วิทยา ด่านธำรงกูล : ถอดชนวนระเบิดเวลา “ผู้สูงวัย” ไทย
วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันผู้สูงอายุสากล เป็นเหตุให้ต้องหยิบยกเรื่องผู้สูงอายุมาพูดถึง ในฐานะที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด (super aged society) ในอีกราว 15 ปีข้างหน้า
อีกราว 15 ปีข้างหน้า ที่จะมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 30% ของประชากร ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจะเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ หากไม่มีการเตรียมตัวให้ดี แม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่มีการเตรียมตัวอย่างดี ทั้งประชาชนมีเงิน มีการเก็บออมที่ดีแล้วก็ยังไม่วายประสบปัญหา วิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรงในญี่ปุ่นว่ากันว่าเพราะมีผู้สูงวัยจำนวนมากนั่นเอง ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูง เกิดวิกฤติในภาคสาธารณสุขที่ต้องระดมกำลังไปช่วยผู้สูงอายุ
คนหนุ่มสาวได้รับวัคซีนช้าจนการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการล็อกดาวน์หลายรอบ ยังไม่นับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซามาเกิน 20 ปีแล้ว การบริโภคภายในลดลง อสังหาริมทรัพย์ราคาตก เศรษฐกิจเข็นไม่ขึ้น เพราะการเป็นประเทศสูงวัยเบอร์หนึ่งของโลกนั่นเอง
การก้าวสู่สังคมสูงวัยไม่เพียงทำให้ผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมถดถอย ยังบั่นทอนคนทำงานที่ต้องแบกรับภาระหนักหน่วงขึ้น ในประเทศไทยตัวเลขสัดส่วนของการค้ำจุน (potential support ratio) หรือสัดส่วนคนทำงานที่ต้องช่วยกันแบกรับคนสูงวัยอยู่ที่ 7 คนต่อผู้สูงวัย 1 คนในปี 2000 แต่ตัวเลขจะลดเหลือเพียง 2.5 คนต่อผู้สูงวัย 1 คนในอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า เพราะคนสูงวัยเพิ่มขึ้นในขณะที่วัยทำงานลดลง จะเป็นภาระที่สาหัสสำหรับคนทำงาน
ประเทศไทยมีเวลาไม่มาก หากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างจริงจังจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่มีประชากรราว 24 ล้านคน และเป็นภาคที่กำลังเผชิญการสูงวัยอย่างรวดเร็ว คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้สูงวัยที่ลำบากเนื่องจากไม่อยู่ในระบบการประกันสังคม ผู้สูงวัยที่สุขภาพยังดีคงไม่มีปัญหามากนัก แต่กลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรังหรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะกลายเป็นภาระของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่มีพี่น้องช่วยกัน ไหนจะต้องทำงาน ไหนจะต้องดูแลผู้สูงอายุ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรณรงค์เชิงป้องกัน ให้ความรู้และเครื่องมือกับผู้สูงวัยที่จะรักษาสุขภาพ เพื่อยืดเวลาการป่วยหรือติดเตียงออกไปให้นานที่สุด เพราะผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ผู้ที่มีอาการสมองเสื่อม (dementia) หากต้องอยู่ในสถานรับดูแลผู้สูงอายุของเอกชน จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 30,000-50,000 บาทต่อเดือน ขึ้นกับอาการป่วย คุณภาพของสถานที่และการดูแล ราคาแบบนี้นึกภาพไม่ออกว่าลูกหลานจะแบกรับกันได้อย่างไร
สิ่งที่รัฐควรทำอย่างเร่งด่วนควบคู่กับการรณรงค์ให้ผู้สูงวัยและกำลังเริ่มสูงวัยต้องรักษาสุขภาพคือ การยืดระยะเวลาการทำงานของผู้สูงวัยออกไป ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน รัฐควรสร้างแรงจูงใจทั้งด้านภาษีและอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงานผู้สูงวัยอย่างกว้างขวางทั่วถึง ทั้งนี้การจ้างงานควรมีความยืดหยุ่น ทั้งประเภทงาน รูปแบบการจ้าง ให้สามารถจ้างงานรายชั่วโมง รายภารกิจ เพราะผู้สูงวัยอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องการทำงานเต็มเวลา
สำหรับผู้สูงอายุในชนบทโดยเฉพาะภาคเกษตร รัฐควรสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกลงไปในพื้นที่ต่างๆ และให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งการดูแลสุขภาพ การสร้างงาน และการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ทั้งนี้แนวทางเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาใช้ได้ เพื่อให้คนที่มีเวลา หรือมีทรัพยากรพอเข้ามาร่วมมือ ไม่ว่าจะในรูปจิตอาสาหรือได้รับค่าตอบแทน
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลมีแอพพลิเคชันหลากหลายออกมา ตั้งแต่เป๋าตัง หมอพร้อม ไทยชนะ ฯลฯ แอพเหล่านี้ควรกลายเป็นซูเปอร์แอพของประเทศ เพื่อให้บริการที่เข้าถึงผู้สูงวัยในอนาคต อย่างเช่นผู้สูงวัยที่มีข้อจำกัดเวลาไปโรงพยาบาล สามารถใช้แอพเพื่อให้คนที่มีเวลา มียานพาหนะอยู่ในพื้นที่พาไป เหมือนแอพเรียกรถสาธารณะที่ใช้ๆ กันอยู่ โดยรัฐเป็นผู้ร่วมจ่าย
การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่มากของประเทศ รัฐบาลและภาคเอกชนควรจับมือกันสนับสนุนการสร้างสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาผู้สูงวัยด้วย เวลา 15 ปีไม่ยาวเลย สำหรับการเตรียมการ และเป็นเรื่องที่ทุกกระทรวงต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานหรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์เท่านั้นในการถอดชนวนระเบิดเวลาลูกใหญ่นี้
ยิ่งกระทรวงกลาโหมยิ่งต้องตัดงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเอาเงินมาช่วยดูแลปัญหาผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน เพราะระเบิดลูกนี้ใหญ่โตนัก ยิ่งกว่าระเบิดในสงครามเป็นไหนๆ