณ์ของเลห์แมนบราเธอร์ส์ วาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพร์ม (Subprime) ในปี 2008 ซึ่งหากปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะส่งผลเสียรุนแรงต่อตลาดตราสารหนี้ในจีน และส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย รวมถึงอาจทำให้เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง เนื่องจากตลาดตราสารหนี้และโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจ (Default Risk) นั้นมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งเราคงต้องจับตาดูพัฒนาการและผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะย้อนมาดูความเสี่ยงที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คาดไว้ จากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ และราคาของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เรามีบทเรียนมาจากปีที่แล้ว ที่เกิดเหตุการณ์พร้อมใจกันเทขายอย่างรุนแรง (Panic Sell) ในกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศบางกอง แม้จะเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในเกณฑ์ดี ส่งผลให้กองทุนต้องประกาศชะลอการทำธุรกรรมและเลิกกองทุนในท้ายที่สุด ก่อนจะทยอยคืนเงินให้กับนักลงทุนในช่วงเวลาต่อมา

 

ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองมูลค่าของหน่วยลงทุนจากแรงเทขายปริมาณมากในระยะสั้น และรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนส่วนใหญ่

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความเสี่ยงและบทเรียนหลายๆ อย่าง ได้แก่ 1.ราคาของตราสารหนี้ก็ผันผวนในระดับสูงได้เช่นกันโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ เนื่องจากตราสารหนี้โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชนจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วในภาวะที่ขาดสภาพคล่องหรือได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) อย่างรุนแรง 2.ตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่ซื้อขายในลักษณะการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC) ทำให้ไม่สามารถรองรับแรงซื้อหรือขายในปริมาณมากได้ในเวลาอันสั้น และหากผู้ลงทุนพร้อมใจกันเทขาย ก็จะทำให้ราคาได้รับผลกระทบจากเรื่องของความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ทำให้ราคาตราสารหนี้แตกต่างจากพื้นฐานได้มาก ปัญหารุนแรงมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น  

3.กลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก เนื่องจากไม่อยากขาดทุนและรับความไม่ได้หรือได้น้อย จะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Aversion) สูงกว่านักลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ผลขาดทุนเพียงเล็กน้อย อาจส่งผล กระทบรุนแรง ดังนั้นหากเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันกับเรื่องของเอเวอร์แกรนด์ แม้จะไม่รุนแรงเท่าเหตุการณ์ของเลย์แมนบราเธอร์ แต่ความผันผวนเพียงเล็กน้อยในตลาดตราสารหนี้ ก็อาจจะเพียงพอทำให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งเราต้องทำความเข้าใจและประเมินสถานการณ์กันต่อไป

 

 


ทั้งนี้นักวิเคราะห์จากหลายๆ แห่งยังเชื่อว่าประเด็นเรื่องของเอเวอร์แกรนด์ อาจจะไม่รุกลามรุนแรงจากหลายๆ ปัจจัย เนื่องจากจำนวนธนาคารที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มาก (ประมาณ 123 แห่งจากธนาคารกว่า 4,000 แห่งในจีน) ที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันและรายบุคคลซึ่ง และผลกระทบของหนี้เสีย (Non-Performing Loan) ทั้งระบบที่อาจเพิ่มขึ้นราว 0.2% ในขณะที่ความเพียงพอของเงินสำรองกองทุนของกลุ่มธนาคารจีนน่าจะยังคงแข็งแกร่งและรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ทางเอเวอร์แกรนด์ก็มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาและสำนักงานกฏหมาย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุดผ่านการเห็นชอบจากธนาคารแล้ว รวมถึงการที่ภาครัฐอัดฉีดสภาพคล่องกว่า 9 หมื่นล้านหยวน เพื่อป้องกันปัญหาสภาพคล่องตึงตัว

ส่วนประเด็นเรื่องของความช่วยเหลือโดยตรงจากภาครัฐฯ นั้น เรายังคาดเดาได้ยาก สะท้อนจากนโยบายในช่วงที่ผ่านมาในการจัดระเบียบภาคธุรกิจต่างๆ หรือแม้หากรัฐฯ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ก็อาจจะตามมามาด้วยมาตรการที่เข้มงวดส่งผลกับธุรกิจโดยรวมในท้ายที่สุด โดยในปีที่แล้วรัฐบาลเองก็ได้มีการหารือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำต่างๆ ในการกำหนดอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมาแล้วรอบหนึ่ง

สุดท้ายนี้ บทเรียนในตลาดตราสารหนี้ในปีที่แล้ว น่าจะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของตราสารหนี้ได้มากขึ้น กับความเสี่ยงที่เรายังต้องติดตาม เราต้องเข้าใจว่าการลงทุนของเรา ตราสารหนี้ที่เราลงทุน กองทุนที่เราซื้อไว้มีการลงทุนตราสารหนี้ในลักษณะใด กลุ่มประเทศใด อุตสาหกรรมใด อันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่มใด เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนตามความเหมาะสมต่อไป เราอาจะคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเอเวอร์แกรนด์ในอนาคตได้ยาก แต่เราสามารถใช้ความเข้าใจในการดูแลการลงทุนของเราได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกกับความผันผวนที่เกิดขึ้นครับ