ความเสี่ยงเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลังโควิด | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจาก Astana Club ซึ่งเป็นกลุ่ม Think Tank ของประเทศในเอเชียกลางให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ปีหน้า
กิจกรรมดังกล่าวเพื่อรวบรวมเป็นรายงานความเสี่ยงของประเทศในยุโรปและเอเชีย ประจำปี 2022 ซึ่งผมก็ตอบรับ เพราะเห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่จากนี้ไป รวมถึงไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จะมีข้อจำกัดมาก วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นของผมเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเป็นร้อยละ 5.9 และเป็นร้อยละ 4.9 ปีหน้า แต่ที่สำคัญคือ ไอเอ็มเอฟมองว่าความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่จะต่างกันมากคือ ระดับการผลิตในเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนโควิดได้ในปี 2024 ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ระดับการผลิตในปี 2024 จะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด
แสดงว่า เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อยห้าปีที่จะฟื้นตัวจากโควิด ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในการฟื้นตัวที่มีมาก และสำหรับเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ไอเอ็มเอฟประเมินว่าการขยายตัวจะชะลอต่อเนื่องจากร้อยละ 7.2 ปีนี้เป็นร้อยละ 6.2 ในปี 2022 และร้อยละ 5.7 ในปี 2023
คำถามคืออะไรทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่จะขยายตัวลดลง ไม่สดใสทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
คำตอบคือ ในระยะสั้น หมายถึง ช่วงที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปีนี้และปีหน้า ความท้าทายที่จะเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มีให้เห็นหลายด้าน
1. การเข้าถึงและการฉีดวัคซีนให้ประชากร การระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตาตั้งแต่ต้นปีกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มาก ขณะที่การปรับตัวด้านวัคซีนทำได้ทุลักทุเล ผลคือความรวดเร็วในการจัดหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทำได้ช้ามากเทียบกับประเทศอุตสาหกรรม คือร้อยละ 60 ของประชากรในประเทศอุตสาหกรรมได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ณ เดือนตุลาคมปีนี้ เทียบกับประมาณร้อยละ 4 ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ความแตกต่างนี้ทำให้การสยบการระบาดและฟื้นเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ทำได้จำกัดมาก ส่งผลให้การฟื้นตัวล่าช้า
2. ข้อจำกัดของพื้นที่นโยบายที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง จากที่ระดับการออมในประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ไม่สูง และรัฐบาลมีระดับหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังมากอยู่แล้ว ทำให้มีข้อจำกัดที่จะกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
3. แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกจะเร่งตัวมากขึ้นจากดิสรัปชั่นในห่วงโซ่การผลิตที่ส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาน้ำมันและราคาอาหารในเศรษฐกิจโลกปรับสูงขึ้น กระทบระดับราคาและเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตาม และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง กระทบการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
4. แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกที่จะเป็นขาขึ้นในปีหน้า เพื่อดูแลการเร่งตัวของเงินเฟ้อก็จะเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ จากต้นทุนการเงินที่จะแพงขึ้น ภาระชำระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้น และการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศที่จะกระทบสภาพคล่องและกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับสูงขึ้น กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สี่ปัจจัยนี้จะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งในปีนี้และปีหน้า รวมถึงเป็นแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ค่าเงินของประเทศที่จะอ่อนลง แนวโน้มที่ดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาน้ำมันสูง เช่น ไทย
ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามและบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง สำหรับประเทศเรา ปัญหาเงินเฟ้อและผลกระทบที่จะมีต่อค่าครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนจะเป็นโจทย์เศรษฐกิจสำคัญในปีหน้า
ในระยะปานกลาง คือสามถึงห้าปีข้างหน้า ภาวะแวดล้อมในเศรษฐกิจโลกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ดูไม่เอื้ออำนวยและอาจมีข้อจำกัด เพราะปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มาต่อเนื่องช่วง 40 ปีที่ผ่านมากำลังอ่อนแรงลงหรือกลับทาง นั่นคือ ระบบโลกาภิวัตน์ที่เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าและการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงาน การรวมตัวทางการค้าและเศรษฐกิจ และระเบียบการค้าโลกภายใต้ระบบพหุภาคี สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
แต่ปัจจุบันกลไกเหล่านี้กำลังถูกกดดันให้กลับทางหรืออ่อนแรงลงจากกระแส Deglobalization หรือโลกาภิวัตน์กลับด้าน ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนโควิด เช่น การกีดกันทางการค้าโดยภาษีของสหรัฐและถูกตอบโต้จากจีน นโยบายไม่รับแรงงานย้ายถิ่นในยุโรป และปรากฏการณ์ Brexit พอเกิดโควิด กระแสดังกล่าวก็มีพลังมากขึ้นจาก
1. นโยบายปิดประเทศของประเทศใหญ่เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ที่ไม่ให้คนนอกเข้าประเทศและสร้างความจำเป็นให้คนงานย้ายถิ่นต้องย้ายกลับประเทศ หรือนโยบายสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับประเทศตนหรือประชาชนของตนก่อน เช่น กรณีวัคซีน
2. ความต้องการของภาคธุรกิจที่จะลดความไม่แน่นอนและต้นทุนในการทำธุรกิจ จากปัญหาที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิตที่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งการผลิตถูกกระทบมากจากการระบาดของโควิด ต้องการทำให้ห่วงโซ่การผลิตสั้นลงหรือย้ายกลับเข้าประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาและการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ
3. การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนเพื่อเป็นประเทศมหาอำนาจ ทำให้ประเทศในโลกกำลังถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ทั้งในเรื่องการเมือง การทหาร เทคโนโลยีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้บั่นทอนความเป็นโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลก พร้อมกับลดความเข้มแข็งของระเบียบการค้าโลกแบบพหุภาคีในฐานะกลไกแก้ไขปัญหา ผลคือเศรษฐกิจโลกขาดเครื่องมือและภาวะผู้นำในการแก้ปัญหา
นี่คือความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่กำลังก่อตัวและจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่หลังโควิด แม้ยังไม่ชัดเจนว่ากระแสโลกาภิวัตน์กลับด้านจะรุนแรงขึ้นหรือผ่อนคลายลง ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องระมัดระวังและต้องพร้อมปรับตัวเพื่อตั้งรับกับความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ต้องเตรียมตัวเช่นกัน.